WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จับชีพจร เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ปี 2557 
คุยกับซี.พี

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นและยังไม่มีทางออกที่แน่ชัด ณ ขณะนี้ หลายคนแสดงความกังวลว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 นี้จะมีความโน้มเอียงไปในทางลบ เนื่องจากการส่งออกซบเซาต่อเนื่อง หลังสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ชัดเจน  

สถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะเป็นอย่างไร? จากการประมวลข้อมูลหลายสำนักในช่วงที่ผ่านมาพบว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 อาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-4.5 ต่ำกว่าที่เคยคาดว่าจะขยายได้เกินร้อยละ 5.0 เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าการลงทุนภาครัฐในส่วนของการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคต 3.5 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาทจะไม่ได้ดำเนินการ ประกอบกับการบริโภคของภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวดี ภาคการส่งออกอาจดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจนยังเป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ 
 
การบริโภคภาคเอกชนน่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ดีขึ้นกว่า 0.4 ในปี 2556 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.0 ดีกว่าที่หดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2556 การลงทุนภาครัฐหากมีการลงทุนได้บ้างก็จะขยายตัวอย่างมากที่ร้อยละ 13.2 เพราะปี 2556  หดตัวร้อยละ 4.1 
 
การส่งออกสินค้า กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2556 
 
การนำเข้าจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 5.0 จากการลงทุนที่สูงขึ้น และจะทำให้ดุลการค้าเกินดุลประมาณ 8.9  พันล้านเหรียญสหรัฐฯเทียบกับการนำเข้าหดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2556 เกินดุลประมาณ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2556 
 
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในระดับ 3.5-4.5 อยู่บนพื้นฐานที่ยังไม่ได้คิดผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งหากใช้เวลานานหรือรุนแรงขึ้น ก็จะทำให้การขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
 
ในด้านเสถียรภาพ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2557 เทียบกับร้อยละ 2.2 ในปี 2556 ในขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยในปี 2557 จะยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 178.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯถึงแม้จะลดลงจากปีก่อนเพราะมีเงินทุนไหลออกบ้าง 
 
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ดังกล่าวอยู่บนปัจจัยพื้นฐาน จากการประเมินเศรษฐกิจไทยใน ปี 2556 ที่หลายสำนักสรุปตรงกันว่าการขยายตัวต่ำมากอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ที่ร้อยละ 5.3 (ประมาณการเมื่อ มี.ค. 56) ทั้งนี้เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้นมากในช่วงครึ่งปีแรกจากเงินทุนไหลเข้าและการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคส่งออกของไทยมีปัญหาตลอดทั้งปี นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และความต้องการภายในประเทศที่ลดลงมากกว่าที่คาดไว้ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4  เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจของไทย ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนในรอบปีที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 0.3 การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2556 หดตัวร้อยละ 0.5 โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสำคัญอย่างญี่ปุ่นก็ยังคงหดตัวเช่นกัน ยกเว้นตลาดจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว สำหรับภาคการนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 1.2 ทำให้ในช่วง 11 เดือนแรกขาดดุลการค้า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคการท่องเที่ยวไทยที่เคยสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมีนัยยะ และมีการขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 ในปี 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 26.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 ทำรายได้  1.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 เทียบกับปีก่อน แต่ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี จำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แม้จะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว(High Season)ก็ตาม ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยมากที่สุดคือ จีน รองลงมาคือมาเลเซีย และรัสเซีย
 
ในด้านเศรษฐกิจโลกในปี 2557 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องอย่างน่าติดตาม โดย IMF คาดว่าปี 2557 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.6 ดีขึ้นกว่าปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9  ทั้งนี้เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะนำการขยายตัว นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะฟื้นตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ภาคเอกชน เศรษฐกิจยูโรโซนจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากจุดต่ำสุดเมื่อปีก่อน แม้อัตรการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาจะกลับมาขยายตัวในระดับปรกติ
 
สำหรับเศรษฐกิจเอเชีย ในปี 2557 IMF คาดการว่ายังขยายตัวอย่างมั่นคง โดยเฉพาะจีนที่กำลังปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มบทบาทของความต้องการภายในประเทศและกลไกภาคเอกชนให้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอย่างมั่นคงในอัตราร้อยละ 7.0-7.5 ในขณะที่อินเดียจะขยายตัวร้อยละ 5.1 ส่วนอาเซียน 5 และ CLMV จะขยายตัวดีขึ้นประมาณร้อยละ 5.4 และ 6.0 ตามลำดับ จากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัว 
 
ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2557 นี้ ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนในหลายเรื่องทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ก่อนตัดสินใจทางธุรกิจในแต่ละระยะ
 
หมายเหตุ : เรียบเรียงจากเอกสาร Thailand Quarterly Economic Report ฉบับที่ 1/2557 จัดทำโดย สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์
 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!