WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 14:24 น.  ข่าวสดออนไลน์     

 

ภารกิจ'บัวแก้ว' 2015 เมื่อ'ประชาคมอาเซียน'มาถึง

สุจิตรา ธนะเศวตร

   งานเฉลิมฉลองปีใหม่ 2015 กำลังจะสิ้นสุดลงโดยมีภารกิจมากมายที่รออยู่ข้างหน้า สำหรับ "กิจการต่างประเทศ" กระทรวงบัวแก้วย่อมต้องรับบทหนักและบทแนวหน้าในการ เตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนที่จะมาถึงในปีนี้ โดยมีดีเดย์ อยู่ที่วันสุดท้ายของปี 31 ธันวาคม 2015

   โอกาสนี้ น.ส.ภาสพร สังฆสุบรรณ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงแผนงานรองรับการ เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในภาพรวม โดยเน้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี

บทบาท'บัวแก้ว'ขับเคลื่อนไทยสู่เออีซี

    กระทรวง การต่างประเทศในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติตามกฎบัตรอาเซียน ทำหน้าที่ประสานงาน และบูรณาการทั้ง 3 เสาหลัก ประกอบด้วย เสาการเมือง และความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคม-วัฒนธรรม ขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

   กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ทั้ง 3 เสาจะเข้าสู่ คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

    อย่างแรกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ สร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างเสมอภาค การบูรณาการเศรษฐกิจอาเซียนเข้าสู่เศรษฐกิจโลก จากเป้าหมายดังกล่าวปรากฏเป็นแผนงานครอบคลุมทั้ง 4 ด้านข้างต้น

    แผนงานอาเซียนจะสิ้นสุดลงปีหน้า แต่ประชาคมอาเซียน ยังทำงานต่อไป ต้องการให้ 4 ด้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายประเทศยังมีเครื่องหมายคำถามว่าจะเป็นประชาคมได้อย่างไรในเมื่อประชาชน ยังไม่เห็นประโยชน์

ถึงตอนนี้มีความท้าทายอะไรบ้าง

    ความท้าทายเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี-เอ็นบีที จากทั้งอาเซียนด้วยกันเองและจากโลก เราจะลดปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร 2) จะสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมขนาดกลาง-เล็ก หรือ เอสเอ็มอีได้อย่างไร ขณะนี้แม้ว่า 10 ชาติอาเซียนใช้ประโยชน์จากตลาดอาเซียนอยู่ และเตรียมขยายสู่ตลาดโลก แต่เอสเอ็มอี ยังไม่ได้ประโยชน์จากตลาดอาเซียนมากนัก

  3) ปรับกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และทำให้โลกยอมรับได้อย่างไร อย่างไทยโดยหน่วยราชการต่างๆ ต้องปรับกฎระเบียบให้ทันตามกฎหมายที่ไทยมีอยู่ ยกตัวอย่าง เรื่อง การจัดการบริหารชายแดน มีกรมศุลกากรเป็นศูนย์ประสานงาน - Focal Point และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 20 หน่วยงาน ทำอย่างไรให้เป็นการบริการครบวงจรในจุดเดียว - one stop service โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำงาน การจะทำดังนั้นได้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ต้องปรับกฎระเบียบภายในของตนเองเข้าหากัน

   เช่น มีรถบรรทุกสินค้าเกษตรจากสปป.ลาวผ่านชายแดนไทยเพื่อไปมาเลเซีย อย่างแรกต้องตรวจสอบเจ้าของรถมีใบอนุญาตนำเข้าสินค้าหรือไม่ โดยบันทึกข้อมูล ใบอนุญาตสู่ระบบไอที หากมีใบอนุญาต

   จากนั้นให้ดูสินค้าที่นำเข้าว่าเป็นสินค้าที่อนุญาตให้นำเข้าได้หรือไม่ หากอนุญาต แล้วจึงดูประเภทสินค้าว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด

