WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BMTAสมศกด หมมวง อาทิตย์เอกเขนก: คติประจำใจ.. สมศักดิ์ ห่มม่วง ไม่ชอบให้ใครทำอะไรเรา ก็อย่าไปทำเขา

       ไทยโพสต์ : 'อาทิตย์เอกเขนก' สัปดาห์นี้ จะพาไปรู้จักกับ'สมศักดิ์ ห่มม่วง' รองปลัดกระทรวงคมนาคมที่ดูแลงานด้านขนส่ง ที่ก่อนหน้านี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และเพิ่งจะหมดวาระไปเมื่อไม่นานมานี้

     วันนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มานั่งพูดคุยถึงที่มาที่ไปตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาทำงานในกระทรวงคมนาคม จะผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง

     "ผมเข้ามารับราชการครั้งแรกที่กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ 2525 จนถึง 1 กุมภาพันธ์ 2544 ตำแหน่งสุดท้ายที่อยู่กระทรวงคือ หัวหน้ากลุ่มแผนงานโครงการระดับ 8 ในสมัยนั้น แล้วก็ย้ายไปสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมพาณิชยนาวี อยู่ได้ 1 ปีก็ถูกควบรวมกับกรมเจ้าท่า พอมีการปฏิรูประบบราชการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 ก็ได้ไปอยู่กรมเจ้าท่าโดยไม่ตั้งใจ จากนั้นก็อยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักระดับ 9 ก็ถือว่าอยู่นาน

    จากนั้นก็ไปเป็นผู้อำนวยการสำนักภูมิภาคที่ 7 ที่ดูแลในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด จากนั้นก็มาดูแลสำนักเจ้าท่าที่ 2 ดูแลภาคกลาง พอหลังจากนั้นมาปี 2556-2557 มาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจด้านการขนส่งทางน้ำผู้ทรงคุณวุฒิด้านระดับ 10 ของกระทรวง จากนั้นก็มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมประมาณปีกว่าๆ 14 พฤศจิการยน 2559 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคมที่ดูแลด้านการขนส่งจนถึงปัจจุบัน"

    สำหรับ หน่วยงานที่กำกับดูแลมี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมเจ้าท่า (จท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นอกจากดูในส่วนของกลุ่มภารกิจด้านการขนส่งทั้งหมดแล้ว โครงการที่ติดตามอย่างใกล้ชิดคือ โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือขั้นที่ 3 โครงการจัดหารถเมล์ NGV 489 คัน ทำยังไงจะให้ได้รถใหม่โดยเร็ว

     อีกเรื่องคือ การปฏิรูปรถโดยสารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงการนี้ดำเนินการมาหลายอธิบดีแล้ว แต่ละท่านก็ทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบค่อนข้างกว้าง ซึ่งนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกคนปัจจุบัน ก็เข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง ส่วนตนในฐานะรองปลัดที่กำกับดูแล กับในฐานะประธานขนส่งทางบกกลาง ก็ลงไปช่วยผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะมันจะมีผลกระทบการให้บริการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และต่อตัวประชาชนที่ใช้บริการด้วย

    รองปลัดฯ ชี้แจงต่อกรณีที่มีเสียงบ่นเรื่องการเปลี่ยนเส้นทางของรถเมล์ ที่มีการเพิ่มตัวอักษรภาษาอังกฤษพร้อมกับตัวเลขนั้น มีวัตถุประสงค์คือ ปฏิรูปองค์กรในการกำกับดูแล จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยกเลิกมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ที่ระบุให้ ขสมก.เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมบริการเอกชนจะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.

    หลังจากที่มติ ครม.เดิมดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว รถร่วม ขสมก.จะต้องมาขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบก นั่นหมายความว่า ขสมก.จะเปรียบเหมือนกับผู้ประกอบการรถร่วมรายอื่นๆ ที่จะต้องมาขอใบอนุญาตเส้นทางเดินรถกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาทและแนวทางกำกับดูแลการเดินรถโดยสารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

    โดยกำหนดให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) แต่เพียงผู้เดียว และให้ ขสมก.เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถ (Operator) รายหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านการให้บริการเดินรถประจำทางในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาที่ ขสมก.ให้อนุญาตเส้นทางเดินรถกับรถร่วม จึงทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนเส้นทางเหมือนทุกวันนี้ จึงเป็นที่มาที่ไปของการปฏิรูป

    ถามว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ ท่านรองปลัดฯ เล่าว่า "เราก็รู้ว่าเส้นทางมันกำหนดมานั้นอยู่คนละทิศละทาง ประเด็นปัญหาคือ บางเส้นทางที่ขาดทุน คุณก็มาขอยื่นขอต่อสัญญา ทำให้เส้นทางเกิดการทับกันไปทับกันมา และปัจจุบันพบว่าเส้นทางค่อนข้างวิ่งระยะไกล เรื่องนี้ศึกษากันมานานมาก ตั้งแต่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกก็ทำการศึกษาเช่นกัน จากเดิมมี 202 เส้นทาง ศึกษาใหม่จะเป็น 269 เส้นทาง"

