WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

IUU

 

แรงกระเพื่อมเทียร์ 3 ลามไอยูยู วัดฝีมือ'คสช.'ฝ่าวิกฤตกระแสกดดันโลก ที่สำคัญตอนนี้คือ ไทยต้องสื่อสารกับอียู แจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าแก้ปัญหาไอยูยู

 

มติชนออนไลน์ :

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา

 

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

      เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันแล้วว่า สหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี 2558 (Trafficking in Persons Report) หรือ TIP Report ปรากฏว่าไทยยังอยู่อันดับต่ำสุด หรือเทียร์ 3 (Tier 3) ตามเดิม ซึ่งเป็นอันดับที่ไทยถูกจัดอันดับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ที่ค้านความรู้สึกของกองเชียร์ เนื่องเพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการหลายอย่างที่เห็นความชัดเจนอย่างมาก จนสหรัฐกำลังตกเป็นจำเลยสังคมโลกที่มองว่าเป็นการตัดสินในประเด็นทางการเมือง มากกว่าประเด็นมนุษยธรรม!!

      แต่ไม่ว่า จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อผลออกมาแล้วไทยก็ต้องปฏิบัติการแก้ปัญหาต่อไป สิ่งที่ตามมาจากคำประกาศดังกล่าวในเชิงเศรษฐกิจ ภาคเอกชนยอมรับว่าเทียร์ 3 มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยที่ส่งออกต่างประเทศบ้าง แต่ไม่มาก เพราะเทียร์ 3 ไม่ใช่เรื่องของการคว่ำบาตร แต่เป็นเรื่องจิตวิทยาที่ผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ จะมองสินค้าไทยแย่ และอาจจะไม่เลือกซื้อสินค้า

      แต่ภาคเอกชนเน้นว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่าเทียร์ 3 คือไอยูยู หรือการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน หรือไร้การควบคุม หลังจากเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) ได้ให้ใบเหลืองเตือนไทยในการแก้ปัญหาไอยูยู โดยให้เวลา 6 เดือนในการแก้ไข ซึ่งจะมาพิจารณาใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ ที่ไม่รู้ว่าไทยจะโดนใบเหลืองต่อ ถอดใบเหลือง หรืออาจโดนใบแดงที่มีผลระงับการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทย หรือคว่ำบาตร ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี

 

- หวั่นอียูปนเทียร์ 3 กับไอยูยู

     ปัญหาเทียร์ 3 กับไอยูยู ถือว่าเป็นเรื่องเชื่อมโยงกัน แม้เทียร์ 3 คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ ขณะที่ไอยูยูคือปัญหาการประมงทั้งระบบ แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย เป็นที่ทราบว่ามาจากแรงงานประมงในไทย ถือเป็นด้านที่มีปัญหามากที่สุดจากที่มีการรายงานต่อเนื่องของการค้ามนุษย์และทรมานแรงงานบนเรือประมงนอกชายฝั่ง แม้แต่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็หวั่นเกรงถึงปัญหาเทียร์ 3 อาจจะส่งแรงกระเพื่อมมาถึงไอยูยูได้ โดยระบุว่าขณะนี้แรงงานต่างด้าวยังเข้ามาทำงานในไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านประมง เนื่องจากในไทยไม่มีใครอยากเป็นแรงงานประมง ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับให้แรงงานนั้นๆ เข้ามาทำงานในประเทศถูกกฎหมายและหลังจากออกเรือต้องมีระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับถูกต้อง โดยรัฐบาลต้องทำงานเดินหน้าต่อเนื่อง จะหยุดไม่ได้ เนื่องจากเรื่องเทียร์ 3 ผูกพันกับไอยูยู และมีแนวโน้มที่ต่างประเทศจะเอาทั้ง 2 เรื่องมาปนกัน

      "ที่สำคัญตอนนี้คือ ไทยต้องสื่อสารกับอียู แจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าแก้ปัญหาไอยูยู โดยที่ผ่านมาได้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับเจ้าหน้าที่อียู และกำหนดหารือระหว่างกันบ่อยขึ้น จะส่งข้อมูลถึงกันทุกสัปดาห์เพื่อสร้างการเชื่อมโยงทั้ง 3 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการด้านกฎหมาย แผนบริหารจัดการประมง และการบังคับใช้นโยบาย อาทิ การบันทึกการเข้าออกท่า (PIPO) การตรวจสอบย้อนกลับ และการติดเครื่องมือติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเสนอแนะความคิดเห็น"

