- Details
- Category: บทวิเคราะห์สังคม
- Published: Sunday, 25 February 2024 20:25
- Hits: 11908
การย้ายถิ่นของประชากรในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเหตุผลในด้านการงาน และผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่รองรับกับจำนวนประชากรที่มีอยู่จริง
นางสาวสุวรรณี วังกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรเป็นประจำทุกปี เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านประชากรและสังคมของผู้ย้ายถิ่น สำหรับนำไปใช้ในการติดตามสถานการณ์การย้ายถิ่นของประชากร
โดยผู้ย้ายถิ่น หมายถึง ผู้ที่ย้ายสถานที่อยู่อาศัยจากเขตเทศบาลอื่น หรือ อบต. อื่น หรือจากประเทศอื่น ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยครั้งสุดท้ายมายังเขตเทศบาลหรือ อบต. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบัน ในช่วงเวลา 1 ปีก่อนการสำรวจ (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566) ซึ่งผลสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรปี 2566 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ภาพรวมสถานการณ์การย้ายถิ่นในปีนี้ พบว่า ผู้ย้ายถิ่นมีจำนวน 9.82 แสนคนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.73 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1.4 ของประชากรทั้งประเทศ (70.09 ล้านคน) โดยภาคกลางมีผู้ย้ายถิ่นมากที่สุด (4.70 แสนคน หรือร้อยละ 2.2 ของประชากรในภาคกลาง)
และกรุงเทพมหานครมีผู้ย้ายถิ่นน้อยที่สุด (0.58 แสนคน หรือ ร้อยละ 0.6 ของประชากรในกรุงเทพฯ) โดยผู้ย้ายถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 21.4 นอกนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดอื่น สูงถึงร้อยละ 41.7 และอยู่ภายในจังหวัดที่อยู่ปัจจุบัน ร้อยละ 26.3
สำหรับ สาเหตุหลักของการย้ายถิ่น พบว่า ผู้ย้ายถิ่นด้วยสาเหตุด้านการงาน เช่น หางานทำ หน้าที่การงาน หรือต้องการเปลี่ยนงานมีจำนวนมากที่สุด 3.74 แสนคน (ร้อยละ 38.1) รองลงมา คือ ด้านครอบครัว เช่น ติดตามคนในครอบครัว และทำกิจกรรมครอบครัว จำนวน 2.01 แสนคน (ร้อยละ 20.4) และด้านอื่น ๆ เช่น ย้ายที่อยู่อาศัย กลับภูมิลำเนา ศึกษาต่อ ฯลฯ จำนวน 4.07 แสนคน (ร้อยละ 41.4) ตามลำดับ
โดยสรุป พบว่า ภาคกลางมีร้อยละผู้ย้ายถิ่นสูงกว่าภาคอื่นๆ ด้วยเหตุผลหลักในด้านการงาน ได้แก่ หางานทำ หน้าที่การงาน และต้องการเปลี่ยนงาน ส่วนรูปแบบการย้ายถิ่นเป็นการย้ายมาคนเดียว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการให้รองรับกับจำนวนประชากรที่มีอยู่จริงเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะตามมาจากการย้ายถิ่นของประชากร เช่น ปัญหาความแออัดของที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านการให้บริการสาธารณสุข และการบริหารจัดการสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร
และควรมีการวางแผนกระจายแหล่งอุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้าต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด จะได้ไม่ต้องมีการย้ายถิ่นของประชากรเพื่อเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรม… พบกับข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nso.go.th