    ทั้งหมดนี้ ทำโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ พอผ่านไทยแล้ว ถึงมาเลเซีย มาเลเซีย ก็จะทำเหมือนกับไทย

    ด้าน ประโยชน์ของ one stop service คือ ช่วยทุ่นเวลา ซึ่งจากเดิมใช้เวลา กว่า 1 สัปดาห์ เหลือเพียง 1 วัน ลดค่า ใช้จ่ายทั้งรัฐและเอกชน ลดการใช้บุคลากร ทุ่นการตรวจสอบของหน่วยงานทั้ง 20 หน่วยงาน

แผนรับเออีซีมีอะไรบ้าง

    แผนงานของกระทรวงการต่างประเทศแบ่งเป็น แผนระยะสั้น กลาง และยาว รองรับความท้าทายข้างต้น คล้องจองกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ แผนระยะสั้นทำมาได้ 2 ปีแล้ว นั่นคือ สร้างความตระหนักรู้เรื่องประชาคมอาเซียนกับประชาชน ส่วนแผนระยะกลาง โดยกรมอาเซียน ร่วมกับกรมสารนิเทศ นำประโยชน์ของประชาคมอาเซียนสู่ประชาชน ประชาชนทราบแต่ยังไม่เข้าใจว่าประชาคมอาเซียนนำประโยชน์ให้ตนเองอย่างไร

    เมื่อเข้าใจประโยชน์แล้ว นำไปสู่การปรับตัว โดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้เท่าทันโลก ยอมรับว่ามีความท้าทาย เพราะเอสเอ็มอีมองว่าตนยังค้าขาย กับลูกค้าท้องถิ่นได้อยู่ ดังนั้นจึงอาจยัง ไม่เห็นประโยชน์จากตลาดอาเซียน หรือ ตลาดโลก ตรงนี้เราต้องทำให้เอสเอ็มอีตระหนักรู้และเห็นโอกาส

   ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนแนวทาง การดำเนินงานโครงการอาเซียนสัญจร เมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากเดิม ลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ จัดกิจกรรมสัมมนา โรดโชว์ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชน เปลี่ยนเป็นจัดคลินิกชุมชน โดยใช้วิธีคล้ายบริษัทเอกชนมากขึ้น เปรียบประชาชนเป็นลูกค้า ทำตามความต้องการของประชาชนมากขึ้น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

   มีการลงพื้นที่ดูงานความรับผิดชอบ ต่อสังคมของธุรกิจ-ซีเอสอาร์ของเอกชน ลงพื้นที่ในระดับย่อยลงมา เช่น ชุมชน ทอผ้า ซึ่งก็คือมีลักษณะปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับประชาชนมากขึ้นนั่นเอง โดยเริ่มจัด ปีหน้า อีกวิธีหนึ่งคือให้บริษัทขนาดใหญ่ช่วยเอสเอ็มอีผ่านทางโครงการซีเอสอาร์ของ บริษัท

   สุดท้ายแผนระยะยาว คือ การจัดการกับปัญหาความท้าทายของอาเซียนและของโลก อย่างการรับมือกับภัยคุกคาม รูปแบบใหม่ เช่น ปัญหาโรคระบาด ภัยพิบัติ ซึ่งอาเซียนให้ความสำคัญลำดับแรกๆ แต่ปัจจุบันอาเซียนยังรับมือปัญหาต่างๆ ในขอบเขตของตนอยู่ ยังอุ้ยอ้าย

    ภายในปี พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) อาเซียนใช้ระบบโทรคมนาคมในการทำงาน พัฒนาเทเลคอนเฟอเรนซ์ หรือการประชุมทางไกลมากขึ้น กดปุ่มแล้วประชุมได้เลย ไม่ต้องเดินทางมาประชุมระดับรัฐมนตรี อีกอย่างต้องให้อำนาจแก่เลขาธิการอาเซียนในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้ มากขึ้น ปัจจุบันใช้สายด่วนปรึกษา แนวทางการจัดการปัญหากับรัฐมนตรีของอาเซียน แต่ยังอุ้ยอ้าย

