WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Aอนสรณ ธรรมใจม.รังสิตคาด GDP ปี61 ที่ 4.1-4.7%,อัตราเงินเฟ้อ1.0-1.5%,ส่งออกโต 6-8% แต่ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังยืดเยื้อ

      นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้เคยประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่1.0-1.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-8% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยตั้งข้อสังเกตว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนักและโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมืองจะสามารถแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

       นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งของ คสช. และมีการสืบทอดอำนาจของ คสช.จากสัญญาณการเซ็ทซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองผ่านคำสั่ง คสช. 53/2560 จำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเดือนเมษายนการไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐสร้างความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งจะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นขาดความน่าเชื่อถือ อาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหม่ได้อาจเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุน คสช ให้สืบทอดอำนาจ และ ฝ่ายยึดถือหลักการประชาธิปไตย หวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 กระทบเศรษฐกิจไทยภาพรวมโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชาวบ้าน และ ภาคการลงทุนอาจได้รับผลกระทบรุนแรง หากย้อนกลับไปศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองไทยเมื่อ 26-27ปีที่แล้ว หลังการรัฐประหาร รสช 23 ก.พ. พ.ศ. 2534 ตามด้วยเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านการสืบทอดอำนาจ รสช. จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 หลังจากนั้นไทยก็ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมีรัฐบาลมากถึง 6 รัฐบาล (คณะรัฐมนตรีมากกว่า 10 ชุด)

       ในช่วงเวลาสี่ปีกว่าๆก่อนวิกฤติปี 2540 อายุเฉลี่ยรัฐบาลไม่ถึงหนึ่งปี และเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งที่นำมาสู่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 นอกเหนือจากปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง การไม่ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน การก่อหนี้ต่างประเทศและการลงทุนเกินตัว รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความไม่ต่อเนื่องของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและความอ่อนแอและไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลผสมเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ซ้ำเติมวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ให้รุนแรงยิ่งขึ้น แต่วิกฤตินี้ก็ได้ทำให้เกิดโอกาสและแรงกดดันให้การปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่และนำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

     นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการจัดการเลือกตั้งว่าหากประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลา จัดการเลือกตั้ง (หากมีขึ้นในช่วงปลายปี) อย่างน่าเชื่อถือโปร่งใสและเป็นธรรม ทศวรรษข้างหน้าจะเป็นทศวรรษแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย และจะวางรากฐานสำคัญในการที่ “ไทย"จะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป หากไทยประสบปัญหาในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยการจัดการเลือกตั้งขาดความน่าเชื่อถือมีการสืบทอดอำนาจโดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งรุนแรงขึ้นความเสี่ยงนี้จะไม่ใช่ความเสี่ยงเฉพาะปี พ.ศ. 2561 เท่านั้น ปัญหาอาจยืดเยื้อออกไปเป็นความเสี่ยงในระยะปานกลางและระยะยาวขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะร่วมหาทางออกปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

      อินโฟเควสท์

ชี้ศก.ปีนี้พุ่งแน่ 4% นักวิชาการห่วงโตกระจุก 'ส่วนบน'

     แนวหน้า : เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้ประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีและตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 โดยระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี พ.ศ. 2561 จะอยู่ที่ 4.1-4.7% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.0-1.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 6-8% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก

      พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน ยังไม่กระจายตัวมายังเศรษฐกิจฐานรากมากนัก และโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้มีการแปรเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญจึงยังทำให้ปัญหาการกระจายรายได้และความมั่งคั่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อต่อไป

      ขณะที่ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้คือยังกังวลปัจจัยการเมือง หลังจากที่ได้มีสัญญาณเลื่อนการเลือกตั้งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินเศรษฐกิจไทยใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังเดือนเมษายน 2561

      ทางด้าน นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร (MPPM Executive program) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังเติบโตได้ร้อยละ 4.0 - 4.5 จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 3.8

       ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มต่างประเทศส่งสัญญาณเชิงบวกทั้งจากฝั่งยุโรปที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น  ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงเติบโตอย่าง ต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จำนวน นักท่องเที่ยวขยายตัวถึงร้อยละ 20.9 ส่วนในแง่รายได้เติบโตร้อยละ 24.4 โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่ยังให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 1 รองจากยุโรป ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ว่า ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นผลเชิงบวกต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งประเมินว่าในปี'61 ภาคการส่งออกของไทยจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6