 

- แก้ปัญหาประมงคืบหน้ากว่า 70%

        นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หากประเมินการแก้ไขปัญหาไอยูยู ไทยคืบหน้ากว่า 70% แล้ว ทั้งออกกฎหมายที่มีการกำหนดโทษ การทำประมงผิดกฎหมายที่รุนแรงและชัดเจน ตาม พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2558 ซึ่งไม่ได้แก้ไขมานานตั้งแต่ปี 2490 และเตรียมออกกฎหมายเพิ่มเพื่อครอบคลุมการแก้ปัญหาไอยูยู นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงและแก้ไขแผนระดับชาติในการแก้ไขปัญหาไอยูยู (NPOA-IUU) ให้มีแบบแผนกำหนดบทบาทภารกิจรัฐบาลในการแก้ปัญหาชัดเจน การเร่งรัดติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) การตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมประมง การตั้งศูนย์แจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) เพื่อควบคุมเรือที่ผิดกฎหมายจากการออกนอกฝั่ง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้จัดระเบียบไม่ให้เรือประมงที่ไม่ถูกต้องออกจากท่าเรือเพื่อทำประมงทั่วประเทศ นับเป็นก้าวแรกของการดำเนินการตามที่อียูแนะนำให้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ 1.คน ตั้งแต่ลูกเรือ ผู้คุมเรือ ไต๋เรือ ต้องมีใบนายท้าย ใบช่างเครื่อง ถ้าเป็นลูกเรือต่างด้าวต้องมีบัตรแรงงานถูกต้อง และทำสัญญาจ้างชัดเจน 

       หลังจากออกหน่วยเคลื่อนที่อำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนพบว่ามีการขอใบอนุญาตนายท้ายเรือ 6,215 ราย ใบอนุญาตช่างเครื่อง 5,649 ราย ใบอนุญาตทำงานในเรือ 687 ราย นอกจากนี้คนที่ทำงานในเรือต้องมีความรู้ เช่น การลงบันทึกสมุดทำประมง (Logbooks) ว่า เรือทำประมงที่ไหน วันที่เท่าไร จับปลาชนิดใด ขนาดเท่าใด เพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยขณะนี้ได้มีการจัดฝึกอบรมการลงบันทึกดังกล่าวอยู่ 2.เรือ โดยเรือประมงจะต้องจดทะเบียนเรือ และมีใบอนุญาตใช้เรือ ทั้งนี้จากเรือที่กรมเจ้าท่าขึ้นทะเบียนมีทั้งหมด 42,051 ลำ ซึ่งมีเรือมารายงานตัวแล้วจำนวน 30,100 ลำ เพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากเดิมมีการตรวจสอบจำนวนเรือมีจริงทั้งสิ้น 28,800 ลำ ซึ่งยังเหลือประมาณ 1 หมื่นลำที่ยังไม่มารายงานตัว และจะต้องตรวจสอบต่อไป

- ไม่ผ่อนผันเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย

       ที่สำคัญที่สุดคือ 3.เครื่องมืออนุญาตทำประมง หรือใบอาชญาบัตร ต้องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ อวนลาก อวนรุน ปลากะตัก ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่ผ่านมากรมประมงเคยออกกฎกระทรวงเมื่อปี 2529 อนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงดังกล่าว แต่ขณะนี้เพื่อรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ จึงไม่สามารถผ่อนผันให้แล้ว โดยจากเครื่องมือประมงทั้งหมด 10,000 กว่าลำในปี 2529 ขณะนี้ลดเหลือเพียง 2,000 กว่าลำ ที่ยังไม่อนุญาตให้ออกเทียบท่าทำประมง ซึ่งล่าสุดได้ยินว่าเรือประมงกลุ่มนี้มีแนวคิดจะเปลี่ยนเครื่องมือทำประมงที่ทางราชการอนุญาต เพื่อสามารถทำประมงได้อย่างถูกกฎหมาย 

       "การหยุดออกเรือของชาวประมงหากให้ประเมินแล้วกระทบต่อผลผลิตสัตว์น้ำและปลาทะเลไม่มากนัก เพราะเรือที่หยุดเฉพาะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งขณะนี้จอดอยู่ประมาณ 2,650 ลำ หรือ 40% ของเรือเพื่อการพาณิชย์จำนวน 6,615 ลำ โดยมีเรือประมงพื้นบ้าน 2 หมื่นกว่าลำยังเดินเรือได้ปกติ"

