WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

SCB EIC แนะสายการบินต้นทุนต่ำ เพิ่มคุณภาพบริการ-สร้างภาพลักษณ์-รักษากำไรรองรับการแข่งขัน

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำมีการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเป็นอย่างมาก เห็นได้จากความสามารถในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากธุรกิจสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ การดำเนินธุรกิจของสายการบินของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552 - 2556) มีผลการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจสายการบินทั่วโลกตามข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

     เมื่อพิจารณารายรับ พบว่ารายรับรวมของทุกสายการบินของไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากสายการบินต้นทุนต่ำที่เติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 31.5 ในขณะที่สายการบินให้บริการเต็มรูปแบบเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 6.9 จึงทำให้สายการบินต้นทุนต่ำมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น แม้สายการบินให้บริการเต็มรูปแบบจะมีส่วนแบ่งตลาดที่สูงกว่า แต่การเติบโตของส่วนแบ่งการตลาดของสายการบินต้นทุนต่ำกลับเพิ่มขึ้น

    ในปี 2556 ส่วนแบ่งการตลาดซึ่งคำนวณจากรายรับของสายการบินที่ได้จากการให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางการบินในประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำอยู่ที่ร้อยละ 46 ในขณะที่สายการบินให้บริการเต็มรูปแบบมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 54 โดยการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบยังคงเป็นสายการบินที่มีส่วนแบ่งตลาดจากการบินในประเทศมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 31.6 รองลงมา คือ ไทยแอร์เอเชีย, นกแอร์, และบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 23.2, 22.7, และ 22.5 ตามลำดับ

     แต่ถ้าหากพิจารณาจากอัตราการเติบโตของส่วนแบ่งการตลาดจะพบว่า ในช่วงปี 2554 - 2556 สายการบินต้นทุนต่ำมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในขณะที่สายการบินให้บริการเต็มรูปแบบมีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 6 โดยนกแอร์จัดเป็นสายการบินที่มีการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16.5 สายการบินต้นทุนต่ำยังสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ดีกว่าด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ EBITDAR ที่ร้อยละ 42 จากการพิจารณา EBITDAR พบว่า จากปี 2552 ถึงปี 2556 สายการบินต้นทุนต่ำมีการเติบโตเฉลี่ยของ EBITDAR ร้อยละ 42 ในขณะที่ EBITDAR ของสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบกลับเติบโตลดลงร้อยละ 4 จะเห็นว่าธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำมี EBITDAR ที่โตขึ้น และโตสูงกว่าการเติบโตของรายรับ โดยมาจากการบริหารต้นทุนของสายการบินต้นทุนต่ำในเกือบทุกส่วนของค่าใช้จ่าย โดยมีส่วนที่เพิ่มประสิทธิภาพได้สูงสุดสามลำดับแรก คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้สูงกว่าร้อยละ 10 จึงทำให้สายการบินต้นทุนต่ำมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ

   SCB EIC ประเมินว่า การเปิดเสรีน่านฟ้าในปี 2558 ทำให้สายการบินของไทยต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากสายการบินในอาเซียนที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในประเทศไทย ในอดีตประเทศไทยอนุญาตให้สายการบินเพียงไม่กี่สายเข้ามาให้บริการภายในประเทศ และจำกัดเส้นทางในการให้บริการของสายการบินเพื่อไม่ให้บินทับเส้นทางหลักของสายการบินแห่งชาติ (การบินไทย) และในภายหลังปี 2545 ได้มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในการให้บริการของสายการบิน ทำให้ธุรกิจการบินของไทยมีการแข่งขันมากขึ้น แต่เนื่องจากในปี 2015 ประเทศไทยต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งได้มีการตกลงในเรื่องนโยบายการเปิดเสรีน่านฟ้า (Open Skies Policy) เพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจการขนส่งทางอากาศ ภายใต้ความร่วมมือด้านการขนส่งทางอากาศที่มีการให้สิทธิรับขนทั้งในด้านการขนส่งผู้โดยสารและด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศตามการจราจรเสรีภาพที่สาม สี่ และห้าอย่างไม่จำกัดระหว่างเมืองในอาเซียน

