WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ซีพี-ไทยเบฟฯ และเซ็นทรัล 3 อาณาจักรธุรกิจผู้กุมเศรษฐกิจของเมืองไทย

   ไทยโพสต์ : แม้ว่า สภาพของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยตลอดปีม้าที่ผ่านมา จะไม่คึกคักเท่าที่ควร หรือยังคงมีการขยายตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ เพราะปัจจัยและปัญหาทางการเมืองที่ไม่มั่นคง ทำให้บั่นทอนสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แต่ในที่สุดปัญหาทุกอย่างก็จบลงไปด้วยดี แต่ทว่าในธุรกิจของภาคเอกชนต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า หลายเรื่องประเมินกันคลาดเคลื่อนไป เพราะในตอนนี้ดูเหมือนหลายผู้ประกอบการต่างยังโอดครวญด้วยเพราะยอดขายที่ยังนิ่งสนิท แม้ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลระยะยาวก็ตาม

    หากจะเอ่ยถึงกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจในเมืองไทยที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ จนเรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ หรือมีอำนาจทางการตลาดเหลือล้น คงหนีไม่พ้น 3 อาณาจักรเหล่านี้ ได้แก่ "เครือเจริญโภคภัณฑ์" หรือ ซีพี ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ตามต่อมาด้วย "ไทยเบฟเวอเรจ" ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี  และ "กลุ่มเซ็นทรัล" โดยมีนายทศ จิราธิวัฒน์ เป็นทัพหน้าในการคุมบังเหียนธุรกิจในเครือทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะมีธุรกิจที่มีความโดดเด่นของตัวเองที่แตกต่างกันระดับหนึ่ง แต่กระนั้นก็แทบจะครอบคลุมกิจวัตรประจำวันของเหล่าบรรดาชาวไทยกันไปแล้ว และดูเหมือนว่าด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ในแต่ละด้าน พร้อมกับรายได้ในแต่ละปีอันมหาศาล และการติดอันดับความร่ำรวยเป็นเศรษฐีของเมืองไทย จึงทำให้ทั้ง 3 ค่ายมีรายชื่ออยู่ในกระแสข่าวของการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจโดยบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม

   'เครือเจริญโภคภัณฑ์'ได้สร้างความคึกคักและความเคลื่อนไหวในแวดวงของธุรกิจค้าปลีกในช่วงปลายปีเป็นอย่างมาก การลือสะพัดกรณีการเข้าซื้อกิจการเทสโก้  โลตัส ในเมืองไทยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำให้ระดับบิ๊กอย่างเจ้าสัวถึงกับต้องออกมาชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งการออกมาแถลงไขของซีพีครั้งนี้ ก็มิได้ปฏิเสธถึงการซื้อขายกิจการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยหากเทสโก้ โลตัส ประกาศขายกิจการในประเทศไทยจริง เจ้าสัวออกตัวแรงนำหน้าเศรษฐีรายอื่นไว้ก่อนเลยว่า พร้อมซื้อลูกรักกลับคืนมาอย่างแน่นอน หลังจากที่ต้องขายของดีในช่วงเกิดวิกฤติปี 2540 ไปอย่างจำใจ

   สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลว่า หากซีพีได้เป็นเจ้าของเทสโก้ โลตัส ของเมืองไทยอีกครั้ง อาจทำให้มีอำนาจเหนือตลาดและมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นอย่างห่างไกล เพราะในทุกวันนี้ธุรกิจค้าปลีกที่อยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็มีร้านค้าสะดวกซื้อ "เซเว่น อีเลฟเว่น" รายได้ในแต่ละปีก็แตะ 2.17 แสนล้านต่อปีแล้ว รวมถึงการขยายสาขาก็เรียกได้ว่าออกไปตามทุกมุมของเมืองไทยแล้วก็ว่าได้ และด้วยปริมาณของสาขาที่มหาศาลนี้เอง ทำให้ในแต่ละวันมีผู้ประกอบการแทบจะนับไม่ถ้วน เดินหน้าเข้าไปเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อจะนำมาขายผ่านช่องทางร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กันอย่างไม่หยุดหย่อน ในขณะเดียวกันที่ผ่านมา บมจ.ซีพี ออลล์  ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ก็ได้ใช้เงินกว่า 80,000 ล้านบาท ในการเข้าซื้อกิจการของ บมจ.แม็คโคร มาแล้ว เรียกได้ว่าซีพีได้ครอบครองทั้งธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกไว้ในกำมือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หนี้ที่ยังคงอยู่จำนวนนั้นการที่ซีพีจะเข้าซื้อกิจการก็คงจะคิดหนักสักหน่อย

   ปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยยังมีธุรกิจในเครือข่ายอีกมากมายที่ได้เติบโตขึ้นตามลำดับ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร 2.กลุ่มโทรคมนาคมและมัลติมีเดีย 3.กลุ่มธุรกิจ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่กำลังเติบโตไปได้สวย แต่ในความเป็นจริงแล้วซีพีเกิดขึ้นมาจากการทำสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถครอบครองการบริโภคตลาดในเมืองไทยเท่านั้น แต่อาณาจักรแห่งนี้ได้แผ่ขยายไปยังทั่วโลกอีกด้วย ด้วยระยะเวลาการทำธุรกิจมายาวนานถึง 93 ปี ตอนนี้เจ้าสัวธนินท์ได้แผ่อาณาจักรด้วยการลงทุนใน 16 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย รัสเซีย ตุรกี สิงคโปร์ ไต้หวัน พม่า บังกลาเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา และปากีสถาน โดยยังมีบริษัทในเครือประมาณ 200 แห่งทั่วโลก พนักงานราว 300,000 คน และมีรายได้ประมาณปีละ 1.3 ล้านล้านบาท

    ด้าน'ไทยเบฟเวอเรจ'ผู้นำตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทยทั้งที่เป็นธุรกิจแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ โดยปี 2556 ไทยเบฟฯ มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 155,000 ล้านบาท ด้วยวิสัยทัศน์ของเจเนอเรชั่นรุ่นที่ 2 ของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี วางเกมให้ไทยเบฟฯ ต้องสามารถเติบโตได้ด้วย 5 กลยุทธ์หลัก และมีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ขึ้นเป็นกว่า 50% ของรายได้รวมทั้งหมด จากการลงทุนในแต่ละปีที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ยาวต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลา 6 ปี หรือต้องใช้เงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท และจุดเริ่มต้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเครื่องดื่มเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา โดยไทยเบฟฯ ได้ทำการเข้าซื้อหุ้นใน F&N ของสิงคโปร์ ด้วยการถือหุ้นประมาณร้อยละ 28.6 และนี่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการนำสินค้าขยายตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มระดับภูมิภาคตามเป้าหมายที่วางไว้

    ในตลาดเครื่องดื่ม เชื่อได้ว่ากลุ่มผู้บริโภคคงได้เคยมีโอกาสสัมผัสกับสินค้าที่อยู่ในเครือไทยเบฟฯ กันแทบทั้งสิ้น เพราะแบรนด์ที่อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ของไทยเบฟเวอเรจ ก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในตลาดกันเป็นอย่างดี ได้แก่ น้ำดื่มช้าง, โซดาช้าง, เอส, น้ำดื่มคริสตัล, โซดาคริสตัล, เครื่องดื่มเกลือแร่พาวเวอร์พลัส, เครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์, โออิชิ กรีนที, โออิชิ ชาคูลล์ซ่า, โออิชิ ฟรุตโตะ อะมิโน โอเค พลัส หรือแม้แต่ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นก็มี "โออิชิ" เป็นผู้นำกับแบรนด์ที่ทำตลาดอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ โออิชิ แกรนด์, โออิชิ บุฟเฟ่ต์, โออิชิ ราเมน, ชาบูชิ และนิกุยะ เจแปนนิส บาร์บีคิว บุฟเฟ่ต์

   นอกจากนี้ ไม่เพียงแค่ธุรกิจที่ไม่มีแอลกอฮอล์เท่านั้น ที่ทางไทยเบฟฯ สามารถเติบโตและสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจที่สามารถสร้างความมั่งคงให้กับไทยเบฟฯ มาตั้งแต่แรกเริ่มคือ ธุรกิจสุราหรือแอลกอฮอล์ โดยในตอนนี้ก็มีธุรกิจเบียร์ในแบรนด์เบียร์ช้าง เบียร์อาชา และเบียร์เฟดเดอร์บรอย ที่ผลิตภายใต้การดำเนินการของ บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน), บริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด และ บริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์สุราสี, สุราขาว และสุราชนิดอื่นๆ อีกด้วย จะเห็นได้ว่าแค่แบรนด์ในตลาดเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคชาวไทยต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมไทยเบฟเวอเรจจึงเป็นเจ้าแห่งเครื่องดื่มทั้งในส่วนที่เป็นแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ ก็เพราะด้วยการขยายพอร์ตบวกกับสินค้าที่หลากหลายและสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเข้าถึงลูกค้าก็เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์อันสำคัญที่ทางทายาทรุ่น 2 ได้ให้ความสำคัญ เพื่อตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มของเมืองไทยอีกด้วย