   รองปลัดฯ เล่าอีกว่า หลังจากนี้จะเห็นการให้บริการรถขนส่งสาธารณะเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น ครอบคลุม และไม่มีการทับซ้อนกันเหมือนที่ผ่านมา นี่ก็คือการปฏิรูปเส้นทาง ส่วนการปฏิรูปรถร่วม ปัจจุบันไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะอยู่ภายใต้การดูแลของ ขสมก.และต้องจ่ายค่ารถร่วมให้เขาอีก มันไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ จึงต้องมีการปฏิรูป ต่อไปนี้ทุกคนต้องมาขอ เส้นทางกับกรมการขนส่งทางบก ทุกรายเท่าเทียมกันหมด จะได้มีการแข่งขัน

    "ต่อไปนี้สิ่งที่จะเห็นคือ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ยกตัวอย่างเช่น สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ มี 4 สัญญา ไม่ใช่เจ้าของเดียว บอกได้เลยว่าตราบใดที่คุณยังมีหลายเจ้าของ เราก็จะให้สัญญาชั่วคราวคือ 2 ปี ใครทำดีที่สุดก็ได้ไป"

    สำหรับ การดูแลผู้ใต้บังคับบัญชานั้น รองปลัดฯ บอกว่า ต้องมองว่าเขาต้องอยู่ได้ ถ้าเราไม่อยู่ ดังนั้นเมื่อเราอยู่ เราจะสอนให้เขาคิดเองได้ เมื่อก่อนเป็นระดับหัวหน้า งานจะเคร่งเครียดมากกว่านี้ ตอนนี้ก็ผ่อนคลายแล้ว เรามองว่าเป็นผู้ใหญ่ เขาเป็นลูกน้อง จะไปทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องคิดถึงเวลาใครมาทำอะไรเรา เราก็ไม่อยากให้เขามาทำ โดยส่วนใหญ่คนจะมองว่าผมเป็นคนใจดี แต่เวลาเรื่องงาน ผมจะจริงจัง ข้อนี้คนใกล้ชิดจะรู้ดี ก็แยกเป็นเรื่องๆ ไป จึงเป็นที่มาของคติประจำใจคือ "อะไรที่คุณไม่อยากให้ใครทำกับคุณ คุณก็อย่าไปทำกับเขา"

     หลังจากที่คุยเรื่องเครียดๆ กันมาพอสมควร เลยให้รองปลัดฯ เล่าถึงชีวิตประจำวันที่นอกเหนือจากการทำงานว่าทำอะไรบ้าง

    "ทุกวันนี้ทำแต่งาน เข้ากระทรวง 08.30 น. ไม่เกิน 9 โมง ออกจากกระทรวง 20.00 น. เหตุผลคือ หลัง 18.00 น. แล้วไม่มีใครมายุ่ง ทำให้มีสมาธิ สามารถเคลียร์งานได้ ตอนที่เป็นผู้ตรวจฯ จะลงพื้นที่เยอะทุกสัปดาห์ พอมาเป็นรองปลัดฯ ต้องดูงานด้านเอกสาร ต้องเซ็นเอกสาร มีแต่เรื่องประชุมทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวง ในแต่ละวันเราจะเคลียร์งานให้เสร็จภายในวันนั้น จะไม่เหลือค้าง งานจะไม่ให้ติดอยู่บนโต๊ะ"

     เมื่อถามว่าชอบเล่นกีฬาอะไร ท่านรองปลัดฯ รีบตอบว่า "นี่คือข้อเสียของผม ที่ผ่านมาไม่ได้ออกกำลังกายเลย ถือเป็นความเสียนิสัยด้วย ก่อนหน้านี้แม้จะอยู่ต่างจังหวัดแถวอีสาน จะอยู่ที่ทำงานจนถึง 4 ทุ่ม กว่าจะเดินถึงที่พัก ได้นอนก็เที่ยงคืน ตื่นมาก็เดินไปทำงาน เพราะอยู่ติดแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย อากาศจะเย็นสบาย

     ผมไม่มีลูก ตอนนี้ ก็อาศัยมาพักอยู่ใกล้ๆ กระทรวงคนเดียว ไม่ได้อยู่กับภรรยา เรียกได้ว่าทำงานทุกวัน หากมีเวลาว่างก็จะกลับไปเยี่ยมแม่ที่จังหวัดสิงห์บุรี ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ถ้าไม่มีงานก็จะตื่นสายหน่อย ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่อ่านหนังสือก็ดูทีวี แต่ทุกวันนี้ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มา แอปพลิเคชันเยอะแยะเต็มไปหมด วันๆ ก็ต้องคอยติดตามว่ารัฐมนตรีจะสั่งงานอะไร คือเราต้องออนไลน์ตลอด"

     ถึงแม้ท่านจะบอกว่า เป็นคนจริงจัง ซีเรียส (เรื่องงาน) แต่จากการนั่งสนทนา ทำให้รู้ว่าเป็นผู้บริหารอีกคนที่อารมณ์ดี….

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!