WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Kasetทำนาตนทนตำ

ชาวนาทุ่งกุลาฯทำนา'ต้นทุนต่ำ'

ท่องโลกเกษตร : ไปอีสานสัมผัสชาวนาในทุ่งกุลาฯ ดูความสำเร็จทำนา 'ต้นทุนต่ำ' : โดย...ดลมนัส กาเจ

   ผืนดินแห้งผากอันเกิดจากวิกฤติฝนแล้งอย่างรุนแรงกินพื้นที่กว่า 19 ล้านไร่ ครอบคลุม 7 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ จ.นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อ 27 ปีก่อน วันนี้จากการที่ 'ทีมท่องโลกเกษตร'ไปสัมผัสบรรยากาศใหม่ ในทุ่งกุลาร้องไห้ กลับแลเห็นสีเขียวขจีของแมกไม้และต้นข้าวหอมมะลิ 105 ที่เกษตรกรปลูกจนกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพดีที่สุดของโลก หลังจากที่โครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียวที่กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ (ช.1 รอ.) ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 และแล้วเสร็จในปี 2533 เป็นต้นมา

      ก่อนหน้านี้ การปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จะได้ผลผลิตไม่มากนักราวไร่ละ 360-400 กก. แต่ระยะหลังดูเหมือนว่าจะมีองค์กรภาคเอกชนร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ยื่นมือส่งเสริมเกษตรกรชาวนาให้มีรายได้เสริม และเพิ่มผลผลิตของข้าวหอมมะลิ 105 อย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ดำเนิน'โครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี'นำร่องในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่ จ.ศรีสะเกษ และมีเป้าขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในพื้นที่กว่า 1.2 หมื่นไร่ จะจัดกระจายในภาคอีสาน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ขอนแก่น และอุดรธานี ปรากฏว่านอกจากเกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองแล้ว ยังสามารถทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิได้เพิ่มขึ้นจากไร่ละ  360 กก. มาเป็น 480 กก. เนื่องจากต้นถั่วเหลืองกลายเป็นตัวบำรุงดินชั้นดีนั่นเอง 

    ใจเพชร ฤทธิ์บุญ เกษตรกรวัย 43 ปี จากบ้านลาน ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.ขอนแก่น อีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าว บอกว่า มีที่นา 25 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิ กข.105 เดิมได้ผลผลิตราวไร่ละ 400 กก. พอปลูกถั่วเหลืองเก็บเกี่ยวเสร็จ ที่ไถกลบทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิดีขึ้นเพราะต้นถั่วเหลืองไปบำรุงดิน สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่ผลผลิตข้าวจากเดิมไม่ถึงไร่ละ 400 กก. ได้ไร่ 500 กก. ส่วนถั่วเหลืองสามารถเก็บผลผลิตไร่ละ 300-350 กก. ขายในราคาเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 17-18 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

   บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (หรือข้าวตราฉัตร) ภาคเอกชนอีกรายหนึ่ง ที่ยื่นมือเข้าไปส่งเสริมเกษตรกร เพื่อให้ชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิได้คุณภาพดี เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนด้วยการดำเนินโครงการปลูกข้าวหอมมะลิกับ “ข้าวตราฉัตร” ในภาคอีสาน หวังที่จะให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะได้แนะนำระบบการบริหารจัดการเพาะปลูกที่ถูกต้องมาใช้ จนได้ผลผลิตที่ตรงความต้องการของตลาด

   ล่าสุด จากการสอบถามตัวแทนจากสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ 3 ท่าน คือ สมนึก ทราบรัมย์  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 17 ต.แสลงพัน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านบุขี้เหล็ก, ประมวลรัตน์ พลบุญ สมาชิกบ้านบุขี้เหล็ก และอุดม ศรีพิษ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 16 ต.แสลงพัน ที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวหอมมะลิกับข้าวตราฉัตรมานาน 12 ปีแล้ว ว่าวันนี้การปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น

  สมนึก บอกว่า ร่วมโครงการกับข้าวตราฉัตร มาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ยอมรับว่า การประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือการทำนาดีขึ้นกว่าเดิม เพราะบริษัท ซี.พี.ข้าว ได้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องของระบบการบริหารจัดการการเกษตร ทั้งในเรื่องแปลงนา การจัดหาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำนาไปตามมีตามเกิด เวลาขายข้าวก็ขายแบบเหมาทั่วไปตามตลาด ไม่ได้มีมาตรฐานอะไร แต่พอเข้ามาเป็นสมาชิก นำข้าวเข้ามาขายในโครงการ ก็มีการตรวจสภาพข้าวว่าดีหรือไม่ดี ทำให้รู้ถึงคุณภาพข้าวที่ผลิต และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทคอยแนะนำขั้นตอนการปลูกข้าวอย่างเป็นระบบ

    ด้าน ประมวล บอกว่า หลังจากร่วมโครงการแล้ว พบว่า สามารถลดค่าใช้จ่าย และต้นทุนในการผลิตได้มากโดยเฉพาะค่าปุ๋ย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำให้ใส่ปุ๋ยช่วงไหน เช่น หลังหว่านข้าวประมาณ 1 เดือน ขณะที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากไร่ละ 390 กก. เป็นไร่ละ 430 กก. คุณภาพข้าวดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่แนะนำให้เก็บเกี่ยว ช่วงระยะพลับพลึง หรือเหลืองกล้วย อีกทั้งการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวปลูก ทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี ขายได้ราคาเพิ่มขึ้น 50 บาท/ตัน

   ส่วน สมนึก บอกว่า ปัญหาในการทำนาที่พบเป็นเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันรถไถ ค่าปุ๋ย ระยะหลังสามารถลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง มาจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ที่แนะให้ลดทอนในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น การเตรียมดินที่ถูกต้อง เพื่อลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช การใส่ปุ๋ยที่ไม่มากเกินไป และใส่ให้ถูกสูตร ถูกระยะ การเก็บเกี่ยวที่ระยะเหมาะสม  ขายได้ราคาสูง ทำให้รู้สึกมั่นใจในมาตรฐานการรับซื้อของข้าวตราฉัตร ว่าเที่ยงตรง และยุติธรรมที่เกษตรกรรับได้

    ขณะที่ ไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด เล่าว่า จากการที่บริษัทได้ส่งเสริมการปลูกข้าวของเกษตรกร ในโครงการสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ โดยใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี ตรงตามสายพันธุ์ จากกรมการข้าว เพื่อเพิ่มราคา พัฒนาแหล่งวัตถุดิบให้มีคุณภาพดี ตรงตามความต้องการของตลาด ผลจากการส่งเสริมมีผลที่น่าพึงพอใจ เพราะสามารถให้เกษตรกรได้ผลิตข้าวออกมามีผลผลิตดี และได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ด้วย

   แม้วันนี้ ราคาข้าวจะหลุดจากห้วงนโยบายประชานิยมว่าด้วยการจำนำข้าวของรัฐบาล (ชุดที่แล้ว) ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่เกษตรกรในทุ่งกุลาร้องไห้จำนวนไม่น้อยได้เรียนรู้การทำนาที่ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถจะประคองให้อยู่ได้ในยามนี้

http://www.komchadluek.net/detail/20140601/185660.html

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!