WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงพืชอาหารและพืชพลังงาน เป้าหมายสู่เส้นทางเศรษฐกิจสีเขียว
 คุยกับซี.พี

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาวิกฤตอาหารได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อาหารโลก  โดยมองว่าในอนาคตโลกอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตการขาดแคลนพืชอาหารและพืชพลังงาน เพราะในปี 2573 จำนวนประชากรโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 22% มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 33% มีการบริโภคธัญพืชสูงขึ้นกว่า 27% ต้องใช้น้ำไม่น้อยกว่า 41%

    นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาภาคเกษตรของโลก ด้วยเหตุนี้บนเวทีระดับโลกจึงระดมพลังขับเคลื่อน 'เศรษฐกิจสีเขียว' เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลกลับสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม

    อีกหนึ่งองคาพยพของการสร้างสรรค์เศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ก็คือการรณรงค์ให้ทุกประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ทั้งนี้รวมถึงการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรด้วย สำหรับประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นลำดับที่ 24 ของโลก

      ที่ผ่านมากระบวนการเกษตรของพืชเศรษฐกิจในไทย ไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการทำเกษตรอย่างบูรณาการ  ขาดรูปแบบการบริหารจัดการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีทิศทางที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาราคาพืชเศรษฐกิจตกต่ำ ขาดประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เกษตรกรเดือดร้อน ประกอบกับประเทศไทยขาดระบบชลประทานที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทำให้ประสบปัญหาด้านการเพาะปลูก

      ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่[1] มีศักยภาพในระบบชลประทาน 60 ล้านไร่ ซึ่งมีระบบชลประทานแล้วเพียง 29.6 ล้านไร่ และมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาระบบชลประทานได้อีก 30.4 ล้านไร่ พื้นที่เกษตรน้ำฝน 109 ล้านไร่สามารถพัฒนาระบบชลประทานได้อีก 9.1[2] ล้านไร่

      สำหรับ พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลักของไทย 6 ประเภท ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน และยางพารา  แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปี  61.08 ล้านไร่ ข้าวนาปรัง 17.1 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7.26 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 7.91 ล้านไร่ อ้อยโรงงาน 8.01 ล้านไร่ ปาล์มน้ำมัน 4.49 ล้านไร่ ยางพารา 18.5 ล้านไร่ และเกษตรอื่นๆ 41.75 ล้านไร่[3]

      ภาคเกษตรของประเทศไทยนั้นยังเต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ทางการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ปัญหาระบบชลประทาน การขาดแคลนแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลงและเกิดความสูญเสียตลอดห่วงโซ่อาหารการผลิต อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร เกษตรกรมีรายได้ที่ไม่เพียงพอ ราคาสินค้าเกษตรผันผวน ไม่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องมารองรับผลิตผลทางการเกษตร รวมถึงแนวทางดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่ขาดความชัดเจน ตลอดจนระบบการขนส่งที่ไม่สมดุล และมีต้นทุนที่สูง การขาดความสมดุลและความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการเกษตร

      นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบปัญหาวิกฤตพลังงาน ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการนำเข้าพลังงาน รวม 1,416,425 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 46% น้ำมัน 36% ถ่านหิน/ลิกไนต์ 16% และพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า 2% ทั้งนี้แนวโน้มในอนาคตหากประเทศไทยจะต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานทั้งหมด จะส่งผลอย่างมากต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

       ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เห็นถึงวิกฤตด้านเกษตรและอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยต้องเดินหน้ายุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงานอย่างเร่งด่วน

      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางภาครัฐในหลายๆ หน่วยงานจะมีการศึกษาและทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับพืชเศษฐกิจหลัก แต่การบูรณาการในการนำไปใช้จริง ยังขาดความชัดเจน และยังมีอุปสรรคในการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการเดินหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงานนั้น จะต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชน เพื่อปรับการใช้ทรัพยากรการเกษตรของประเทศให้สมดุลเกิดประสิทธิภาพ ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ลดความเสี่ยงของการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานของประเทศ ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในส่วนของภาคธุรกิจการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และเพิ่มรายได้ประชาชาติของประเทศ

     ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ควรกำหนดให้พืชเศรษฐกิจหลักของไทยทั้ง 6 ชนิดเป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์ม ข้าวโพด อ้อย และ มันสำปะหลัง ซึ่งจะต้องมีการจัดระบบบริหารเป็น Cluster ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และประชาชน อีกทั้งเร่งสร้างฐานรากที่มั่นคงให้กับพืชอาหารและพืชพลังงานใน 3 ด้านได้แก่ 1.การจัดการพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม (Zoning) 2.ระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ 3.ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ


       ข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่นำรายได้มาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปีนั้น พบว่าปัจจุบันไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 60 ล้านไร่ ซึ่งปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจำนวนมาก ผลผลิตต่ำ มีพื้นที่ปลูกข้าวในระบบชลประทานเพียง 17 ล้านไร่  ในการวางกรอบยุทธศาสตร์ข้าวไทยเพื่อรองรับเศรษฐกิจสีเขียวนั้น ควรลดพื้นที่ปลูกข้าวให้เหลือประมาณ 30 ล้านไร่ และพยายามส่งเสริมให้ปลูกในเขตชลประทานเพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกร และปรับปรุงระบบชลประทานที่ยังไม่สมบูรณ์ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวให้สมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อให้สามารถปลูกข้าวในเขตชลประทานได้ปีละ 2 ครั้ง ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพของข้าวไทยทั้งข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เร่งส่งเสริมให้มีธุรกิจต่อเนื่องของข้าว นอกจากนี้ภาครัฐควรสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค เพื่อไม่ให้เกิด Over Supply ซึ่งมีตัวอย่างที่สามารถศึกษาได้จากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน รวมถึงรัฐต้องเร่งให้มีการส่งเสริมโครงการของเหลือจากการเกษตรเป็นศูนย์ เช่น สนับสนุนการใช้ฟางข้าว ตอซัง และแกลบ เพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าฯลฯ เป็นต้น 

     ด้านยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีก 1 ชนิดในวาระแห่งชาติครั้งนี้ ในระยะกลางและระยะยาวควรเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางบางส่วนในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกยางมานานและต้นยางมีอายุมากให้ผลผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงให้หันมาปลูกปาล์มแทน อีกทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนาพันธุ์ยาง พัฒนาอุปกรณ์ และการเก็บน้ำยางที่มีคุณภาพ ควบคู่กับการสนับสนุนให้ใช้ยางธรรมชาติในประเทศ และส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมขยายตลาดและเจาะตลาดประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น

     ส่วนปาล์มน้ำมันนั้น ไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก แต่พบว่ารัฐยังไม่มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนและจริงจังในตลอดห่วงโซ่คุณค่า นอกจากนี้พื้นที่เพาะปลูกยังไม่เพียงพอสำหรับใช้ผลิตไบโอดีเซล  มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อการเพาะปลูก

     ยุทธศาสตร์ของปาล์มน้ำมันนั้น ประการแรกภาครัฐควรมีนโยบายกำหนดเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซล (B20) สำหรับการคมนาคมเพื่อทดแทนการน้ำเข้าเชื้อเพลิง และให้มีการกำหนดเป้าหมายการปลูกปาล์มอย่างรวดเร็ว โดยแยกระหว่างเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคโดยให้การตลาดเป็นตัวนำ ควรกำหนดให้ใช้ B20 ภายในปี พ.ศ. 2562 เพื่อลดการนำเข้าพลังงาน เพิ่มความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ควรจัดโซนนิ่งให้ชัดเจน เร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นต้น

     สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ประสบปัญหาพื้นที่ปลูกข้าวโพดไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการบุกรุกป่า รวมถึงข้อจำกัดเรื่องโควต้าการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เสนอให้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้าน และให้นำเข้ามาในประเทศอย่างเสรี โดยมีการกำกับราคา เพื่อไม่กระทบต่อราคาของผู้ปลูกภายในประเทศ

       การขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์เพื่อสร้างความมั่นคงระหว่างพืชอาหาร และพืชพลังงานของประเทศไทยสู่เป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียว จะทำให้ภาคเกษตรของไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรกรมีรายได้มั่นคง และประเทศเกิดความมั่งคั่งจากภาคเกษตรได้ในที่สุด

      *หมายเหตุ: สรุปและเรียบเรียง จากการบรรยายของคุณพัชรี คงตระกูลเทียน ในงาน CEO Energy Forum 
วันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลา 8.30-12.30 น. ห้อง GH 201 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กรมชลประทาน, สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร,สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน, คณะทำงานร่วม 3 สถาบัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ท่านจิรากร โกศัยเสวี อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

โดย พัชรี คงตระกูลเทียน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ 

ประธานคณะกรรมการ กกร. ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!