WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

IOD เผยผลโพลล์บอร์ดบริษัทมองศก.-การเมืองดีเล็กน้อย,นโยบายรัฐหนุนธุรกิจขนาดกลาง

     นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของกรรมการไทย ปี 58 แสดงสัญญาณที่ดีว่ากรรมการให้ความสำคัญกับภาพระยะยาวและความยั่งยืนของธุรกิจมากขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการอีก 1-3 ปีข้างหน้า แม้ว่าในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับเรื่องตัวเลขทางการเงิน และการกำกับดูแลประเด็นระยะสั้นมากกว่าก็ตาม

    นอกจากนี้ กรรมการไทยส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจและการเมืองในประเทศปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย แต่อุปสรรคสำคัญยังเป็นเรื่อง การทุจริตคอร์รัปชัน สำหรับเรื่องการกำกับดูแลของภาครัฐนั้น กรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันมีส่วนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง และมองว่าประเด็นที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การปฏิรูปการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และธรรมาภิบาลของภาครัฐ

   ปีนี้เป็นปีแรกที่สถาบัน IOD ริเริ่มจัดทำการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการไทยต่อประเด็นกรรมการ การกำกับดูแลกิจการ (CG) แนวโน้มเศรษฐกิจ และกฎระเบียบภาครัฐขึ้น เพื่อประเมินมุมมองของกรรมการทั้งในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ การกำกับดูแลกิจการ เศรษฐกิจ และนโยบายการกำกับดูแลของภาครัฐ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 ม.ค.-25 ก.พ.58 มีกรรมการที่ร่วมแสดงความคิดเห็น 436 คน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านประสบการณ์ของกรรมการ ขนาดของกิจการและประเภทของอุตสาหกรรม ทำให้ข้อมูลที่ประเมินสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นในประเด็นข้างต้นของกรรมการไทยได้เป็นอย่างดี

   จากผลสำรวจด้านการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการไทยและการกำกับดูแลกิจการ (CG) พบว่า ปัจจุบันกรรมการไทยยังคงให้ความสำคัญกับการพิจารณาฐานะทางการเงินเป็นหลัก โดยจะมีการหารือกันเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารน้อย ทั้งในเรื่องการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง CEO และค่าตอบแทนผู้บริหาร

   อย่างไรก็ตาม กรรมการไทยมองว่า การทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการที่ดีของคณะกรรมการใน 1-3 ปีข้างหน้า ต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำเชิงรุกมากขึ้น โดยเน้นเรื่องการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การบริหารความเสี่ยงและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเป็นหลัก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีที่คณะกรรมการบริษัทไทยให้ความสำคัญกับภาพระยะยาวของธุรกิจมากขึ้น

  "กรรมการยุคใหม่ ไม่ได้มีบทบาทแค่การพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่ฝ่ายจัดการเสนอขึ้นมาเท่านั้น แต่ต้องพร้อมที่จะสวมบทบาทผู้นำเชิงรุก ที่สามารถให้ข้อเสนอแนะและแนวทางที่เหมาะสมแก่ฝ่ายจัดการในการดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ด้วย"นายบัณฑิต กล่าว

  นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ในการกำกับดูแลของภาคทางการ และการให้ความสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนนั้น ส่วนใหญ่ 58% เห็นว่า นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันมีส่วนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น ขณะที่ 29% มองว่า มีส่วนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจน้อย ส่วนประเด็นเรื่องความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ของภาครัฐนั้น ส่วนใหญ่ 49% มองว่าภาครัฐมีการออกกฎระเบียบมากเกินไป ทำให้ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ 42% มองว่าความเข้มข้นของกฎระเบียบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว

  นอกจากนี้ กรรมการไทยเห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายหลัก 3 ด้าน เพื่อการพัฒนาประเทศ คือ 1. การสร้างระบบธรรมาภิบาลของภาครัฐให้มีความเข้มแข็งเพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน 2. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 3. การปฏิรูปการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ในการรองรับกับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

   ด้านมุมมองของกรรมการไทยที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ กรรมการไทย 46% มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเล็กน้อยเทียบกับปี 2557 ขณะที่ 31% มองว่าเศรษฐกิจจะทรงตัว และอีก 18% เห็นว่าจะแย่ลงเล็กน้อย ส่วนมุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่กรรมการไทยให้ความสำคัญและติดตาม เพราะเป็นภาวะแวดล้อมสำคัญที่กระทบธุรกิจนั้นพบว่า 42% มองสถานการณ์การเมืองมีแนวโน้มจะดีขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน และ 11% มองแนวโน้มจะดีขึ้นมาก ขณะที่ 29%คิดว่าจะทรงตัว

   แม้ว่า กรรมการไทยมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้นจากปีก่อน แต่กรรมการยังคงกังวลกับปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจ คือ การทุจริตคอร์รัปชัน, การขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพหรือมีทักษะที่จำเป็นและการมีกฎระเบียบมากเกินไป รวมถึงมีขั้นตอนการติดต่อกับทางการที่ยุ่งยาก ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของภาครัฐที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อรักษาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว

  อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!