 

- เร่งแก้ประมงรับอียูเยือนไทย ส.ค.นี้

      ขณะนี้ เรามีการประสานงานทุกหน่วยงานผ่านศูนย์บัญชาการแก้ปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยมีกองทัพเรือเป็นหัวหน้าหน่วยงาน และมีกระทรวงแรงงาน กรมประมง ตำรวจน้ำ กระทรวงการต่างประเทศ คอยขับเคลื่อน ซึ่งจัดประชุมทุกสัปดาห์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับอียู จากแผนทั้งหมดถือว่าปฏิบัติการจัดระเบียบเรือประมงค่อนข้างมากแล้ว เพื่อรองรับคณะทำงานอียูที่จะมาไทยในเดือนสิงหาคมนี้เพื่อตรวจการทำประมงของไทย โดยเฉพาะการควบคุมปริมาณจำนวนเรือที่มีมากกว่าจำนวนสัตว์น้ำในท้องทะเลจะรับไหว จนส่งผลต่อทรัพยากรหรือสัตว์ทะเลในอนาคต เพื่อประเมินสถานการณ์การให้ใบเหลือง ซึ่งมั่นใจว่าจากการแก้ปัญหาทั้งหมด อียูจะไม่ให้ใบแดงไทยแน่นอน

 

- ศปมผ.ชี้บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดคือจุดอ่อน

       พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ (ศปมผ.) ระบุว่า เดิมนั้นอียูไม่ได้พูดถึงปัญหาแรงงาน หรือเทียร์ 3 กับไทยเลย กระทั่งการตรวจประมงไทยเมื่อวันที่ 20-22 พฤษภาคมที่ผ่านมา อียูได้พูดถึงเทียร์ 3 ให้ไทยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานประมงด้วย ซึ่งเราก็ทำตั้งแต่ต้นทาง คือรัฐบาลได้ออกกฎหมายและตั้งจุดควบคุมเรือเข้าออกต่างๆ มั่นใจว่าสามารถแก้ปัญหาแรงงานประมง 100% เพราะถ้าเรือไม่ถูกต้องก็ออกไม่ได้ แต่ที่น่ากังวลคือการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเรือประมงที่ออกทำประมงแล้ว ระหว่างทางอาจมีการนำแรงงานต่างด้าวเปลี่ยนไปที่เรืออื่นแทน หรือนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายจากประเทศอื่นขึ้นเรืออีก เรือประมงที่ออกนอกน่านน้ำไปแล้วถือว่าตรวจสอบยากเพราะเราไม่มีงบประมาณหรือกองทัพเรือสามารถดูแลควบคุมเรือประมงได้ทั้งหมด 4 หมื่นกว่าลำ ดังนั้นจึงต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับคือติดเครื่องติดตามวีเอ็มเอสให้รู้ว่าเรือประมงทำประมงตรงไหน

      "กำลังพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทำทุกอย่างให้เป็นกฎสากล สังคมโลกยอมรับ จากเรื่องเทียร์ 3 เราก็อาจต้องยอมรับในรายงานค้ามนุษย์เพราะบางเรื่องเขาอาจตรวจพบอะไรที่เราไม่พบ แต่ตอนนี้เราพยายามทำทุกอย่าง ที่ผ่านมาได้จัดการประชุมแก้ไขปัญหาไอยูยูทุกสัปดาห์โดยมีกองทัพเรือเป็นหัวหน้าการประชุมเพื่อดูแล ซึ่งภายหลังการประชุมกระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งผลและความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงให้อียูทราบเสมอ เราแก้ปัญหาการประมงอย่างต่อเนื่องและประสานกับอียูอยู่ตลอดเวลา" 

      ส่วนปัญหาเทียร์ 3 ของสหรัฐที่อาจจะสะท้อนมาถึงแรงงานประมงด้วย ต้องชี้แจงว่า เทียร์ 3 ไม่ใช่เพียงแรงงานประมง แต่มีทั้งแรงงานอุตสาหกรรม อื่นๆ ส่วนปัญหาแรงงานประมง มีการกวดขันทุกอย่างแล้ว มั่นใจว่าจะไม่กระทบกับไอยูยู 

จากนี้ไปเหลือเพียงติดตามว่า จากปัญหาเทียร์ 3 จนถึงไอยูยู จากสหรัฐถึงอียู ด้วยอำนาจและกฎหมายที่อยู่ในมือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสามารถฝ่าฟันวิกฤตได้หรือไม่

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!