WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Kbank Predee KBANK ยันไม่พบพฤติกรรมลูกค้าฝ่าฝืนกฎเกณฑ์คริปโตเคอร์เรนซี่ของธปท. - คาดเฟดขึ้นดบ. 3 ครั้งในปีนี้

      นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยงาน "พิธีลงนามความร่วมมือโครงการป้ายของดีจังหวัดเพื่อเข้าสู่การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหอการค้าไทยกับธนาคารกสิกรไทย" ว่า ไม่มีบัญชีลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี่ ชี้ยังปฎิบัติตามเกณฑ์ของธปท. ส่วนการระดมทุนผ่าน ICO รอก.ล.ต.ออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ชี้อยู่ระหว่างศึกษา Banking agent พร้อมคาดเฟดจะขึ้นดบ.ปีนี้อีก 3 ครั้ง ยันลูกค้ากลุ่มทีวีดิจิทัลยังชำระหนี้ตามปกติ

     จากการที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือสถาบันการเงินไม่ให้ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซีนั้น ทางธนาคารยังไม่พบบัญชีที่เข้าข่ายตามเกณฑ์ของธปท. แต่หากพบธุรกรรมที่ผิดปกติจะทำการสอบถามไปยังลูกค้าเจ้าของบัญชีก่อน แต่ขอยืนยันว่าทางธนาคารไม่ได้มีการปิดบัญชีของลูกค้าแต่อย่างใดแต่ในแนววิธีปฎิบัติหากพบธุรกรรมผ่านบัญชีที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบก็อาจจะมีการระงับธุรกรรม อย่างไรก็ตาม ทางการจะมีการออกแนวทางในการดูแลเพิ่มเติมให้มีความชัดเจน และ ครอบคลุมมากขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้

       ส่วนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนในรูปแบบ ICO ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากทางก.ล.ต.อีกครั้งถึงจะประเมินถึงแนวทางปฎิบัติต่อไปได้ ซึ่งแนวทางกำกับของทางการที่จะออกมานั้นคาดว่าจะคิดออกมาอย่างรอบคอบ เนื่องจากเงินสกุลดิจิทัลก็มีทั้งข้อดี และข้อเสียเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ซึ่งต้องกำกับดูแลอย่างเหมาะสม และ จำกัดความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบโดยรวม

      หลังจากนี้แบงก์จะต้องสังเกตุพฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งเจ้าหน้าที่แบงก์ก็ต้องสังเกตุ และ ใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เข้าข่ายตามข้อห้ามของทางการ อย่างไรก็ตาม แบงก์ไม่มีสิทธิ์ที่จะระงับธุรกรรม หรือ ไม่รับการทำธุรกรรมของลูกค้า"นายปรีดี กล่าว

       ส่วน Banking agent ขณะนี้แต่ละธนาคารอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง ซึ่งหาก Banking agent ทำความเสียหายธนาคารก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้ง ต้องประเมินถึงต้นทุน และ พฤติกรรมของลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันก็มีช่องทางการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่ Banking agent ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความจำเป็นต่อลูกค้าบางกลุ่ม บางพื้นที่

      กรณีที่ทางประธานเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยส่วนตัวธนาคารคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง และ ธปท. น่าจะยังดอกเบี้ยในระดับ 1.5% ในปีนี้ แต่ปลายปีนี้อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาได้ ซึ่งธนาคารก็คาดว่าจะไม่ปรับดอกเบี้ยทั้งเงินกู้ และ เงินฝาก เนื่องจากการแข่งขันทางด้านสินเชื่อไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก และ หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีธนาคารก็อาจจะกลับมาแข่งขันทางด้านเงินฝากอีกครั้ง

     แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารยังขยายตัวต่อเนื่องภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี และ ยังเห็นลูกค้าเบิกใช้วงเงินเพื่อลงทุนใน EEC อย่างต่อเนื่องทำให้ธนาคารมั่นใจว่าปีนี้สินเชื่อยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 5-7%

     สถานการณ์ทีวีดิจิทัลในส่วนของลูกค้าธนาคารยังมีการชำระคืนเป็นปกติตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ทีวีดิจิทัลในปัจจุบันไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก็ต้องมาประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าปัญหาเกิดจากอะไรเพื่อธนาคารจะได้ให้ความช่วนเหลือเพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบโดยรวม รวมถึงธนาคารยังต้องมีความระมัดระวังในการควบคุมคุณภาพสินเชื่ออีกด้วย

