WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นิด้าคาด GDP ไทยปี 58 โต 4.5% รับศก.โลกฟื้น แนะเร่งรัดใช้จ่ายตั้งแต่Q1

     รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 58 ในภาพรวมจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 เป็นผลจากการส่งออกเติบโตได้ร้อยละ 5.0 การบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.0 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.0 อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.5-2.0 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.0 และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32-34 บาท/ดอลลาร์ สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็น 1,750 เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแผนการพัฒนาตลาดทุนของไทยกับ AEC

        สำหรับ เศรษฐกิจไทยปี 57 ค่อยๆ ฟื้นตัวจากปัญหาทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจภายใน และยังได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ประกอบกับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ยังได้รับกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ทั้งจากการประกาศกฏอัยการศึกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ รัสเซียภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศผันผวน และต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงและการแทรกแซงค่าเงิน ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียลดลง คาดเศรษฐกิจไทยทั้งปี 57 จะเติบโตได้เพียงร้อยละ 1.2

      อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศ สหรัฐซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับสามของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.2 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดนั้น ส่งสัญญาณทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ได้ว่าปี 58 เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.0 ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออกของประเทศไทย

    ขณะที่จีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนร้อยละ 13.7 คาดว่าปี 58 เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นด้วยมาตรการ QE แต่อาจจะชะลอตัวลงบ้างจากแนวโน้มมาตรการภาษีการบริโภค น่าจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้ตลอดทั้งปี 58 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5-1.0 ขณะที่ EU คาดว่าจะใช้มาตรการ QE ในเดือนมกราคม ซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 1.1% ในปีหน้า

   ส่วนความผันผวนทางเศรษฐกิจภายในประเทศรัสเซียที่เกิดขึ้นแต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจรัสเซียที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกด้วย GDP เท่ากับ 2.55 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐจึงไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก ในขณะที่ผลกระทบกับไทยก็น้อยเพราะมีสัดส่วนการค้าเพียงร้อยละ 0.54 แต่อาจกระทบเล็กน้อยในภาคการท่องเที่ยว

     สำหรับ ประเด็นการเข้าสู่ AEC อย่างเป็นทางการในปี 58 นั้น นับได้ว่ามีความสำคัญและเป็นผลเชิงบวกต่อการเติบโตเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากไทยทำการค้ากับ ASEAN คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ในส่วนนี้มีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากความได้เปรียบในเรื่องของตำแหน่งที่ตั้ง และจุดการค้าชายแดน 89 แห่งที่เอื้อต่อภาคการค้า ขณะที่ ASEAN มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% เป็นปัจจัยเชิงบวกและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในปี 58 ซึ่งการลงทุนภายในประเทศได้รับอานิสงค์จากความตกลง AEC ซึ่งจะมีผลในปี 58 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 57 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท จะมีผลต่อการลงทุนในปี 58 ประมาณ 8% จะเป็นปัจจัยบวกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

   ภาคการบริโภคภายในประเทศ แนวโน้มในปี 58 จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากนโยบายของภาครัฐซึ่งมีผลต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน อาทิ นโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง นโยบายช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรกร และนโยบายช่วยเหลือราคายาง นอกจากนี้ภาครัฐยังมีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวโดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ จากมาตราการต่างๆ ดังกล่าวคาดว่าจะมีผลต่อการบริโภคในประเทศขยายตัวประมาณ 4% ในปี 58

     ด้านการลงทุนภาครัฐที่มีโครงการลงทุนต่างๆ หลายด้าน เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม.แล้ว ตลอดจนความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟรางคู่ด้วย MOU กับจีน 400,000 ล้านบาท หนองคาย-แก่งคอย แก่งคอย-กทม. ตลอดจนโครงการเศรษฐกิจดิจิตัลและการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและสำนักงานภูมิภาคโดยมีมาตรการภาษี เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งสิ้น

     แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ผลจากปัจจัยเชิงบวกข้างต้นจะเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ภายใต้การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณและการแปลงนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!