WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การเมืองฉุดเศรษฐกิจไทย ลุ้นอีกทีปี 2558 โต 4-5%

     ไทยโพสต์ : ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 เป็นอีกปีหนึ่งที่สาหัสสากรรจ์พอสมควร เพราะผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ พ.ย.2556  ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก โดยเฉพาะด้านความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

     หากย้อนไปดูการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยของ สำนัก งานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เริ่มต้นคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2557 จะขยายตัวได้ที่ 4% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ช่วงปลายปี 2556 ที่ 5.1% โดยการเติบโตในระดับดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ประเทศไทยสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา และสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จภายใน มี.ค.2557

     ขณะนั้น สศค.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 ยังอยู่ในภาวะซึม การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอลง หรือโตได้ไม่เต็มศักยภาพ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังถูกกระทบ และยังมีปัจจัยพิเศษที่ต้องจับตาคือ "ระบบการเงินของประเทศ" โดยเฉพาะปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน เหตุเพราะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้น จะส่งผล กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคประชาชน จนปัจจัยดังกล่าวอาจกลายเป็นปัญหากดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างได้

    ก่อนที่ สศค.จะออกมาเปรยๆ อีกครั้งว่า แนวโน้มจีดีพีปี 2557 อาจขยายตัวได้ไม่ถึง 3% หากยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในกลางปี นั่นเพราะผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง จนไม่สามารถประเมินความเสียหายที่เกิดแก่ภาคธุรกิจได้อย่างชัดเจน

     ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ จนเป็นผลให้กระทรวงการคลังต้องมีการปรับประมาณการลงอีกครั้ง เหลือ 2.6% ก่อนจะปรับลดลงมาเหลือ 2% และปรับลดลงมาเหลือ 1.4% ด้วยเหตุผลสำคัญว่า          ภาคการส่งออกที่ไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ยังมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐไม่เดินหน้าได้ตามแผนที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ส่วนเอกชนยังคงรอประเมินความชัดเจนจากโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ขณะที่การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศยังดูตึงๆ ตัวอยู่บ้าง นั่นเพราะยังมีปัญหา "หนี้ครัวเรือน" ที่ต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาด้วยแต่ดูเหมือนว่าความผิดพลาดของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะร้ายแรงเกินเยียวยา เมื่อกระทรวงการคลังออกมาประเมินคร่าวๆ อีกว่า ปีนี้จีดีพีอาจโตได้ราว 1% ด้วยเพราะผลกระ ทบจากปัญหาราคาน้ำมันที่ผันผวน การส่งออกที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักยังย่ำแย่ การเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้ากว่าคาดอย่างมาก แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นและอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนหลายแสนล้านบาท แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเหมือน "ไฟตกน้ำ" ผลที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้สะท้อนกลับมามากนัก

    ดังนั้น จึงไปมองกันว่าอานิสงส์ของมาตรการดังกล่าว จะได้เห็นชัดเจนกันในช่วงต้นปี 2558

    ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ดูเหมือนจะออกอาการอกหัก และผิดหวังกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2557 อยู่พอสมควร เมื่อจีดีพีไตรมาสแรกออกมาแล้วกลับติดลบ 0.6% ด้วยเหตุผลเรื่องการใช้จ่าย ภาคครัวเรือนและการลงทุนที่ปรับตัวลดลงจากปัญหาทางการเมือง ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่สภาพัฒน์มีการปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 1.5-2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 3-4%

    'อาคม เติมพิทยาไพสิฐ'รมช.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการ สศช. ให้เหตุผลว่า ในขณะนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะล่าช้าออกไปจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้

   ดังนั้น จึงสรุปได้คร่าวๆ ว่า การปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ของ สศช. มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อ การจัดตั้งรัฐบาลมีแนวโน้มล่าช้า ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดในการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวล่าช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

    แต่ดูเหมือนว่า 'ความโชคร้ายของเศรษฐกิจไทย' จะแรงจนฉุดไม่อยู่ จนเป็นผลให้ สศช.ต้องออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลงเหลือ 1% ด้วยเพราะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2557 ที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ราคาส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง   "การที่จะทำให้จีดีพีปี 2557 ขยายตัวถึง 1% นั้น จีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีจะต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 1% ซึ่ง  สศช.ยังมีความหวังกับภาคการส่งออกในช่วงที่เหลืออยู่ว่าจะดีขึ้น" อาคมระบุ

    ขณะที่ฟากฝั่ง "ธนาคารแห่งประเทศไทย" หรือ ธปท.มีการประเมินในเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2557 จะขยายตัวได้ใกล้ระดับ 3% โดยยังมีปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป  คือ สถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ก่อนที่จะมีการปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 2.7% เนื่องจากการชะลอลงของอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลงชัดเจนในครึ่งปีแรก ส่วนแรงกระตุ้นที่ยังได้จำกัดในปีนี้ ได้แก่ การเบิกจ่ายของรัฐบาล ที่คาดว่าปีงบประมาณ 2557 จะเบิกจ่ายได้ราว 90.5%

     หลังจากเข้าสู่ช่วงกลางปี 2557 ธปท.ก็ได้ออกมาปรับลดประ มาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงอีกครั้ง โดยครั้งนี้ดูเหมือนจะรุนแรง  และหนักหน่วงที่สุด คือ ลดลงเหลือ 1.5% หลังจากที่จีดีพีในช่วง ครึ่งปีแรก ขยายตัวติดลบ 0.5% เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ส่ง ผลกระทบต่อภาคการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศอย่างหนัก