     ส่วนปัจจัยบวกในประเทศนั้น ภาครัฐยังคงใช้นโยบายการคลังเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเร่งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2560 ที่ยังคงค้างอยู่และจัดตั้งงบประมาณปี 2561 ที่สูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท รวมถึงงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ โดยภาครัฐมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขนาดใหญ่ของรัฐบาลหลายโครงการ ที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ให้เพิ่ม นอกจากนี้การกำหนดการเลือกตั้งจะ ส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นในสายตา ต่างประเทศและบรรยากาศในการลงทุน

      "อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง คือ เศรษฐกิจฐานรากของไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่เป็น เพราะสัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าภาครัฐจะเร่งรัดลงทุนหลายโครงการเป็นจำนวนมาก แต่การกระจายตัวเม็ดเงินของรายได้ยังไม่ดีนัก รวมถึงการกระจายตัวของประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ซึ่งหากสามารถดำเนินการแก้ไขในจุดเหล่านี้ได้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 สดใสมากขึ้น"นายมนตรี กล่าว

2561 ปีทองเศรษฐกิจ กูรูประสานเสียงจีดีพีไทยขาขึ้น

     ไทยโพสต์ : ผ่านพ้นปีไก่ทองไปแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวขยายตัวได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายประเมินเอาไว้มาก ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2560 ที่ผ่านมา ทำได้ดีในระดับที่น่าพอใจ

       โดย "กระทรวงการคลัง" ยังแอบลุ้นลึกๆ ว่าภาพรวมจีดีพีของไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้สูงกว่าคาดการณ์ที่ 3.8% นั่นเพราะปัจจัยหนุนที่มีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และหลายปัจจัยก็เติบโตได้ดีกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกที่ปีนี้ดูเหมือนจะ "ท็อปฟอร์ม" อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะจากตัวเลขในช่วง 11 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) พบว่าตัวเลขการส่งออกขยายตัวแตะระดับ 10% ไปแล้ว สูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 8.5% ทำให้มีความเป็นไปได้สูงเมื่อท้ายที่สุดแล้วตัวเลขการส่งออกของปี 2560 จะขยายตัวได้ในระดับ 2 หลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง

      ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากชะลอตัวอยู่หลายปีในช่วงก่อนหน้านี้ คงหนีไม่พ้นภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่กลับฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งนั่นหมายรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ก็ยังเติบโตได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน โดยคู่ค้าสำคัญหลักๆ ได้แก่ จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มดังกล่าวยังขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       ปี 2560 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี และอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจโลกในปี 2560 จะขยายตัวได้สูงถึง 3.9% จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 3.7% และเชื่อว่าแนวโน้มที่ดีอย่างนี้จะยังคงส่งผลบวกต่อเนื่องไปจนถึงปี 2561 ด้วย และภาพเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งนี้เอง ได้ช่วยให้ภาพการส่งออกของไทยจะยังคงแจ่มใสต่อไปได้ โดยเมื่อรวมกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังเติบโตได้เป็นอย่างดีแล้ว นั่นเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า การส่งออกจะยังคงเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      "สุวิชญ โรจนวานิช" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจปี 2561 จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตที่ระดับ 3.8% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.3-4.3% ซึ่งเหตุผลหลักๆ ยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญตามกรอบรายจ่ายลงทุนภาครัฐในปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ก็ยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจ และยังช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้เกิดมากขึ้นด้วย

       ขณะที่ "สมชัย สัจจพงษ์" ปลัดกระทรวงการคลัง ก็ยังเชื่อมั่นว่าปี 2561 นี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งให้สามารถเติบโตได้ในระดับที่ใกล้เต็มศักยภาพ หรือโตเกิน 4% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานของเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปด้านต่างๆ ภายในประเทศ สะท้อนได้ชัดเจนจากอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ที่จัดอันดับโดยธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งไทยขยับขึ้นมาสูงถึง 20 อันดับ ไปจนถึงการจัดอันดับจาก World Economic Forum ซึ่งไทยก็มีอันดับที่ดีขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงประเด็นเรื่องการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนอย่างมาก เรื่องนี้ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการลงทุนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

      ปัจจัยเรื่อง "การส่งออก" ก็ยังเป็นแรงส่งที่ดีให้กับเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ไม่แพ้พระเอกตลอดกาลอย่าง "ภาคการท่องเที่ยว" ที่ปีหน้าหลายฝ่ายก็ยังคาดการณ์และเชื่อมั่นว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีศักยภาพไม่แพ้ช่วงที่ผ่านมาเลยทีเดียว

      แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การบริโภคและการลงทุนเอกชนที่แม้ในปี 2560 อาจจะยังเห็นภาพของทั้ง 2 ปัจจัยไม่ได้มีการเติบโตอย่างหวือหวานัก โดยหลายฝ่ายมองว่าประเด็นหลักที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนเอกชนยังนิ่งอยู่มาจาก "ความเชื่อมั่น" ที่ยังขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ภาคเอกชนยังรอความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะจากเรื่องการเมือง การเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนปีที่ผ่านมาจะ "ชะลอ" ไปบ้าง

      ส่วนประชาชนทั่วไปยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่เข้ามา ว่าอาจยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้น ด้วยภาวะความวิตกกังวลจากราคาสินค้าครองชีพหลายอย่างยังอยู่ในระดับสูง แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะยืนยันว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวได้ดีขึ้น แต่รากหญ้ายังมองว่าเป็นการขยายตัวของ "เศรษฐกิจระดับบน" เท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจระดับล่างยังคงกระท่อนกระแท่น จึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่จะได้เห็น "ความระมัดระวังในการใช้จ่ายของประชาชนในระดับรากหญ้าเพิ่มมากขึ้น"

      แต่หลายฝ่ายก็เชื่อมั่นว่าปัจจัยเรื่องการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนจะกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2561 นั่นเอง

     ตัดภาพมาที่ "สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์" โดย  "ปรเมธี วิมลศิริ" เลขาธิการ สศช. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่าจะขยายตัวในช่วง 3.6-4.6% โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะได้เห็นการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมา และมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

     เรียกง่ายๆ ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเครื่องยนต์ติดแล้ว และเริ่มติดในหลายๆ เครื่องยนต์พร้อมกัน ทำให้ในปี 2561 จะได้เห็นภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมการจ้างงาน คำสั่งซื้อวัตถุดิบ การใช้จ่าย ภาคเอสเอ็มอี ไปจนถึงภาคเศรษฐกิจฐานรากนั่นเอง

       ส่วนภาคเอกชนก็ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีนี้ที่ระดับ 3.5-4% โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ "ภาคการส่งออก" ที่ยังเชื่อว่าในปี 2561 จะเติบโตได้ในระดับที่น่าพอใจ

     คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2561 ว่า เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ทำให้คำสั่งซื้อสินค้ามีเข้ามาเพิ่มขึ้น

      ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเชื่อว่าปี 2561 ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างสำคัญ ยังคงเป็น "การลงทุนภาครัฐ" ซึ่งเรื่องนี้จะมีผลถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนด้วย โดยมองว่าแนวโน้มจีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 นั้น จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4.2% และครึ่งหลังขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.9%

       ด้านสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2561 จะเร่งตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนก็จะเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากที่อ่อนแอมาหลายปี โดยจากปัจจัยเสริมต่างๆ นี้ ทำให้คาดว่าในปี 2561 จะเห็นการขยายตัวของจีดีพีไทยที่ระดับ 4% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% นั่นเอง

      "ปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม นั่นเพราะปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ ปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลให้การส่งออกพลิกมาเป็นบวก และถ้าการส่งออกฟื้นตัวได้ต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาส ก็จะได้เริ่มเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น คนเริ่มกลับมาลงทุน การบริโภคก็จะเริ่มกลับมา ตรงนี้เองเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าจะไม่เห็นภาพของเศรษฐกิจไทยกลับไปชะลอตัวลงต่ำกว่า 3% อย่างแน่นอน" "อมรเทพ จาวะลา" ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย CIMBT ระบุ

           "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" ก็ยังคงมองว่าปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2560 เช่นกัน โดยได้คาดการณ์แนวโน้มจีดีพีปี 2561 ไว้ที่ระดับ 3.9% ขณะที่ภาพการส่งออกอยู่ที่ 3.2% เพราะยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร การบริโภคไม่เร่งตัว ส่วนหนึ่งมาจากอัตราหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่แม้ว่าจะลดลงจากก่อนหน้านี้ก็ตาม

     "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการ ธปท. ชี้ถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2561 ว่า เศรษฐกิจในปีหน้าคาดว่าจะเริ่มมีการปรับตัวได้ดีขึ้นจากหลายๆ ปัจจัย ดังนั้น ธปท.จะยังใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อเอื้อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป และเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวที่เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่เห็นแรงกดดันของเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ธปท.จะไม่สร้างจุดเปราะบางให้เกิดขึ้น แม้ว่าระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ตาม

