WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการประชุมคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ (Human Capital Development) ครั้งที่ 8/2559

      พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานสานพลังประชารัฐ (คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ : Public-Private Steering Committee) ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ E5 (Human Capital Development) ประชุมหารือความร่วมมือด้านการศึกษากับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน ของคณะทำงานดังกล่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2559 เวลา 17.00-20.30 น. ณ ห้องประชุม สพฐ. โดยมี พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้บริหารองค์กรหลัก ตลอดจนคณะทำงานกลุ่มย่อยจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมหารือ

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานที่สำคัญของคณะทำงานกลุ่มย่อยทั้ง 5 กลุ่ม ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) ด้านหลักสูตรการเรียนการสอน คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 2 ได้นำหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ระหว่างวันที่ 10-14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีครูภาษาไทย คณิตศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ในโรงเรียนนำร่อง 255 เขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการอบรมจำนวน 1,956 คน ซึ่งเนื้อหาการจัดอบรมประกอบด้วยรายวิชาภาษาไทยสำหรับชั้น ป.1 ป.4 และ ม.1, รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับชั้น ป.1-6 และ ม.1 และรายวิชาสังคมศาสตร์ สำหรับชั้น ม.1 ผลที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ คือ การบันทึกเทประหว่างการอบรมและนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์โรงเรียนประชารัฐ พร้อมทั้งจัดทำเว็บบอร์ดเพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างครูที่เข้ารับการอบรมและวิทยากร จากนั้นคณะทำงานฯ ได้วางแผนติดตามผลและมีแนวทางการจัดอบรมเชิงปฏิบัติในรูปแบบดังกล่าวในภาคเรียนที่ 2

2) ด้าน STEM Education คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 2 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำการคัดเลือกโรงเรียนนำร่องที่จะขยายผลการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ STEM Education จำนวน 2,250 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนประชารัฐจำนวน 735 โรงเรียน จากนั้นได้ดำเนินการจัดอบรมครูและโรงเรียนพี่เลี้ยงผ่านระบบออนไลน์ของ สสวท. รวมทั้งได้ทำการประเมินผลการอบรมและจะขยายผลการอบรม STEM Education ไปยังโรงเรียนประชารัฐอื่น ๆ ต่อไปด้วย

3) โรงเรียนคุณธรรม คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 2 ร่วมกับ สพฐ. และ มูลนิธิยุวสถิรคุณ จัดอบรมครูเพื่อเป็นวิทยากรด้านคุณธรรมให้กับโรงเรียนของต้นสังกัดและโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะต้องเป็นครูที่มีใจ และมีความต้องการที่จะเป็นวิทยากรด้านคุณธรรมจริง ๆ ซึ่งได้จัดอบรมครั้งละ 2 วัน อย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2559 (การอบรมในวันที่ 1 จะทำการอบรมครูวิทยากร และในวันที่ 2 ครูที่ได้รับการอบรมจะทำการอบรมให้กับคณะนักเรียนตัวอย่าง) ซึ่งภายหลังการอบรมครูวิทยากรจะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดและขยายผลให้กับโรงเรียนของตนเองได้ ปัจจุบันมีครูผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 2,200 คนจากการคัดเลือก 1,100 โรงเรียน (โรงเรียนละ 2 คน) รวมทั้งศึกษานิเทศก์ ขณะนี้ได้จัดอบรมตามภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 9 รุ่น แล้ว

4) ด้านภาษาอังกฤษ คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 2 กำลังเตรียมการที่จะอบรมภาษาอังกฤษให้กับครูภายในเดือนสิงหาคม 2559 โดยเป็นการอบรมครูด้วยการใช้สื่อเสริมและแผนการสอนให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษจาก 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็น 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งจะทำการคัดเลือกครูแกนนำจำนวน 393 คน จาก 3 ส่วนงาน คือ ครูสอนภาษาอังกฤษ 183 คน จากโรงเรียนประถมศึกษา 183 เขต, ศึกษานิเทศก์จำนวน 183 คน และ Master Trainers จากการอบรมภาษาอังกฤษ Boot Camp อีก 27 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายผลการสร้างเครือข่ายครูภาษาอังกฤษให้มีทักษะ เทคนิค และกระบวนการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้ดีมากยิ่งขึ้น