    ขณะนี้ อยู่ระหว่างพูดคุยเรื่องการเพิ่มอำนาจเลขาธิการอาเซียน เป็นตัวเร่ง ให้อาเซียนทำงานเร็ว มีประสิทธิภาพ เข้มแข็งมากขึ้น แก้ปัญหาความอุ้ยอ้าย ที่เกิดจากหลักฉันทามติของอาเซียนเอง

    ตัวประชาคมอาเซียนเป็นตัวเร่งให้เราต้องเร่งทำงานมากขึ้น ทุกคนคาดหวัง ตัวประชาคมอาเซียนและอาเซียนคาดหวัง ต่อคนอื่นด้วย

ไทยพร้อมแค่ไหน

     ไทย มีความพร้อมในระดับสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพราะการหารือในส่วนความร่วมมืออาเซียน เราใช้มาตรฐานกฎระเบียบที่เรามีอยู่แล้ว ต้องเตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอี ปรับกฎระเบียบของหน่วยงานรัฐไทย ในสามเสาในทุกสาขา ให้เท่าทันกับกฎหมายไทย เนื่องจากบางหน่วยงาน ใช้กฎระเบียบที่เก่าประมาณสัก 10-30 ปีที่แล้ว หากไม่ปรับเข้าหากันจะทำให้ ขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนได้ยาก

  หลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไทยจะเปลี่ยน แปลงไปอย่างไร

   ประเทศไทยไม่ถึงกับเปลี่ยนผกผัน ไปเลย ที่สำคัญเราต้องเปลี่ยนหัวคิด หรือ mindset ต้องมองไกลมากยิ่งขึ้นนับจากนี้ไป 10-20 ปี ต้องสร้างแผนรองรับให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของแรงงาน คน ตรงนี้อาเซียนยังไม่เป็นระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ

   อย่างเช่นวิสัยทัศน์หลังปี 2558 ยังมีความท้าทายเรื่องการบริหารจัดการประเด็น ที่เกี่ยวโยงทั้งสามเสา - cross cutting เนื่องจากการดำเนินงานของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อยากให้มองภาพรวม เช่น ประเด็นเรื่องแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้งเสาเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง สังคม-วัฒนธรรม ขณะนี้อาเซียนกำลังคุยกันอยู่ว่าจะบูรณาการประเด็นแรงงานภายใต้สามเสาอย่าง ไร อาจสร้างกลไกให้มี หน่วยงานดูแลรับผิดชอบอย่างชัดเจน

ประเด็นอัตลักษณ์ที่ท้าทายประชาคมอาเซียน

    ใช่ยอมรับว่า ท้าทาย ก่อนเป็นประชาคมอาเซียน ต้องสร้างอัตลักษณ์ตามกฎบัตรอาเซียน มีประวัติศาสตร์ 10 อย่าง วัฒนธรรมหลากหลาย ตอนนี้เรามีสัญลักษณ์อาเซียน เพลงอาเซียนแล้ว ต่อไปเมื่อเป็นประชาคมอาเซียนต้องมีประชาชนอาเซียน สมัยก่อนคนนอกภูมิภาคเป็นคนขีดชะตาชีวิตประชาชนอาเซียน แต่ตอนนี้ประชาชนอาเซียนต้องขีดชะตาชีวิตของตนเอง อาเซียนต้องทำให้เป็นระบบจะได้พัฒนาไปได้ไกล

    แม้ว่า จะตระหนักรู้ว่าไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วในปลายปีหน้า อยากให้ลดความตระหนก จริงๆ แล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีประโยชน์กับประเทศไทย คนไทยทุกคน เพียงแต่เราจะหาประโยชน์จากเออีซีอย่างไร…

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!