- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Tuesday, 14 February 2023 17:33
- Hits: 1673
‘กล้วยไม้ตัดดอก’ ของดีเมืองไทย กับโอกาสเติบโตในตลาดจีน
นักวิจัยจาก 2 สถาบัน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และ ม.มหิดล เผยกล้วยไม้ตัดดอกของไทยมีแนวโน้มส่งออกดีขึ้นในตลาดโลก ชี้ชาวจีนนิยมกล้วยไม้ตกแต่งสถานที่มากขึ้น แนะแนวทางปรับตัวเพิ่มโอกาสส่งออกจีน
ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ ดร.สุเทพ นิ่มสาย วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มนักวิจัยด้านการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า จากการศึกษาโอกาสทางการตลาดและแนวทางการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานกล้วยไม้ไทยในตลาดจีน พบว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกล้วยไม้ตัดดอกรายใหญ่ของโลกและมีการส่งออกมาเป็นระยะเวลานาน โดยในปี 2561 กล้วยไม้ตัดดอกไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 2,287 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเอื้ออำนวย ทำให้มีศักยภาพในการผลิตไม้ดอกไม้ประดับเขตร้อน สามารถพัฒนาพันธ์ได้หลากหลาย สีสันสวยงาม ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกของไทยไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีการส่งออกดอกกล้วยไม้ลดลง โดยเฉพาะปี 2563 ที่มูลค่าลดลงกว่าร้อยละ 37.09 อยู่ที่ 1,484 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกไม้ดอกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี เกาหลีใต้ เป็นต้น ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดกล้วยไม้กำลังกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหลังจากสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้น
ดร.ภูมิพัฒณ์ และ ดร.สุเทพ กล่าวว่า ประเทศจีนถือเป็นตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติมูลค่าการนำเข้าไม้ตัดดอกของประเทศจีน ในปี 2561 พบว่า จีนนำเข้าไม้ตัดดอกจากประเทศเอกวาดอร์มากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งมีมูลค่า 598.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.64 รองลงมาคือประเทศไทย มีมูลค่า 481.96 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.07
การผลักดันของภาครัฐและเอกชนของจีน ทำให้ตลาดประมูลดอกไม้นานาชาติคุนหมิงเป็นผู้นำด้านการประมูลดอกไม้ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งผู้บริโภคชาวจีนยูนนานนิยมใช้ดอกกล้วยไม้ไทยเพิ่มขึ้นในการตกแต่งสถานที่และใช้ในงานพิธีการต่างๆ นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีวัฒนธรรมอันยาวนานกับกล้วยไม้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการนำดอกกล้วยไม้ไปประดับในโรงแรม และงานแต่งงาน รวมทั้งการค้นหากล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักวิจัยกล้วยไม้จีน ฉะนั้นการนำเข้ากล้วยไม้ตัดดอกของจีน ใน 5 ปีข้างหน้าจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการชาวไทย
นักวิจัยกล่าวถึงผลการศึกษาเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทยไปจีน (ตอนใต้) จะเป็นการส่งออกผ่านเส้นทางสายเศรษฐกิจ R3A (ทางบก) และส่งออก ณ สนามบินสุวรรณภูมิ (ทางอากาศ) จากนั้นผู้นำเข้าจะกระจายสินค้าไปยังตลาดปลายทาง ณ เมืองคุนหมิง ประเทศจีน โดยผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทยไปยังตลาดประเทศจีน มี 2 ประเภทกลัก คือ
1. ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศไทย คือ ผู้ประกอบการผลิตกล้วยไม้รายใหญ่ที่อยู่ในเขตภาคกลางจะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกของไทย โดยจะทำการส่งออกไปยังตลาดปลายทางอย่างประเทศสหรัฐ ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศจีน เป็นต้น
2. ผู้ประกอบการส่งออกชาวไทย เป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานกับผู้นำเข้าในประเทศจีน เพื่อจัดหากล้วยไม้ตัดดอกตามคำสั่งซื้อของผู้นำเข้า
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนากล้วยไม้ส่งออกให้มีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งศึกษากลไกตลาดและแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงจะสามารถเพิ่มโอกาสการส่งออกกล้วยไม้ของไทยในตลาดประเทศจีนได้ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหา แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดโซ่อุปทาน ส่งออกกล้วยไม้ของไทยในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปตลาดจีนที่กำลังเฟื่องฟูทั้งออฟไลน์และออนไลน์
“การส่งออกกล้วยไม้ไทยไปยังตลาดจีน และในต่างประเทศยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น น่าจะทำให้ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและกล้วยไม้ไทย” นักวิจัยกล่าวทิ้งท้าย