5) การจัดอบรมหลักสูตรผู้บริหาร/ครู ผ่านระบบ TEPE Online คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 3 ได้ดำเนินการพิมพ์เอกสารหลักสูตรสำหรับการอบรมครูเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้ทำการถ่ายวีดิทัศน์ประกอบการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ และจะนำมา Upload เพื่อให้ครูสามารถศึกษาและทบทวนด้วยตนเองได้ ซึ่งหัวข้อการอบรมสำหรับครู 6 ข้อ คือ ครบเครื่องเรื่องการศึกษา, การบริหารจัดการชั้นเรียนยุคดิจิทัล, Guru ครูมืออาชีพ, จากครูสู่ผู้อำนวยการเรียนรู้, สร้างคุณค่าในการประเมินการเรียนรู้ และการสร้างจิตสำนึกของการเป็นพลโลกที่ดี โดยการคัดเลือกครูที่จะเข้ารับการอบรมตามหลักสูตร ประกอบด้วยครูคอมพิวเตอร์ 1 คน, ครูฝ่ายวิชาการ 1 คน และครูที่สอนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1 คน รวม 3 คน จาก 1 โรงเรียน ทั้งนี้ คณะทำงานฯ กำลังดำเนินการจัดพิมพ์หลักสูตรสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา สำหรับการดำเนินงานในขั้นต่อไป คือ การหารือกับ สพฐ. เกี่ยวกับช่วงเวลา สถานที่ และรูปแบบการอบรมที่เหมาะสมกับจำนวนของครูที่จะเข้ารับการอบรม โดยคาดว่าจะให้ School Partners เข้ามามีส่วนร่วมในการอบรมด้วย เนื่องจาก School Partners ต้องทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาและครูในโรงเรียนประชารัฐ

6) ด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชน คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 4 ได้หารือกับ สพฐ. เกี่ยวกับแนวคิดการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดย สพฐ. ได้เสนอการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมตามแนวทางเสอเพลอโมเดล ในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกัน อาทิ พ่อแม่ผู้ปกครอง/ชุมชน, องค์การบริหารส่วนตำบล, ภาคเอกชน, สพฐ./สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา, ครู และ ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะลงพื้นที่สำรวจแนวทางการดำเนินงานว่าแต่ละภาคส่วนมีความร่วมมือกันรูปแบบใด เพื่อนำมาพิจารณาปรับใช้กับโรงเรียนประชารัฐต่อไป นอกจากนี้ คณะทำงานฯ จะลงพื้นที่เพื่อศึกษาการพัฒนาต้นแบบโรงเรียนประชารัฐในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 โดยจะเข้าไปศึกษาวิจัยโรงเรียนประชารัฐที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 13 แห่ง อาทิ โรงเรียนที่มีความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอน แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ หรือโรงเรียนที่ขาดแคลนบุคลากร อุปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอน แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เป็นต้น จากนั้นจะนำผลการวิจัยมาสร้างเป็น Guideline การพัฒนาโรงเรียนประชารัฐให้แก่ School Partners ในโครงการ CONNEXT ED ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาประมวลผลเพื่อนำมาหารูปแบบและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนประชารัฐต่อไป

7) ด้านการประสานผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการศึกษาของไทย คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 4 ได้นำเสนอในที่ประชุมว่า ขณะนี้มีองค์กรด้านการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ที่เสนอความร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ อาทิ

- British Council: เสนอการอบรมเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษ

- Microsoft & Google: เสนอการอบรมทักษะด้าน ICT ให้กับครู

- University of Auckland: เสนอการอบรม Trainer ด้านภาษาอังกฤษให้กับครู โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยใน 4 ภูมิภาค

- UNESCO: เสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาจากทั่วโลก, สื่อการเรียนการสอน Online และการบริหารจัดการ Cloud Funding เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน

- SEAMEO Indonesia: เสนอรูปแบบการเรียนการสอนผ่าน Real Time Online

8) การพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Technology 4 Mega Trends R&D Hub / Excellent Center) คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 5 ได้ศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างงานวิจัยในประเทศไทย พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลด้านงานวิจัย และจัดประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการจัด R&D Excellent Workshop ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ณ สถาบันวิทยสิริเมธี จังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาสู่ศูนย์กลางการศึกษาแห่งความเป็นเลิศด้านงานวิจัย (Education Hub) อีกทั้งได้จัด R&D Excellent Workshop ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ (Energy Complex) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกำหนดกลยุทธ์ แผนงาน หลักเกณฑ์ และผลักดันให้เกิดกองทุนเพื่อการวิจัยระดับชาติ

9) ด้านการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ (Leadership/ Change Management/ Innovation: LCI) คณะทำงานกลุ่มย่อยที่ 5 ได้รวบรวมกิจกรรม STEM Education สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริมความเป็นผู้นำและคุณธรรมให้กับเยาวชนผ่านกิจกรรมที่จัดทำในรูปแบบ “LCI Catalog” โดยได้ประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานในภาครัฐ คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งมอบ LCI Catalog ให้โรงเรียนประชารัฐด้วยการ Upload ไฟล์ในรูปแบบ PDF บนเว็บไซต์โรงเรียนประชารัฐ เพื่อให้โรงเรียนศึกษาและเลือกกิจกรรมที่สนใจได้

