WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อีโค+โฟกัส: ระบายสต็อกข้าว ดันส่งออกพลิกบวก โจทย์หนัก..พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

   ไทยโพสต์ : 'อีโคโฟกัส'ฉบับนี้ ขอโฟกัสไปที่กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การบริหารโดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะงานหลักของกระทรวงพาณิชย์ มีตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ดูแลทั้งปัญหาปากท้องประชาชน และการค้าระหว่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่าแม้รัฐบาลจะพร่ำบอกว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น หลังปัญหาการเมืองคลี่คลาย แต่กระทรวงพาณิชย์ยังเจอทั้ง "ศึกนอก-ศึกใน" จากปัจจัยลบรอบด้านที่ยังคงกระหน่ำ

   ทำให้แผนงานที่วางไว้เดินหน้าไม่เต็มที่ ลุ่มๆ ดอนๆ ค่อนไปทางจะล้มเหลวด้วยซ้ำ

    ภารกิจหลักที่หนีไม่พ้น นั่นคือ การบริหารจัดการข้าว การส่งออก และ ปัญหาปากท้องประชาชน

    พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงการบริหารจัดการข้าวในสต็อกรัฐบาลที่มีประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งตกค้างมาจากการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลชุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า หลังจาก  คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายข้าว หรือ นบข. ซึ่ง นบข.ได้มีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง  และได้กำหนดแผนบริหารจัดการข้าวในสต็อกไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะระบายสต็อกออกไปให้เร็วที่สุด มากที่สุด เพื่อลดภาระการเก็บข้าวในโกดัง แต่จะต้องไม่กระทบต่อราคาข้าวในประเทศ

    แผนที่กำหนดไว้ คือ ให้มีการตรวจเช็กสต็อกทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าไร เมื่อทราบสต็อกที่ชัดเจนแล้ว ขออนุมัติต่อคณะกรรมการระบายข้าว เพื่อทำการระบายออก นอกจากนั้นได้ขออนุมัติไว้สำหรับการนำข้าวไปช่วยเหลือประเทศที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ และสุดท้ายคือการวางแผนบริหารจัดการข้าวทั้งระบบในอนาคต ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

    "การตรวจเช็กสต็อกข้าว ชุดที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี เป็นประธาน คาดว่าจะสรุปผลได้ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ แต่ปัญหาตอนนี้คือ พบปัญหาข้าวล้ม กระสอบข้าวแตก ไม่สามารถวัดปริมาณได้ ในส่วนที่เป็นข้าวขาวนะ ส่วนถ้าเป็นข้าวหอมมะลิก็ต้องส่งไปตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งมีมากกว่าหมื่นตัวอย่าง แต่ได้ตรวจไปเยอะแล้ว ทราบว่าขณะนี้มีประมาณ 1 พันตัวอย่าง ก็จะเสร็จแล้ว คิดว่าวันที่ 10 พ.ย. ม.ล.ปนัดดา น่าจะสรุปตัวเลขทั้งหมดได้"

     อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการระบุว่าข้าวในสต็อกรัฐบาล มีข้าวด้อยคุณภาพประมาณ 80% ข้าวคุณภาพดีประมาณ 10% ข้าวเน่า ข้าวป่น ประมาณ 5% และสูญหายราว 100,000 ตัน  ของปริมาณข้าวในสต็อกทั้งหมดราว 18 ล้านตันนั้น พล.อ.ฉัตรชัย ระบุว่า ข้าวด้อยคุณภาพ 80% นั้น ยืนยันว่าไม่ได้เน่าเสียหาย หรือขายไม่ได้เลย เพียงแค่คุณภาพด้อยลง และยังสามารถนำมาปรับปรุงคุณภาพและขายได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งระบายออกจากสต็อกในรูปแบบต่างๆ ทั้งการขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) การเปิดประมูลขายเป็นการทั่วไป รวมถึงอาจจะนำมาบริจาคเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ

     ส่วนข้าวเน่า ข้าวป่น ประมาณ 5% และข้าวที่สูญหายไป 100,000 ตัน จะต้องหาคนรับผิดชอบ

     ในส่วนของข้าวเน่า ข้าวป่น ผู้รับผิดชอบน่าจะเป็นบริษัทตรวจสอบคุณภาพ (บริษัทเซอร์เวย์) และเจ้าของโกดัง ส่วนข้าวที่สูญหายไป มีหลายส่วนต้องรับผิดชอบ ทั้งเจ้าของโกดัง เจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เจ้าหน้าที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รวมถึงเจ้าหน้าที่ของจังหวัด ที่ร่วมดูแลโกดังข้าวรัฐบาลด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน

    "ข้าวในสต็อกรัฐบาล ไม่ใช่ข้าวเสีย ข้าวเน่าทั้งหมด รวมๆ แล้วประมาณ 90% ยังดีอยู่ แต่ในจำนวนนี้มีประมาณ 80% ที่คุณภาพด้อยลงเล็กน้อย ซึ่งยังขายได้อยู่ มีตลาดรองรับแน่นอน ส่วนข้าวเน่า ข้าวป่นอีก 5% ก็ยังขายได้ เช่น นำไปทำอาหารสัตว์ เอทานอล แต่ข้าวเน่า ข้าวป่น ข้าวหาย ต้องหาคนรับผิดชอบตามกฎหมาย"

    สำหรับ การระบายข้าวในสต็อกรัฐ ณ ปัจจุบัน มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การขายจีทูจี ให้คอฟโก รัฐวิสาหกิจของจีน ที่ลงนามกันไว้ 1 ล้านตัน ซึ่งได้มีการส่งออกไปแล้ว 3 แสนตัน และส่วนที่ 2 คือการเปิดประมูลข้าวโดยกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งได้มีการเปิดประมูลไปแล้ว 3 ครั้ง

    การประมูลครั้งที่ 1 เป็นข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 นาปรัง ปีการผลิต 2555 ปีการผลิต 2555/56 (รอบ 1) และ (รอบ 2) และปีการผลิต 2556/57 ใน 7 ชนิดข้าว ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 15% ข้าวเหนียวขาว 10% ข้าวท่อนหอมมะลิ ปลายข้าวหอมมะลิ ปลายข้าวปทุมธานี และปลายข้าวขาวเอวันเลิศ ปริมาณ 167,000 ตัน

    มีผู้ร่วมประมูล 49 ราย และเมื่อวันที่ 14 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้อนุมัติผลจากการประมูลให้ทั้งสิ้น  11 ราย  ปริมาณ 73,200 ตัน มูลค่ากว่า 740 ล้านบาท

    ครั้งที่ 2 อนุมัติให้แก่ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 13 ราย ปริมาณ 72,085 ตัน คิดเป็นมูลค่า 909 ล้านบาท

    ครั้งที่ 3 เปิดประมูล 2.07 แสนตัน มีเอกชนสนใจยื่นซองเสนอราคา 37 ราย มีผู้ชนะการประมูล 18 ราย ปริมาณรวม 2.03 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1,930 ล้านบาท ซึ่งรอ รมว.พาณิชย์อนุมัติ ก่อนเสนอหัวหน้า คสช.เคาะอีกระลอก

    ขณะที่ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า การเปิดประมูลข้าวในรอบที่ 4 กำลังพิจารณาช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นช่วงเดือน พ.ย. ส่วนปริมาณและชนิดข้าวที่จะเปิดประมูล ต้องรอดูสถานการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 2557/58 ที่กำลังทยอยออกมาก่อน

   เพราะการระบายข้าวสต็อกรัฐบาลจะต้องไม่กระทบกับราคาข้าวเปลือกในตลาด ตามนโยบายของ รมว.พาณิชย์

   มีข้าวอีกจำนวนมากที่รอการระบาย และ พล.อ.ฉัตรชัย คาดว่าปีนี้การส่งออกข้าวไทยจะทำได้ถึง 11 ล้านตัน ต้องรอดูกันว่า ในจำนวนนั้นเป็นข้าวจีทูจีที่เป็นฝีมือของรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน

    หันไปที่ 'การส่งออก'กันบ้าง แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ทั้งผลัก ทั้งดัน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ถึงฝั่งฝันซะที

    ตัวเลขล่าสุดเดือน ก.ย. การส่งออกมีมูลค่า 19,912.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.19% เทียบเดือน ก.ย.2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 2 เดือน หลังจากเดือน ก.ค.และ ส.ค.ที่ผ่านมา ติดลบ 0.85% และ 7.40% ตามลำดับ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,711.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.42% ไทยขาดดุลการค้า 1,798.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

   ส่วนช่วง 9 เดือนของปี 2557 (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 170,456.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.85% การนำเข้ามีมูลค่า 171,974.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,517.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

     พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า การส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ หรือตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. กระทรวงพาณิชย์จะเร่งส่งเสริมและผลักดันการส่งออก เพื่อให้มูลค่าในแต่ละเดือนได้ประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 630,000-650,000 ล้านบาท หากเป็นไปได้ มูลค่าการส่งออกของทั้งปี 2557 จะขยายตัวเป็นบวกได้แน่นอน