       เชื่ออย่างยิ่งว่าปี 2561 จะยังได้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยวิธี กระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางไว้ แม้ว่าปี 2561 อาจจะยังไม่ใช่ปีทอง ปีที่เศรษฐกิจไทยพุ่งขึ้นแรงที่สุด แต่ก็น่าจะเป็นปีที่ดีขึ้นจากที่ผ่านมาอยู่ไม่มากก็น้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนของ "สถานการณ์การเมืองในประเทศ" หลังจากรัฐบาลประกาศกรอบเวลาการเลือกตั้งที่ชัดเจนขึ้น ระหว่างทางก่อนการเลือกตั้ง ภาพของเครื่องชี้เศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ก็เริ่มติดขึ้น บางตัวเริ่มเดินหน้าได้ หรือบางตัวก็เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

      "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.การคลัง อีกหนึ่งหน่วยงานหัวเลี้ยวหัวแรงหลักในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล ยังยืนยันที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลจักรสำคัญ คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยในภาพใหญ่ ขณะที่ภาพรองลงมาอย่างเศรษฐกิจฐานราก ก็จะดำเนินการกระตุ้นควบคู่ไปผ่านโครงการสวัสดิการรัฐ และมาตรการต่างๆ ที่จะส่งผ่านเม็ดเงินเพื่อไปอัดฉีดให้เศรษฐกิจฐานรากมีการตื่นตัวมากขึ้น

     อย่างไรก็ดี หลังจากนี้เชื่อว่าในไม่ช้าหลายฝ่ายจะได้เห็นภาพ "ปีทองของเศรษฐกิจไทย" การเติบโตของเศรษฐกิจแบบกระจาย ไม่ใช่กระจุกเหมือนที่ผ่านๆ มาอย่างแน่นอน.

จับตาปัจจัยเศรษฐกิจบวก-ลบ

     ไทยโพสต์ : แม้ว่าหลายหน่วยงานจะออกมาประเมินกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากแรงส่งในปีนี้ที่ยังมีผลช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงเดินหน้าได้ต่อ แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องจับตา เพราะยังมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปด้วย

      โดยปัจจัยบวกที่จะมีผลในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญคงมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญในหลายประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลดีอย่างยิ่งกับ "ภาคการส่งออกของไทย" ให้ยังคงเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2561จะเป็นปีสำคัญของภาคการส่ง ออกไทย ที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์อย่างมากจากปัจจัยนอกประเทศ เพราะปี 2561 จะเป็นปีที่การค้าของโลกกลับมาโตได้สูงกว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลก

     ขณะที่ 'การลงทุนของภาครัฐ' ก็ยังเป็นอีกแรงส่งสำคัญที่ไม่เพียงจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีผลในแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ การใช้จ่ายของภาครัฐผ่านนโยบายต่างๆ อาจจะมีผลช่วยทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมด้วย

      'ภาคบริการและการท่องเที่ยว' ก็ยังคงเป็นอีก พระเอก สำคัญในการสร้างรายได้แสนงามให้ประเทศ และเมื่อรวมกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรอง ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจรายจังหวัดคึกคักมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

      ตัดมาที่ 'สถานการณ์การเมืองในประเทศ' ต้องยอมรับว่ามีความนิ่งขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศกรอบเวลาการเลือกตั้งชัดเจน ยิ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่ารัฐบาลได้เดินหน้าตามแผนโรดแมปที่วางไว้ นั่นถือเป็นผลดีทั้งในแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศ ส่วนในมุมของต่างประเทศก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และหลายประเทศก็มีการตอบรับเรื่องนี้ในแง่ดีเช่นกัน

      ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเฝ้าติดตาม ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องกำลังซื้อภายในประเทศที่อาจขยายตัวไม่มากตามที่คาดการณ์ จากปัจจัยหลักในเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นตัวฉุดความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค

     นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศที่ต้องเฝ้าติดตาม อาทิ ความขัดแย้งกันในหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น คาบสมุทรเกาหลี ตะวันออกกลาง ตรงนี้แม้ว่าอาจจะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่ในทางอ้อมนั้นหากส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ท้ายที่สุดผลร้ายก็มาถึงเราได้เช่นกัน รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมีการประกาศออกมาอย่างต่อเนื่องในปี 2561 สอดรับกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีก 3-4 ครั้ง ซึ่งแม้ตลาดจะรับรู้ข่าวนี้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังเป็นประเด็นให้ติดตามต่อเช่นกัน

       เรื่องนโยบายด้านการเงินในตลาดโลก และข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับจีนนั้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ติดตามถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แต่จากพื้นฐานเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในของประเทศไทยที่แข็งแกร่ง การมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ทำให้เชื่อว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านนโยบายการเงิน ขณะนี้แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2561 เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะแข็งค่าขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย "พรชัย ฐีระเวช" ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุ.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!