   กล่าวคือ สายการบินสามารถให้บริการขนส่งทางอากาศทั้งขาไปและขากลับระหว่างเมืองได้ อีกทั้งสามารถลงจอดเพื่อรับผู้โดยสารและสินค้าจากเมืองตามเส้นทางการบินที่บินผ่านได้ ทำให้สายการบินในอาเซียนต่างก็เตรียมพร้อมเข้ามาให้บริการขนส่งทางอากาศในประเทศไทย ดังเช่นกลุ่มไลอ้อนแอร์ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของอินโดนีเซียได้ประกาศว่า จะเข้ามาเปิดบริการสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ในไทย และได้มีการเปิดให้บริการแล้วในช่วงปลายปี 2556 และในปี 2557 นี้ กานต์แอร์ได้ร่วมทุนกับเวียดเจ็ทแอร์ประกาศจัดตั้งสายการบินไทยเวียดเจ็ทแอร์ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อเปิดให้บริการในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าการเปิดเสรีน่านฟ้าจะทำให้สายการบินในอาเซียนสามารถเข้ามาให้บริการในประเทศไทยได้ทันที ย่อมหมายความว่า ธุรกิจการบินของไทยจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

     ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากอุปสงค์ในการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตสูง รวมถึงมีภูมิประเทศที่สามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (Hub) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนสำคัญ การส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย เช่น การงดเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศของญี่ปุ่นและเกาหลี หรือการจัดทัวร์เพื่อชมคอนเสิร์ตและเทศกาลอาหารของประเทศเกาหลีใต้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สายการบินของไทยมีการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นเพื่อให้บริการในเส้นทางการบินใหม่ๆ ดังเช่นไทยแอร์เอเชียได้เปิดตัวไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เพื่อให้บริการการบินระยะไกลไปประเทศญี่ปุ่น,เกาหลี, และออสเตรเลีย ในขณะที่นกแอร์ก็ได้เปิดตัวนกสกู๊ตเพื่อให้บริการไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี

     สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็มีแผนปฏิบัติการท่องเที่ยวในปี 2557 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวผ่านเสน่ห์ความเป็นไทย นอกจากนี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เพราะสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (Hub) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ในอาเซียนได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สายการบินของไทยมีจำนวนเที่ยวบินและผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 56 ล้านคน และมีเที่ยวบินเพิ่มกว่า 3 แสนเที่ยวบินในปี 2558 จากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มีความต้องการเดินทางของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สายการบินในอาเซียนต้องการเข้ามาช่วงชิงและแข่งขันในประเทศไทยและเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจการบินของไทย

     SCB EIC มองว่า สภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในธุรกิจการบินไทย จะส่งผลกระทบทางบวกต่อผู้ใช้บริการสายการบินในด้านราคาที่มีแนวโน้มถูกลงและด้านการให้บริการของสายการบินที่มีแนวโน้มดีขึ้น การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในธุรกิจการบินของไทยจากการเข้ามาของสายการบินในอาเซียน จะส่งผลให้ราคาตั๋วโดยสารทางอากาศมีแนวโน้มที่ถูกลง ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการสายการบินและมีสายการบินให้เลือกใช้บริการมากขึ้น นอกจากส่งผลทางด้านราคาแล้ว ด้านการให้บริการของสายการบินเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของการให้บริการภาคพื้นดินหรือแม้แต่การให้บริการบนเครื่องบินโดยสารก็ตาม จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้ใช้บริการสายการบิน

   ผู้ให้บริการสายการบินของไทยทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ ควรมีมาตรการเพื่อรองรับการแข่งขันจากสายการบินในอาเซียนจากการเปิด AEC ในปี 2558 ธุรกิจการบินของไทยจะมีการเข้ามาแข่งขันจากสายการบินในอาเซียนโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ หากผู้ให้บริการสายการบินของไทยไม่มีมาตรการรองรับการแข่งขัน จะส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว แม้ปัจจุบันสายการบินของไทยต่างก็มีการขยายธุรกิจการบินเพิ่มขึ้นเพื่อให้บริการเส้นทางการบินที่ไกลขึ้น ดังเช่น ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ นกสกู๊ต หรือเพื่อให้บริการสายการบินราคาประหยัด ดังเช่นการบินไทยสมายล์

     แต่อย่างไรก็ตาม สายการบินในอาเซียนต่างก็มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเหล่านั้นเช่นกัน ดังนั้น สายการบินของไทยควรมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การลดต้นทุนการดำเนินการ เพื่อรักษากำไรไม่ให้ลดลงมากนัก หรือเพิ่มคุณภาพของการให้บริการและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งที่จะมีมากขึ้นในอนาคต

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!