      ส่วนปี 2558 ได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวไว้เบื้องต้นที่ 4% เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น นานาประเทศเชื่อมั่นรัฐบาลไทยมากขึ้น ขณะนี้ภาคเอกชนมีการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบเพื่อเตรียมผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น และไทยมีกลยุทธ์ในการบุกเจาะตลาด และเปิดตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดนมากขึ้น รวมถึงภาครัฐและเอกชนไทยร่วมกันทำตลาดมากขึ้น

     "3 เดือนที่เหลือของปีนี้ มูลค่าการส่งออกแต่ละเดือนเฉลี่ยที่ 630,000-650,000 ล้านบาท น่าจะเป็นไปได้ เพราะล่าสุดเดือน ก.ย.ได้กว่า 630,000 ล้านบาท จากเดือน ส.ค.ที่ได้ 600,000 แสดงว่าการส่งออกกำลังฟื้นตัว อีกทั้งการนำเข้าเดือน ก.ย.ก็มากขึ้นด้วย อยู่ที่กว่า 695,000 ล้านบาท หมายความว่าภาคเอกชนนำเข้าสินค้ามาผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ถ้ามูลค่า 3 เดือนได้ตามเป้าหมาย การขยายตัวทั้งปีน่าจะเป็นบวกได้" รมว.พาณิชย์ ระบุก

    กลยุทธ์ที่จะใช้ส่งเสริมและผลักดันการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะมีทั้งการรักษาตลาดเก่า และการบุกเจาะตลาดใหม่ โดยเน้นตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง รัสเซียและซีไอเอส (ประเทศที่เคยเป็นสหภาพโซเวียต) ลาตินอเมริกา และแอฟริกา โดยเน้นให้ภาคเอกชนผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น สินค้าผู้สูงอายุ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนสินค้าเกษตร ได้เน้นให้ผลิตสินค้าคุณภาพดี และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้น และเพิ่มการค้าขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บ Thaitrade.com ให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น และกว้างขวางมากขึ้น

   นอกจากนี้ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันการส่งออกเป็นรายประเทศด้วย เช่น อินเดีย ผลักดันโครงการเมืองคู่แฝด ระหว่างเมืองสุรัต รัฐคุชราต กับจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเน้นสินค้าผลไม้ ธุรกิจบริการการท่องเที่ยว

     กัมพูชา เน้นธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ และต่อยอดการส่งออกสินค้าไทยอื่นๆ ควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนด้านธุรกิจบริการโรงแรม โรงพยาบาล

    เมียนมาร์ ส่งเสริมการค้าชายแดน ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง การส่งออกวัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบริการแฟรนไชส์

    เวียดนาม มุ่งส่งเสริมสินค้าอาหารเสริม เครื่องสำอาง อาหารและร้านอาหารไทย

    อินโดนีเซีย ใช้เครือข่ายห้างเซ็นทรัล ส่งเสริมการขายและกระจายสินค้าแฟชั่นมุสลิม และใช้เครือข่ายของบริษัท SCG กระจายสินค้าอุปโภค และวัสดุก่อสร้าง ส่งเสริมธุรกิจบริการ เช่น รักษาพยาบาล และสปา โดยเจาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง เป็นต้น

   จีน เน้นกลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 200 ล้านคน เน้นส่งเสริมธุรกิจบริการร้านอาหาร โดยใช้ประโยชน์จากฐานแฟนคลับอุตสาหกรรมบันเทิง มาต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจอื่นๆ ขยายตลาดผ่านช่องทางธุรกิจออนไลน์

    ฮ่องกง ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ธุรกิจบริการ เช่น โรงเรียนสอนมวยไทยมีแนวโน้มดี เป็นต้น

    ไนจีเรีย ใช้วิกฤติเชื้ออีโบลาระบาด ขายสินค้าถุงมือยาง เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น

     "เราต้องกระจายความเสี่ยงไปตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เพราะตลาด หลัก ทั้งสหรัฐและยุโรป เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ตลาดใหม่ๆ อย่างอาเซียน อินเดีย ตะวันออกกลาง เศรษฐกิจยังดีอยู่ อย่างบาห์เรน ตอนนี้บริษัท ซี.พี. สามารถเจรจาขายข้าวได้แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ซี.พี.ส่งออกข้าวไปขายที่นี่ และในอนาคตก็มีโอกาสขายสินค้าอื่นๆ ของไทยได้มากขึ้น ส่วนตลาดเก่าก็ยังให้ความสนใจอยู่ ทิ้งไม่ได้" พล.อ.ฉัตรชัย ระบุต้องลุ้นกันล่ะว่า ศึกรอบทิศแบบนี้ กระทรวงพาณิชย์จะกระอักหรือไม่.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!