WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ประเทศไทยกับโอกาสการเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารที่สำคัญของโลก
คุยกับซี.พี

    อีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน เมื่อคนเพิ่มความต้องการอาหารก็มีเพิ่มขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะประเทศไทยนอกจากจะสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้หลากหลายแล้วยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยนำความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาเสริมใน supply chain

    การจะพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปเป็นศูนย์กลางการเกษตรนานาชาตินั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่เราจะคิดแค่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้ แต่ต้องคิดถึงการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก เพราะการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกโดยเฉพาะอาหารนั้นมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย มีข้อกีดกันทางการค้าหลายเรื่อง เช่น โควตาภาษี ดังนั้น วันนี้เมื่อหันมาดูอุตสาหกรรมเกษตรในบ้านเราแล้วหันกลับไปมองเป้าหมายการก้าวไปเป็นศูนย์กลางการเกษตรนานาชาติสำหรับประเทศไทยอาจจะดูกว้างเกินไป แต่ถ้าบอกว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเกษตรของ AEC นั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะประเทศเพื่อนบ้านเพิ่งพัฒนา ในขณะที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไปมากตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การผลิต การแปรรูปไปจนถึงเรื่องโลจิสติกส์ 
 
      และสิ่งที่น่าสนใจการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอาหาร ปัจจุบันประเทศไทยพัฒนาไปมากมีโอกาสจะเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหารที่สำคัญของโลกได้ เฉพาะซี.พี. มีการแปรรูปสินค้าเกษตรในหลายรูปแบบ ทั้งปศุสัตว์ ไก่ สุกร กุ้ง ปลา ฯลฯ ซึ่งเวลานี้กุ้งซี.พี.มียอดส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ไก่แปรรูปส่งออกเป็นอันดับ 1ใน 5 ของโลก การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มใน value chain ตลอดจน supply chain  ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเกษตรนานาชาติของโลกได้ในอนาคต 
      สินค้าเกษตรมีจุดอ่อนในเรื่องของราคา รวมทั้งการแปรรูป เนื่องจากมีปัจจัยแวดล้อมเยอะ ตั้งแต่วันแรกที่ต้องผลิต ทั้งเรื่องภูมิอากาศ โรค รวมถึงราคาขายเมื่อสินค้าออกสู่ตลาด ถ้าวันที่สินค้าออกสู่ตลาดของขาดจะได้ราคาสูง แต่ถ้าของล้นตลาดราคาจะถูก และเผลอๆ ขาดทุนด้วย ตรงนี้เป็นธรรมชาติของสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลก ฉะนั้นทางออกหนึ่งที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากวงจรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้  คือ การแปรรูป 
 
    ที่ผ่านมาซี.พี.ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการแปรรูปสินค้าเกษตรหลายอย่าง ล่าสุดได้ตั้งโรงงานผลิตเกี๊ยวกุ้ง นำเกี๊ยวกุ้งมาพัฒนาเป็นต้มยำกุ้งใส่เป็นถ้วย ใส่แบรนด์ ใส่ยี่ห้อ จำหน่ายให้ผู้บริโภค ส่งขายไปทั่วโลก โดยไม่ต้องไปแข่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดทั่วไป จึงไม่อยากให้มองเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร แต่อยากให้มองว่าประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางการแปรรูปให้ได้มูลค่าสูง
ประชากรโลกที่มีจำนวนมากขึ้นเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในการดำเนินธุรกิจ คือ เรื่องของคุณภาพ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสม ความปลอดภัยของผู้บริโภค และหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกับการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรม  องค์กรที่จะไปแข่งขันในระดับโลกได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรที่ดีและเก่ง ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน 
 
     ซี.พี. มีการสรรหาบุคลากรจากรั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในด้านสาขาการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตร เราได้บุคลากรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากมองว่าคนกลุ่มนี้มีพื้นความรู้ มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะที่มาช่วยสร้างบริษัทให้เติบใหญ่ได้  เมื่อได้คนเก่ง คนดีเข้ามาทำงานแล้ว องค์กรก็ต้องดูว่าจะรักษาเขาเหล่านั้นไว้ได้อย่างไร ต้องให้ผลตอบแทนอย่างไร ให้ความรู้เพิ่มเติมให้กับคนเหล่านี้อย่างไร แล้วที่จะลืมไม่ได้จะทำให้บุคลากรคุณภาพของบริษัทมีความสุขในการทำงานได้อย่างไร เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ 
 
     การดำเนินธุรกิจต้องแข่งในเรื่อง supply chain การรักษาคุณภาพสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การมีบุคลากรที่เก่งและดีจะเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
สุดท้ายเรื่ององค์ความรู้ หรือ การวิจัยก็มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรให้ก้าวไกล พวกเราต้องคิดไว้เสมอว่า เมื่อพัฒนางานวิจัยแล้วไปใส่ในลิ้นชักหรือวิจัยแล้วนำไปใช้ในธุรกิจไม่ได้จะทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นต้องผลิตงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดความรู้ ต่อยอดนวัตกรรมที่มีอยู่ เพื่อเสริมธุรกิจให้แข็งแกร่งก้าวหน้า ก้าวไปสู่ความสำเร็จ 
 
      การก้าวเข้าสู่ AEC ในปี 2558 ประเทศไทยน่าจะมีโอกาสมากกว่าประเทศอื่นในแถบนี้ เพราะในแง่ภูมิศาสตร์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง และมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ดีกว่าเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจึงมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางการผลิต โดยดึงวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านนำมาแปรรูปส่งไปขายทั่วโลก
         
     หมายเหตุ : เรียบเรียงจากงานเสวนา 'โอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเกษตรนานาชาติ' ในวาระครบรอบ 40 ปีสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะ ผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้ด้วย 
 
โดย...อดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!