WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปรับทัศนคติมองอินเดียด้านบวก เพิ่มโอกาสความสำเร็จเจาะตลาดอินเดีย
CP :: คุยกับซี.พี

        อินเดียเป็นดินแดนที่นักลงทุนทั่วโลกใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำธุรกิจ เพราะถูกจัดให้เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5% ต่อปี มีขนาดเป็นอันดับ 10 ของโลก การบริโภคขยายตัวสูงจากประชากรกว่า 1,200 ล้านคน ทุกๆ ปีจะมีประชากรเกิดใหม่ 1.6% หรือ 30 ล้านคน เทียบเท่ากับประชากรของออสเตรเลียทั้งประเทศ คาดว่าปี 2020 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เรียกกว่า BRIC COUNTRY ที่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน รวมกันจะมีขนาดตลาดมากกว่า 50% ของโลก ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเก่าอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในช่วงอิ่มตัว ทำให้อัตราการบริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง

      การเมืองที่มั่นคงถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของอินเดีย หลังจากนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ชนะเลือกตั้งถล่มทลายได้เป็นรัฐบาลพรรคการเมืองเดียว พร้อมเปิดแคมเปญ Make In India เพื่อผลักดันให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก (Manufacturing Hub) เปลี่ยนภาพรัฐบาลจาก “ผู้อนุญาต” เป็น “ผู้สนับสนุน” ให้กับนักลงทุน มีการแก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยากซับซ้อน และตั้ง Special Cell ทำหน้าที่ปรึกษาและตอบคำถามนักลงทุนภายใน 72 ชั่วโมง

      ความท้าทายในการทำธุรกิจในอินเดียเป็นเรื่องกฎหมายของ 28 รัฐปกครองที่ไม่เหมือนกัน มีระบบภาษี และภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกัน 5 อัตรา รวมทั้งความแข็งแกร่งของสหภาพแรงงาน หากไม่เข้าใจพื้นฐานของอินเดีย จะประสบปัญหาในการทำธุรกิจ อย่างแบรนด์ดังๆ ระดับโลก ก็ไม่สามารถเจาะตลาดอินเดียได้ เพราะคนอินเดียเป็นคนประหยัด และไม่ชอบสินค้าราคาแพง อย่างรถยนต์จะนิยมขับคันเล็กๆ ประหยัดน้ำมัน ซึ่งการลงทุนในอินเดียไม่สามารถนำโมเดลจากประเทศใดประเทศหนึ่งไปใช้ได้ จะต้องวิเคราะห์ตลาดแบบ “คิดเยอะ คิดแล้ว คิดอีก” จึงจะประสบผลสำเร็จ 

      จุดเริ่มต้นของธุรกิจ ซี.พี. ในอินเดีย เริ่มตั้งแต่ปี 1991 คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี พี.วี.นาราซิมหะ ราว ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งที่เมืองเจนไนปี 1993 ช่วงนั้น ซี.พี. ได้นำแนวคิดและนวัตกรรมเข้าไปเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติของคนอินเดียจาก 4-5 ตัวต่อตารางเมตร เพิ่มเป็น 40 ตัวต่อตารางเมตร ขณะที่ไทยเลี้ยงได้ 70 ตัวต่อตารางเมตร ก่อนที่จะมีการสร้างโรงงานผลิตอาหารกุ้งในปี 1996 และเริ่มธุรกิจสัตว์บกด้วยการส่งเสริมเลี้ยงไก่ในปี 1997 และเข้าไปทำธุรกิจไก่ห้าดาวปี 2012 

     เคล็ดลับความสำเร็จของ ซี.พี.ในอินเดียก็คือ ปรัชญา 3 ประโยชน์ เพราะการทำธุรกิจของ ซี.พี. ทำให้ประเทศอินเดียได้ประโยชน์ ชาวอินเดียได้ประโยชน์ จากนั้น ซี.พี.จึงจะได้ประโยชน์ ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคม ก็มีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และจัดอุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับคนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยมีผู้บริหาร ซี.พี.อินเดีย ลงไปดูแลคนในชุมชนรอบๆ โรงงานเป็นประจำ ทำให้ภาพลักษณ์ของ ซี.พี. ในสายตาคนอินดียอยู่ในระดับดีมาก หากใครมีลูกหลานได้ทำงานในโรงงานของ ซี.พี.จะถือเป็นหน้าเป็นตาให้กับพ่อแม่

      “การลงทุนในอินเดียไม่ใช่เรื่องง่าย แต่โอกาสเปิดกว้างสำหรับทุกคน เพียงแต่ต้องเปลี่ยน Mindset และปรับทัศนคติที่มีต่อคนอินเดียในด้านลบออกไป ก็จะทำให้ประสบผลสำเร็จได้ไม่ยากเช่นกัน”

ที่มา : “ซี.พี.วิวัฒน์ On Stage” หัวข้อ “อินเดีย : เศรษฐกิจโลกใหม่-โอกาสและความท้าทายของ ซี.พี.” วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ฟอร์จูน

โดย นายขวัญชัย ชัยเปรม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!