    อีกหนึ่งสายธุรกิจที่เหมือน "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" มีความสนใจและต้องการจะขยายเพิ่มเข้ามาในอาณาจักรของตนเอง คงหนีไม่พ้นธุรกิจศูนย์การค้าและค้าปลีก โดยก่อนหน้านี้ "เจริญ" ได้ให้บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ที่ดูแลธุรกิจค้าปลีก แต่ทว่าความสำเร็จคงเกิดขึ้นค่อนข้างยากไปสักหน่อย จะด้วยความชำนาญการที่ยังมีน้อยจึงทำให้ธุรกิจไม่บรรลุหรือจะเหตุผลใดก็ตาม ดูเหมือนว่าธุรกิจค้าปลีกของราชาที่ดินจะยังเดินเกมได้ไม่สวยเท่าไหร่นัก โดยที่ผ่านมาเจ้าสัวได้มีการเสนอตัวเข้าประมูลซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทยและการขายกิจการค้าส่งของแม็คโครมาแล้ว แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไม่สามารถประมูลกิจการเหล่านี้มาได้ แต่ทว่าสัญญาณของความสนใจไม่ได้หมดหวังตามผลการประมูลแต่อย่างใด จึงทำให้มีกระแสข่าวออกมาว่า "เจริญ" ก็มีความสนใจการเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส ไปไม่น้อยกว่าเจ้าสัวแห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์เลยแม้แต่น้อย แต่ทั้งนี้ ทางไทยเบฟเวอเรจเองก็เพิ่งที่จะเข้าไปซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็นของประเทศสิงคโปร์ รวมถึงการซื้อกิจการห้างเมโทรที่ประเทศเวียดนามมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทมาก่อนหน้านี้แล้ว ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นปัญหาให้กับไทยเบฟเวอเรจก็เป็นได้       

   สำหรับ การทำธุรกิจค้าปลีกของ "เจริญ" ในขณะนี้ ได้มอบหมายให้ "บริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด" เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจรีเทลอย่างเป็นทางการแล้ว จากในอดีตที่ผ่านมาบริษัทนี้ได้เคยสร้างความสำเร็จให้กับศูนย์การค้าไอที "พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า" มาแล้ว รวมถึงยังเป็นผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้าท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ครบวงจรที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ ฟรอนท์ ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนี้อีกด้วย สำหรับโครงสร้างกลุ่มรีเทลจากเดิมมีอยู่ด้วยกัน 6 กลุ่ม ขณะนี้ได้มีการปรับโครงสร้างให้เหลือเพียง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดูแลพันธุ์ทิพย์ ตะวันนา ไอทีซิตี้ฯ และกลุ่มที่ดูแลเอเชียทีค-เกทเวย์ โดยแผนการดำเนินธุรกิจช่วงระยะเวลา 5 ปี (2558-2562) ของทีซีซี แลนด์ จะทำการปรับปรุงเอเชียทีคและเกทเวย์ พร้อมกับการขยายโครงการสองแบรนด์นี้ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เบื้องต้นคาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 12,000 หมื่นล้านบาท

    ความได้เปรียบของ "เจ้าสัวเจริญ" กับฉายาราชาที่ดินประเทศไทย แน่นอนว่ายังคงมีที่ดินในมืออีกนับแสนไร่ในเมืองไทยที่สามารถยกให้ทีซีซี แลนด์ นำมาต่อยอดและพัฒนาเป็นโครงการ เพื่อขยายอาณาจักรของตัวเองด้วยการสร้างศูนย์การค้าหรือจะขยายไปสู่ธุรกิจค้าปลีกได้ไม่ยาก คงต้องรอผลพิสูจน์กันต่อไปว่าหากได้มีการปรับทีมผู้บริหารที่มีความชำนาญเข้ามาเป็นตัวช่วยแล้ว ธุรกิจค้าปลีกของ "เจริญ" จะยังสามารถเป็นหมากอีกหนึ่งตัวที่รุกหน้าเดินต่อได้หรือไม่ นอกเหนือจากความสำเร็จในการเป็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มที่ผ่านมาไปแล้ว

