WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จับตา..แนวโน้มเศรษฐกิจ ปี 2557 ท่ามกลางความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุน
คุยกับซี.พี

    ชัดเจนอย่างยิ่งสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 เพราะเพียง 2 เดือนแรกดัชนีสำคัญด้านเศรษฐกิจก็ส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผานมา สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวไปในแนวบวกมากขึ้น

     ข้อมูลจากสำนักต่างๆ วิเคราะห์ตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในกลางปี 2557 ทั้งนี้หากสถานการณ์ทางการเมืองยังยืดเยื้อ สถาบันการเงินของภาคเอกชนหลายสถาบันได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1-2 ในปีนี้ เพราะในช่วงสุญญากาศทางการเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในส่วนของภาครัฐต้องหยุดชะงัก ทั้งโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ โครงการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท การจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนา ซึ่งกำลังส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น 

     จะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 อยู่ในระดับต่ำสุดร้อยละ 58.7 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 และดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 85.7  นับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2552 รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 4.5 ล้านคน หดตัวร้อยละ 4.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 ในช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น 

   นอกจากนั้น การส่งออกสินค้าใน 2 เดือนแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2  เทียบกับเป้าหมายร้อยละ 5-7 การขยายตัวที่เกิดขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรอุปกรณ์ และ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 15.7 จากการนำเข้าที่ลดลงของสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบเป็นสำคัญ 

    ในขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สูงกว่าปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 นำโดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน โดยจะขยายตัวร้อยละ 2.8 และ 1.2  ตามลำดับ 

   เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกันชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการขึ้นภาษีบริโภค โดยจะขยายตัวร้อยละ 1.4 ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจอาเซียน 5 จะขยายตัวร้อยละ 7.5 และ 4.9 ตามลำดับสำหรับเศรษฐกิจเอเชีย IMF คาดการณ์ว่า เจะขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 6.7 ในปี 2557 ทั้งนี้ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียจะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวต่อเนื่องของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและความสามารถของประเทศจีนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ 

    ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่หลายคนจับจ้องในฐานะที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปีนี้ได้ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาเพดานการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ (Fiscal Cliff) ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของภาครัฐได้รับการแก้ไข โดยการยกเลิกการปรับลดรายจ่ายภาครัฐบางส่วน และผ่อนผันข้อกำหนดเพดานหนี้สาธารณะชั่วคราว ส่งผลให้รัฐบาลกลางมีงบประมาณเพื่อใช้จ่ายมากขึ้นโดย IMF คาดว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.8 (คาดการณ์เมื่อ เม.ย.57)สูงกว่าร้อยละ 1.9 ของปีก่อนมาก 

    อย่างไรก็ตาม ในจากนี้ไปถึงสิ้นปียังมีประเด็นที่น่าสนใจ ที่ทุกคนต้องเกาะติดสถานการณ์เพราะส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจในภาครวม 2 ประการ

    ประการแรก ทิศทางการดำเนินนโยบายของ นางเจเน็ท เยลเลน ประธาน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งยังคงเดินหน้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไปในปีนี้โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย  

    ประการที่สอง แผนปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่จะช่วยปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยการปฏิรูปจะเน้นให้ตลาดมีบทบาทสำคัญในการกระจายทรัพยากร ทั้งภาครัฐและเอกชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญหากการปฏิรูปเกิดขึ้นจริงจะส่งผลเชิงลึกต่อระบบที่ดิน แรงงานและตลาดทุนของจีน รวมทั้งจะเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจจีนในระยะยาว 

    ทั้งนี้ ผลของการปฏิรูปส่วนหนึ่งสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจีนในระยะสั้นได้ เช่น การลดภาระของกฏระเบียบและการบริหารงาน การปฏิรูปด้านภาษี การอนุญาตให้ที่ดินมีประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น แต่การดำเนินการปฏิรูปในจีนน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและแผนปฏิรูปในด้านต่างๆ น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในอนาคต 

     จะเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ยังมีปัจจัยบวก ปัจจัยลบอยู่มาก การเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา ดำเนินธุรกิจยังระมัดระวังจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กรธุรกิจ 

โดย …สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!