WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 02:50 น. ข่าวสดออนไลน์


ไฮสปีด-รีเทิร์น

บทบรรณาธิการ
 
    จากความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2565 มูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท
 
    นอกจากมูลค่าโครงการใกล้เคียงกับแผนเดิม 2 ล้านล้านบาท ที่ใช้ระยะ 7 ปี ความน่าสนใจอยู่ที่มีโครงการรถไฟฟ้าเร็วสูงผนวกอยู่ด้วย แต่เปลี่ยนไปเรียกว่า รถไฟทางคู่แบบขนาดทางมาตรฐาน
 
   ที่ไม่เรียกโครงการนี้ว่าความเร็วสูง เพราะปรับลดขนาดความเร็วจากเดิม 200 ก.ม./ชั่วโมง เหลือ 160 ก.ม.ต่อชั่วโมง
 
    แต่อนาคตจะเพิ่มความเร็วเปลี่ยนไปเป็นรถไฟความเร็วสูงได้ เพราะระบบรางรองรับได้ จึงถือว่าเป็นการลงทุนเพื่อลดภาระการลงทุนในอนาคต
 
   สรุปได้ว่าแผนไฮสปีดเทรนฟื้นคืนมาแล้ว
 
    ในการวัดความเร็วของไฮสปีดเทรน สหภาพทางรถไฟสากล หรือ UIC ระบุว่าไม่ได้มีมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งกำหนดไว้ แม้แต่คำว่าความเร็วสูง หรือความเร็วสูงมาก ยังไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอน
 
   ในยุคแรกของการมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปีค.ศ.1933 บริการรถไฟเริ่มต้นความเร็วที่ 160 ก.ม./ช.ม.
 
    กระทั่งปัจจุบัน ความเข้าใจของคนทั่วไปไฮสปีดเทรนต้องวิ่งด้วยความเร็ว200 ก.ม./ช.ม.ขึ้นไป
 
    ที่สำคัญคือเป็นระบบการคมนาคมที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านขนส่งมวลชนและสินค้า ค่อยๆ ขยายตัวในหลายประเทศ รวมถึงภูมิภาคอาเซียนที่มีจีนเป็นแรงผลักดันสำคัญ
 
    โครงการสร้างทางรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ เป็นโครงการที่จีนหมายมั่นว่าจะสร้างโครงข่ายรถไฟเชื่อมจีนกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน แผนผังการเชื่อมโยงนั้นขาดไทยไม่ได้
 
    ไม่ว่าจะผ่านมาทางลาว ทางพม่า ทางกัมพูชา หรือทางเวียดนาม จุดที่เส้นทางรถไฟต้องผ่านลงไปยังสิงคโปร์คือไทย
 
    ในขณะที่การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะใช้งบประมาณเดิม 7.8 แสนล้านบาท หรืองบประมาณใหม่ 7.4 แสนล้าน ไม่ว่าจะใช้ 4 เส้นทางเดิม หรือใช้ 2 เส้นทางใหม่
 
 ไฮสปีดต้องรีเทิร์นอยู่ดี

ผุดรถไฟรางใหม่

บทนำมติชน

     ในที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งไทย 8 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2558-2565 ซึ่งมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน และแผน 5 ด้าน ซึ่งยุทธศาสตร์ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงทางสังคม การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในระบบขนส่ง และการมีโอกาสในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนแผน 5 ด้านนั้น ครอบคลุมการพัฒนาระบบราง ระบบถนน ระบบการขนส่งทางน้ำ และระบบการขนส่งทางอากาศ 

    ภายใต้แผน 5 ด้านดังกล่าว คสช.เห็นพ้องกับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบรางขึ้นขนานใหญ่ โดยมีแผนเร่งด่วนรถไฟทางคู่ 6 สาย หรือการสร้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร คู่ขนานไปกับทางเส้นเก่า ทำให้รถไฟสามารถแล่นสวนกันได้ ช่วยเพิ่มความเร็วในการเดินทางได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายรถไฟฟ้า 10 สาย เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เท่ากับว่ารถไฟสายสีต่างๆ เช่น สีเขียว สีม่วง สีน้ำเงิน สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู เหล่านี้ยังคงดำเนินการต่อไป 

    สำหรับ รถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลชุดเก่าผลักดัน กระทรวงคมนาคมและ คสช.ได้ปรับปรุง โดยให้ก่อสร้างรางใหม่ แบบมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร และเร่งให้มีรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่ใช่เส้นทางที่รัฐบาลเดิมกำหนดไว้ ซึ่งรถไฟฟ้าทางคู่ใหม่นี้จะไปถึงเชียงของ จ.เชียงราย ส่วนสายตะวันออกเฉียงเหนือจะขึ้นไปถึง จ.หนองคาย โดยเส้นทางรถไฟฟ้าสามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟที่ทอดลงมาจากจีน

    การอนุมัติยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่งไทยดังกล่าว ถือเป็นข่าวดี เพราะที่ผ่านมาไทยขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้มายาวนาน ทำให้กระทบการขนส่ง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ ทำให้ไทยตกอันดับประเทศที่น่าลงทุนลงไปเรื่อยๆ การกำหนดยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จใน 8 ปี จะช่วยให้นักลงทุนวางแผนง่ายขึ้น 

    โครงการนี้ถือว่าเริ่มต้นอีกครั้ง หลังจากรัฐบาลชุดที่แล้วพยายามผลักดัน แต่ถูกล้มลงด้วยความกลัวการทุจริต ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่ต้องเพิ่มความเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการทุจริต หรือหากพบการทุจริตก็มีวิธีปราบปรามที่ไม่ต้องล้มโครงการ แล้วกลับไปนับหนึ่งใหม่ ซึ่งหากทำได้ ความฝันที่อยากเห็นระบบขนส่งของไทยพัฒนาก็จะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ภายใน 8 ปี ตามกำหนด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!