    'กลุ่มเซ็นทรัล'จะเรียกได้ว่าเป็นผู้ดำเนินธุรกิจที่สามารถ ขยายศูนย์การค้าหรือพัฒนาโครงการบนทำเลทองได้อย่างต่อ เนื่อง หรือจะเปรียบได้ว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่มีอาณาจักรเป็นศูนย์การ ค้าในเมืองไทยมากที่สุดก็ว่าได้ ในปี 2557 เซ็นทรัลได้เกิดการเปลี่ยน แปลงหลักๆ อยู่ด้วยกัน  3 ส่วน คือ 1.การเปลี่ยนแปลงคณะกรรม การ 2.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร 3.การเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารระดับสูง โดยทางกลุ่มเซ็นทรัลยังได้ทำการปรับองค์กรเพื่อก้าวสู่การเป็นกลุ่มค้าปลีกให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจค้า ปลีกเดิม ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) จะถูกแยกออกเป็น 8 กลุ่ม มีดังนี้ 1.กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า 2.กลุ่ม ธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค 3.กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า 4.กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ 5.กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ 6.กลุ่ม ธุรกิจบริการและจัดการสินค้านำเข้า 7.กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต 8.กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โดยภายหลังจากที่ปรับธุรกิจครั้งนี้แล้ว ในปี 2557 ได้ตั้งเป้าหมายของรายได้ไว้กว่า 267,000 ล้านบาท แต่ด้วยปัจจัยลบรอบด้านที่ผ่านมานั้น"กลุ่มเซ็นทรัล" ก็ไม่อาจต้านทานได้เช่นกัน และดูเหมือนว่าจะไม่สามารถเติบโตได้ที่ 14% ตามเป้าหมายที่วางไว้

    อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า 'เซ็นทรัล' จะชำนาญเรื่องของการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นศูนย์การค้ายอดนิยมแก่ผู้บริโภค สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มค้าปลีกในปี 2557 ที่ผ่านมา ก็ได้เปิดโครงการใหม่ด้วยการเปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลด้วยกัน 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล เฟสติวัล สมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ เซ็นทรัล พลาซ่า ศาลายา จังหวัดนครปฐม รวมไปถึงศูนย์การค้า เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ใช้เงินลงทุนในโครงการมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทด้วย ทัพหน้าที่เป็นแรงสำคัญในการสรรหาทำเลเพื่อสร้างศูนย์การค้าของกลุ่มเซ็นทรัลคงหนีไม่พ้น "เซ็นทรัลพัฒนา" (CPN) โดยงบของการขยายศูนย์การค้าในแต่ละปีอยู่ที่ 15,000-16,000 ล้านบาท โดยในขณะนี้ทางเซ็นทรัลมองว่าทำเลที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นศูนย์การค้ายังมีพื้นที่มากกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ หากต้องขยายตามจำนวนดังกล่าวจริง กลุ่มเซ็นทรัลคงต้องใช้งบอีกกว่า 1.5 แสนล้านบาท และด้วยหยิบจับทำเลไหนในเมืองไทย ก็ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จไปเสียหมด แม้ว่าจะไม่มีที่ดินไว้ในครอบครองเท่ากับเจ้าสัวไทยเบฟฯ ก็ตาม แต่เซ็นทรัลก็สามารถพัฒนาที่ดินจนกลายเป็นผู้นำด้านศูนย์การค้ามาได้ การเข้าซื้อกิจการเพื่อการเติบโต ก็เป็นนโยบายในการขยายธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีรายชื่อติดโผของผู้ที่สนใจเข้าซื้อกิจการในเทสโก้ โลตัส ของเมืองไทย

   กลุ่มธุรกิจครอบครัวทั้ง 3 อาณาจักร อันประกอบด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์, ไทยเบฟเวอเรจ และกลุ่มเซ็นทรัล ต่างก็พากันเดินหน้าขยายธุรกิจกันอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละเครือก็ได้สร้างความแตกต่างในการทำธุรกิจให้กับตัวเอง เพื่อลดการเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่มีความแข็งแรงในแต่ละด้านอยู่แล้ว แต่เมื่อกรณีของกระแสการเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยได้เกิดขึ้น ปัญหาความหวั่นวิตกเรื่องของ "อำนาจผูกขาด" ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ภายใต้คำถามที่ว่า หากดีลเกิดขึ้นกับเครือยักษ์ใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำและแทบจะครอบครองตลาดในแต่ละด้านอยู่แล้วเกิดขึ้น จะทำให้บิ๊กเหล่านั้นมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้หรือไม่ และตัวบทกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องการผูกขาดตลาดขณะนี้มีความชัดเจนมากน้อยเพียงไร ที่จะเข้ามาดูแลไม่ให้เกิดเผด็จการทางการค้าหรือการมีอำนาจสิทธิของการทำธุรกิจมากจนเกินไป 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!