WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โพลล์ ชี้ชาวนาวินัยเยี่ยม เร่งใช้หนี้ทันทีที่มีเงิน

    ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.เผยผลสำรวจการบริหารจัดการเงินของชาวนาหลังได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว พบนำไปชำระหนี้มากที่สุดถึงร้อยละ 69.1 แนะอบรมเพิ่มความรู้ทางการเงินให้กับเกษตรกร และดึงหัวหน้ากลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส.หนุนชาวบ้านทำอาชีพเสริมเพื่อกระจายการพึ่งพารายได้ให้หลากหลายมากขึ้น

   นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.ได้ศึกษาการบริหารจัดการเงินของชาวนาหลังได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ที่มีการจ่ายไประหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม-18 มิถุนายน 2557 โดยการสัมภาษณ์ชาวนาที่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวและเก็บข้อมูลตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก อุบลราชธานี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสุพรรณบุรี พบว่า ชาวนานำเงินที่ได้รับจากโครงการรับจำนำข้าว นำไปชำระหนี้มากที่สุดร้อยละ 69.1 โดยเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 65.2 เช่น หนี้ ธ.ก.ส. กองทุนหมู่บ้านและสหกรณ์ และหนี้นอกระบบร้อยละ 3.9 สะท้อนถึงความมีวินัยและความซื่อสัตย์ของเกษตรกร

   รองลงมาเป็นการใช้จ่ายในครัวเรือนร้อยละ 21.1 โดยส่วนใหญ่ชาวนานำเงินที่ได้รับไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมากที่สุดร้อยละ 79.3 ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาบุตรร้อยละ 14.6 ผ่อนค่างวดรถ/เครื่องใช้ไฟฟ้าร้อยละ 4.5 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าประกันชีวิต ปรับปรุงบ้านร้อยละ 1.0 และซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ร้อยละ 0.6 นอกจากนี้ชาวนายังได้นำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพเสริมร้อยละ 7.5 โดยนำเงินไปลงทุนค้าขายมากที่สุดร้อยละ  65.3 ลงทุนปลูกพืชอื่นร้อยละ 25.4 และเลี้ยงสัตว์ร้อยละ 9.3 และสุดท้ายมีการเก็บออมร้อยละ 2.3 โดยเก็บออมใน ธ.ก.ส.มากที่สุดร้อยละ 80.2 รองลงมาคือธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 14.7 และเก็บออมไว้กับตัวเองร้อยละ 5.1

   ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่าชาวนานำเงินที่ได้จากการกู้ยืม ธ.ก.ส.และเงินที่เหลือจากโครงการรับจำนำมาลงทุนทำการผลิตรอบใหม่ โดยจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานมากที่สุดร้อยละ 39.7 รองลงมาคือค่าปุ๋ย/สารเคมีร้อยละ 32.9 ค่าเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 15.2 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิค่าเช่าที่นา ค่าน้ำมันรถไถนา ค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์เครื่องจักรกลการเกษตรร้อยละ 9.1 ค่าใช้จ่ายในการผ่อนงวดเครื่องจักรกลการเกษตรร้อยละ 2.8 และค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใหม่เนื่องจากถูกขโมยและชำรุดร้อยละ 0.3

    ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. มีความเห็นว่า การจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวที่ค้างชำระให้แก่ชาวนาและการให้สินเชื่อ รอบใหม่จาก ธ.ก.ส.นั้น จะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 โดยจะขยายตัวได้ดีจริงๆ ในปีหน้า เนื่องจากสินค้าเกษตรสามารถเชื่อมโยงไปสู่ผลผลิตทางอุตสาหกรรม (Forward Linkage) ได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว

     ส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและการผลิตสินค้าในภาคอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ควรจัดอบรมให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรเพื่อให้มีทักษะในการบริหารจัดการทางการเงินและนำไปสู่การปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายทั้งด้านการลงทุนและการใช้จ่ายในครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันควรสนับสนุนเกษตรกรให้ประกอบอาชีพเสริม โดยทำคู่ขนานกับอาชีพหลักเพื่อให้มีรายได้หลายทาง และลดความเสี่ยงด้านรายได้จากการประกอบอาชีพการเกษตร และควรดึงหัวหน้ากลุ่มลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร”นายลักษณ์กล่าว

สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ธ.ก.ส. โทร 025586100 ต่อ 6732, 6734

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!