      ล่าสุดธนาคารร่วมกับ หอการค้าไทย ยกระดับ “โครงการป้ายของดีจังหวัดเข้าสู่ระบบการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” โดยนำQR Code มาใช้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะนำบริการรับชำระเงินผ่าน QR Code เข้าไปติดตั้งให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งบริการมีทั้งรูปแบบแอพพลิเคชั่น K Plus Shop และเครื่องรับชำระเงิน EDC หนือMini EDC รองรับการใช้งานตามขนาดของกิจการทุกรูปแบบ เพื่อช่วยให้ร้านค้าสามารถสร้าง QR Code เป็นมาตรฐานประจำร้าน ที่สามารถรองรับโมบายแบงก์กิ้งได้ทุกธนาคาร

         QR Code ของธนาคารยังมีฟังก์ชั่นพิเศษให้ร้านค้าสามารรับชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดของ Alipay และ WeChat Pay ได้ด้วยช่วยเพิ่มโอกาสให้ร้านค้ารองรับการใช้จ่ายของลูกค้า และนักท่องเที่ยวจีนมั่นใจว่าจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจไทย และ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสดในอนาคตตามนโยบายไทยแลนด์4.0

       สำหรับเป้าหมายร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการภายในสิ้นปีนี้จะขยายเครือข่ายร้านค้าให้เข้าสู่การชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 4,500 ร้าน โดยจะนำร่อง 4 ร้านค้า ใน 4 จังหวัดก่อน ได้แก่ ลิขิตไก่ย่าง จ.นนทบุรี ร้านทองทรัพย์ หมูทุบ จ. ปทุมธานี ,ร้านรินขนมไทย จ. ฉะเชิงเทรา และ ร้าน Café Del Mar จ. ชลบุรี โดยจะเร่งขยายไปยังจังหวัดอื่นๆต่อไป และ ครบ4,500 รายในปีนี้

     จากปัจจุบันหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ได้เริ่มโครงการฯดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 53 ปัจจุบันมีร้านค้าและสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 8,000 ราย จากทั่วประเทศ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ 1 ร้านอาหาร 2 ร้านของที่ระลึกและของฝาก 3 โรงแรมและที่พัก

     สำหรับ คืบหน้าร้านค้าผ่าน OR Code ของธนาคารปัจจุบันมีอยู่ 900,000 ร้านค้าในปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายจำนวนร้านค้าไว้ที่ 1 ล้านร้านค้า ขณะที่ยอดธุรรรมการผ่าน ORCode ของธนาคารสูงถึง 400 ล้านบาท หลังออกจาก sand box ของธปท. เชื่อมั่นว่าหลังจากจำนวนเม็ดเงินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

สศค.ยันศึกษารายละเอียดกรณีลงทุนสกุลเงินดิจิทัลเสร็จใน 1 เดือน พร้อมปรับปรุงกม.ที่เกี่ยวข้องหากมีความจำเป็น

      นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า จากปัจจุบันที่เริ่มเห็นกระแสการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งเป็นการลงทุนที่ยังไม่ได้มีกฎหมายใดเข้ามารองรับนั้น นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังได้สั่งการให้สศค. ศึกษารายละเอียดเรื่องการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยพิจารณาว่ามีกฎหมายของหน่วยงานใดที่พอจะเกี่ยวข้องกับการดูแลสกุลเงินดิจิทัลได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เงินตรา, พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน, พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เป็นต้น

        ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือมีการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลเรื่องการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล ก็จะต้องมีการนำเสนอจากกระทรวงการคลัง เพื่อให้คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

      "ตอนนี้เรากำลังศึกษาว่าในมุมของ ธปท.มีอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องถ้าจะต้องดูแลเรื่องสกุลเงินดิจิทัล เช่น พ.ร.บ.เงินตรา หรือ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน ที่จะบังคับใช้ 16 เม.ย.นี้ ส่วน ก.ล.ต.ก็มี พ.ร.บ.หลักทรัพย์ แต่ไม่ว่าจะแตะส่วนไหน กระทรวงการคลังก็มีหน้าที่ต้องนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสนช. ...ไม่ว่าจะต้องแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายขึ้นมาใหม่กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าของเรื่อง" นายพรชัยกล่าว