    และล่าสุด ธปท.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ลดลงเหลือ 0.8% ด้วยเหตุผลที่สืบเนื่องมาจากปัญหาการเมืองที่ว่า ภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ช้าตามภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐก็ทำได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนให้ล่าช้าตามไปด้วย

   นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 2558 คาดว่าการขยายตัวของจีดีพีไทยจะขยายตัวได้อย่างน้อย 4% เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล อาทิ รถไฟรางคู่ ประมาณ 2 แสนล้านบาท รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่จะเข้าสู่ระบบในช่วงต้นปี ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวได้ 3.5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

   สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจในปีนี้ ยังคงเป็นเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีการฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้

    ทั้งนี้ มองว่าในปีนี้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีความซับซ้อนมากขึ้น ธนาคารกลางทั่วโลกจะต้องติดตามนโยบายทางการเงินของเฟดว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะมีการปรับนโยบายทางการเงินให้มีความเหมาะสม โดยการดำเนินนโยบายทางการเงินของไทยสามารถผ่อนคลายได้มากขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

    นอกจากนี้ ต้องประเมินการทำงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐว่าสามารถทำได้ตามโรดแม็พที่วางไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการเดินหน้าการเลือกตั้งในช่วงปลายปี รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลังจากได้มีข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ ระหว่างรัฐบาลไทยและจีน

    ด้าน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จีดีพีไทยปีนี้คาดจะเติบโตที่ 4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตช้า แม้จะมีการลงทุนภาครัฐเป็นพระเอก แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และไทยยังเผชิญปัญหาการบริโภคและหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากต่างประเทศที่กดดัน ได้แก่  ค่าเงิน รัสเซีย และน้ำมัน ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับมือให้ดี

   ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศ เรื่องสำคัญคือความรวดเร็วในการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ หากทำได้ก็จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะแม้มีการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน การลงทุนในปีนี้ยังคงเร่งตัวได้ไม่แรงนัก จากขั้นตอนการเบิกจ่ายงบ และจากสภาพคล่องในตลาดการเงินที่จะเริ่มตึงตัวมากขึ้นตามการเร่งตัวของสินเชื่อเมื่อเศรษฐกิจฟื้น

    "การลงทุนภาครัฐจะมาต้นปีนี้ ขอฝาก 2 เรื่อง 1.ขอฝาก ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนให้ได้ว่าจะลงทุนระยะยาว ต่อให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลโครงการลงทุนจะดำเนินต่อไป 2.ขอเตือน เอกชนว่าอย่าไปรอภาครัฐอย่างเดียว เพราะถ้าคุณรอ อย่าลืมว่าปีนี้สภาพคล่องตึงตัว ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น ถ้ามั่นใจน่าจะใช้โอกาสช่วงนี้ลงทุน"

    ทางด้าน นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตในระดับ 3-3.5% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการท่องเที่ยวที่จะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับ 3% และการลงทุนภาครัฐตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในปี 2557 เนื่องจากอีไอซีประเมินว่าแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจอย่างการลงทุนภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้า จากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว อีกทั้งการบริโภคภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือน และจะฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ

                อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม คือ ประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายของรัฐ เพราะการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน เป็นไปอย่างน่าผิดหวัง บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ หากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบประมาณ 68,000 ล้านบาท และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินสนับสนุนชาวนาและการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ก็อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์

    นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า จีดีพีไทยปีนี้คาดโตที่ 3.5% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดการณ์ไว้มาก ทั้งการบริโภคที่ยังประสบปัญหา การลงทุนที่ยังรอการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่เป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ จะยังไม่เข้าสู่ระบบเต็มที่ โดยประเมินเม็ดเงินก่อสร้างจะเข้าสู่ระบบจริงในปี 2559-2560 ตามโครงการเร่งด่วนและแผนพัฒนารถไฟ

    นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีการฟื้นตัวเปราะบาง ยุโรปยังน่าเป็นห่วง ขณะที่ญี่ปุ่นยังต้องจับตาการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (คิวอี) ทำให้การส่งออกของไทยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 3.5% เท่านั้น อีกทั้งราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรง ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น รัสเซีย และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีก่อน ถึงต้นปีนี้ด้วย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากรัสเซียมีสัดส่วนรายได้ถึง 10% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

    "ปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ นอกจากเรื่องจากเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่ล่าช้ากว่าคาดแล้ว ยังมีในเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก แม้จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่ใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด แต่ยังกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักหลายตัว และรายได้เกษตรตกต่ำต่อเนื่องด้วย" นายเบญจรงค์กล่าว

    โศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2557 ที่เป็นผลมาจากปัญหาการเมือง ดูเหมือนจะเป็นประเด็นใหญ่และสำคัญที่สุดที่ทำให้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังจากนี้คงต้องมาลุ้นกันต่อว่า ปีหน้าฟ้าใหม่ ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร จะฟื้นตัวดีขึ้นตามคาดการณ์ และสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพที่ 4-5% ได้หรือไม่.

   "การลงทุนภาครัฐจะมาต้นปีนี้ ขอฝาก 2 เรื่อง 1.ขอฝากภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น ให้เอกชนให้ได้ว่าจะลงทุนระยะยาว ต่อให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลโครงการลงทุนจะดำเนินต่อไป 2.ขอเตือนเอกชนว่า อย่าไปรอภาครัฐอย่างเดียว เพราะถ้าคุณรอ อย่าลืมว่าปีนี้สภาพคล่องตึงตัว ต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น ถ้ามั่นใจน่าจะใช้โอกาสช่วงนี้ลงทุน"

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!