10) ด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต (Connectivity โรงเรียนประชารัฐ) โดยมีแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนสามารถเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการนำอินเทอร์เน็ตไปสู่โรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ สำหรับโรงเรียนประชารัฐก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการนำอินเทอร์เน็ตเข้าไปสู่โรงเรียน พร้อมทั้งจัดหาให้ทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียนการสอน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในทุกโครงการ ขอให้ สพฐ. เร่งสร้างความเข้าใจกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีโรงเรียนประชารัฐ เพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าใจแนวทางการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง และสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการ CONNEXT ED หรือโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (Leadership Program for Sustainable Education) ขณะนี้อยู่ในช่วงการรับสมัครและสัมภาษณ์พนักงานจากบริษัทภาคเอกชนที่สมัครเข้ามาเป็น School Partners โดยมียอด School Partners ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว 387 คน และคาดว่าจะปิดรับสมัครช่วงเดือนสิงหาคม 2559

นอกจากนี้ ได้ทำการออกแบบการอบรมให้กับ School Partners มาเป็นระยะ พร้อมทั้งดำเนินการจัดเตรียมสถานที่และประสานงานกับศึกษานิเทศก์ในการจัดอบรมให้กับ School Partners ไปควบคู่กัน ซึ่งหลังจากที่ได้จำนวน School Partners ที่แน่นอนแล้วจะทำการ Workshop ก่อนลงพื้นที่จริงในโรงเรียนประชารัฐ อีกทั้งจะมีการ Workshop ทุก ๆ 2 เดือนในระหว่างที่ลงพื้นที่ ซึ่งการจัด Workshop มีเป้าหมายการดำเนินงานในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

1) กันยายน-ตุลาคม 2559 สร้างแรงบันดาลใจและชี้ให้เห็นถึงข้อมูลพื้นฐานการศึกษาของไทยและเครื่องมือที่จะใช้ในการทำงานในฐานะ School Partners

2) ตุลาคม-ธันวาคม 2559 เรียนรู้วิธีการทำแผนโครงการเสนอ School Sponsor

3) ธันวาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560 รายงานความคืบหน้าของการทำแผนโครงการและแบ่งปันให้ School Partners คนอื่น ๆ ทราบ

4) กุมภาพันธ์-เมษายน 2560 รายงานความคืบหน้าของการทำแผนโครงการและแบ่งปันให้ School Partners คนอื่น ๆ ทราบ

5) เมษายน-มิถุนายน 2560 ประเมินแผนโครงการและตัวชี้วัด (KPIs)

6) มิถุนายน-สิงหาคม 2560 เป็นช่วงสุดท้ายของโครงการ School Partners ที่มีรอบการดำเนินงาน 1 ปี โดย School Partners จะมีโอกาสได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับจากการลงพื้นที่กับผู้อื่นด้วย

สำหรับสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้จาก School Partners คือ การพัฒนาโรงเรียนตามยุทธศาสตร์ 10 ด้านของโรงเรียนประชารัฐ, การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนผ่านการเป็นคู่คิดคู่ทำกับผู้อำนวยการสถานศึกษา ด้วยการพัฒนาแผนงานแก้ปัญหาโรงเรียนตามยุทธศาสตร์ 10 ด้าน, มีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการโรงเรียน และผลักดันการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและสังคม ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำของตนเอง

ในส่วนของการพัฒนาความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคตนั้น ประเทศไทยต้องมองตนเองให้เป็น Hub ด้านการวิจัยและวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเรามีทุนเดิมด้านการเป็น Hub ในหลาย ๆ ด้านอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น การมีนักเรียนนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาศึกษาต่อที่ประเทศไทย เพราะเชื่อว่าประเทศไทยเป็น Hub ของการศึกษาในบางด้าน

ดังนั้น เราต้องกล้าลงทุนและสร้างแรงจูงใจในการลดหย่อนภาษีเพื่อชักชวนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน แม้ว่าในปัจจุบันภาคเอกชนได้ทำการลงทุนในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จและยังไม่ส่งผลดีต่อประเทศเท่าที่ควร อีกทั้งควรต่อยอดสิ่งที่สถาบันอุดมศึกษามีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Regional Hub) ได้

โดย CP Group / วันที่โพสต์ 26 ก.ค. 2559

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!