       พร้อมระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลนั้น กระทรวงการคลังขอเตือนประชาชนที่จะเข้าไปลงทุนว่าควรศึกษารูปแบบการลงทุนให้ละเอียดรอบคอบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์, ผู้ขายผลิตภัณฑ์, ความชัดเจนของแผนธุรกิจว่าเงินที่ได้ลงทุนแล้วจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนใด มีการบันทึกข้อมูลในการลงทุนหรือไม่ ซึ่งเมื่อทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนแล้วจึงค่อยใช้วิจารณญานในการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้ไม่เกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต

    "สิ่งที่ควรจะต้องรู้ คือใครเป็นผู้ที่ทำสัญญา ผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีแผนธุรกิจชัดเจนหรือไม่ ใครเป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ เงินที่ลงทุนแล้วไปไหน นำไปใช้ประโยขน์เรื่องใด และสามารถขายการลงทุนได้อย่างไร มี trading data หรือไม่ และมีอะไรมารองรับการค้านี้ เมื่อได้รับคำตอบต้องใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจลงทุน" ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค.ระบุ

                              อินโฟเควสท์

ก.ล.ต. เตือนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแล-ผู้ลงทุนจึงไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ

     นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตามที่มีคนสนใจระดมทุนด้วยการออกออกไอซีโอ และเริ่มมีการชักชวนให้ประชาชนลงทุนในไอซีโอและคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการเตือนและให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งไอซีโอและคริปโตเคอเรนซีจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก เพราะการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงในหลายแง่มุม หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจอย่างแท้จริงจะเสียหายได้โดยง่าย

      นอกจากนี้ อาจมีผู้ฉวยโอกาสในการสร้างกระแสโดยนำโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนมาเป็นจุดขาย หรือโครงการที่ไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และ/หรือนำเรื่องเทคโนโลยีมาบังหน้า เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ลงทุน

   ผู้ที่ได้รับการชักชวนหรือคิดที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นต้องทำความเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ทั้งสินทรัพย์ที่จะลงทุน ตัวกิจการ สิทธิของผู้ลงทุน และโครงสร้างของโทเคนที่จะได้รับจากการลงทุน และประเมินความเหมาะสมเทียบกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนก่อนลงทุนเสมอ ตลอดจนระวังความเสี่ยงจากการที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ธุรกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลความเสี่ยงและไม่มีการกำหนดมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์และอื่น ๆ

      ปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแลการออกไอซีโอผู้ลงทุนจึงไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ประกอบกับโครงการที่ระดมทุนอาจยังเป็นเพียงแนวคิด และการดำเนินการตามโครงการที่ระบุอาจไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ไม่เหมือนที่เปิดเผยไว้แต่แรก เนื่องจากข้อมูลในเอกสารประกอบการเสนอขายไอซีโอ (white paper) นั้นอาจเปรียบเสมือนเป็นสัญญาปากเปล่า

    แนวทางกำกับดูแลที่อยู่ระหว่างพิจารณาของทางการ จะเปิดให้การระดมทุนและทำธุรกรรมในช่องทางนี้ที่สุจริต สามารถดำเนินไปได้ แต่ให้มีการเปิดเผยข้อมูล เพิ่มความโปร่งใส กำหนดให้มีผู้ทำหน้าที่คัดกรองสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขาย และกำกับดูแลมาตรฐานของตัวกลางที่เกี่ยวข้อง

     อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนควรตระหนักว่า การกำกับดูแลจะช่วยลดความเสี่ยงได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เช่น ป้องกันการหลอกลวง แชร์ลูกโซ่ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ความเสี่ยงทางธุรกิจของกิจการ ความเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวน ตลอดจนความเสี่ยงจากการที่ระบบเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกโจรกรรมไซเบอร์ และที่สำคัญที่สุด ควรตระหนักว่า หากเกิดความเสียหาย มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถเรียกร้องจากใครได้ ดังนั้น ถ้าไม่เข้าใจ อย่าลงทุน เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เหมาะกับทุกคน

       อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!