WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จำนำข้าวถึงทางตัน?

จำนำข้าวถึงทางตัน? กูรูชี้ช่องหนทางอยู่ในเงื้อมมือรัฐ : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน

     'วิกฤติ'ปัญหาในโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินในขณะนี้ จนทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าข้าวเปลือกที่เกษตรกรนำเข้าโครงการตามกำหนดได้ ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในฤดูกาลผลิตนาปี ปีการผลิต 2556/57 วันที่ 1 ตุลาคม 2556 จนปัจจุบันเข้าสู่เดือนที่ห้าแล้ว และการเยียวยาก็ยังทำได้เพียงเล็กน้อย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ออกมาเรียกร้องทวงเงินค่าข้าวกันจำนวนมาก

   สถานการณ์ยิ่งอึมครึมมากขึ้น เมื่อพบว่า 'ชาวนา'บางรายเครียดจนมองไม่เห็นทางออกว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจ่ายคืนให้ตนในระยะเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไร เพื่อจะสามารถนำไปใช้จ่ายในครอบครัวและปลดภาระหนี้สินได้ จนนำไปสู่การคิดสั้น ขณะที่รัฐบาลเองยังมองในเรื่องปัญหาการเมืองเป็นเรื่องหลัก

    อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นที่รัฐบาลออกมาระบุว่ามีแหล่งเงินทุนพร้อมปล่อยกู้แล้ว ยังมีอีกช่องทางอื่นๆ อีก ซึ่งมีความเป็นไปได้ รวมถึงการเร่งระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่บรรดาผู้คนในแวดวงการข้าวคาดการณ์ว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 17 ล้านตัน ผ่านวิธีการประมูลขายข้าวเป็นการทั่วไป และการขายให้แก่กลุ่มผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวที่แน่นอน รวมถึงการขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟต)

เร่งขายข้าวสต็อกรัฐต่อเนื่อง

   ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ประกาศเปิดประมูลขายข้าวเป็นการทั่วไปอีกครั้ง หลังจากขายผ่านช่องทางนี้มาหลายครั้ง ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแต่สามารถขายได้ในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งการเปิดขายครั้งล่าสุดนี้ เป็นสต็อกข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 โครงการข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 และข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/2556 เพื่อจำหน่ายในประเทศและ/หรือส่งออกต่างประเทศจำนวน 467,622.61 ตัน มีทั้งที่เป็นข้าวขาว 5%, ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2, ข้าวหอมจังหวัด, ข้าวปทุมธานี, ข้าวเหนียวขาว 10% และปลายข้าวชนิดต่างๆ

  ขณะเดียวกัน ได้เปิดประมูลขายข้าวตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ครั้งที่ 2 ปี 2557 ปริมาณอีกราว 2.2 แสนตัน

   นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงการเปิดประมูลข้าวเป็นการทั่วไป ซึ่งเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ว่าได้รับความสนใจจากเอกชนจำนวนมาก โดยคาดว่าน่าจะได้รับเงินจากการประมูลในครั้งนี้อีกเกือบ 10,000 ล้านบาท และเงินที่ได้รับจากการขายข้าวครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเร่งส่งคืนกระทรวงการคลังต่อไป เพื่อให้นำไปชำระคืนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปจ่ายให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน

    'พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังเตรียมเปิดประมูลข้าวอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะเปิดประมูลมากขึ้นกว่าเดิม หรือราว 5 แสนตัน โดยจากนี้ไปจะเปิดประมูลให้มีความถี่มากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าได้รับความกดดันจากการที่ต้องเร่งขายข้าวเพื่อไปเงินไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว โดยจะหาช่องทางต่างๆ เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายได้เข้ามามีส่วนร่วม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการระบายข้าวออกไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อราคาโดยรวมได้

    'โดยกรมการค้าต่างประเทศได้สรุปความคืบหน้าการระบายข้าวนับตั้งแต่เริ่มโครงการขายข้าว สามารถคืนเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 170,000 ล้านบาท

จี้กขช.เปิดทางธ.ก.ส.ช่วยชาวนา

    'อย่างไรก็ดี การระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลเพื่อเร่งระบายสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศนั้น คงยังไม่ใช่คำตอบเร่งด่วนของวิกฤติปัญหาในขณะนี้ เพราะรัฐบาลเป็นหนี้ชาวนา เป็นตัวเลขกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้หลายฝ่ายต่างช่วยกันหาคำตอบกับโจทย์ยากข้อนี้ เพราะช่องทางเร่งด่วนที่สุด คือการ 'กู้'สถาบันการเงิน ก็ดูจะเป็นหนทางที่ 'ตีบตัน'หากรัฐบาลนี้ยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการ

   จนทางออกหนึ่งจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการข้าวเสนอ คือ รัฐบาลต้อง 'ลาออก'เพื่อเปิดทางรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาแก้ปัญหาแทน

   แต่ก็ยังไม่ไร้ทางออกเสียทีเดียว โดยยังมีช่องทางอื่นที่'นายปราโมทย์ วานิชชานนท์'นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และเป็นอดีตคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เสนอว่า หากคำตอบเร่งด่วนที่สุดคือการ'กู้'แต่รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ และจะไม่มองถึงประเด็นทาง'การเมือง'ขอให้มองว่าปัญหาในขณะนี้เป็น 'วิกฤติของชาติ'ทางออกหนึ่งก็คือขอให้มีการประชุม'กขช.'โดยเร่งด่วนเพื่อออกมติพิเศษ ออกมารับรองการดำเนินการของ ธ.ก.ส.ในการรับจำนำใบประทวนของชาวนาตามการปล่อยกู้ปกติ และมีมติรับรู้ว่าการปล่อยกู้ครั้งนี้จะมีภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องชำระแทน

   "มติของ กขช.ในลักษณะที่ว่านี้ จะเป็นมติลอย เพื่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่แสดงความรับรู้และบันทึกยืนยันไว้ เพื่อที่เมื่อใดที่มี กขช.ชุดใหม่ภายใต้รัฐบาลใหม่ ก็จะต้องมีมติออกมาดำเนินการต่อในสิ่งที่ กขช.ชุดเดิมดำเนินการไว้"

    นายปราโมทย์ อธิบายว่า'ใบประทวน'ของชาวนานั้น ธ.ก.ส.ยอมรับว่าเป็น 'ตั๋วจำนำ'ได้ เพราะเป็นเอกสารทางราชการที่แสดงว่าจากโครงการจำนำข้าวนี้ รัฐบาลเป็นลูกหนี้ของชาวนาแล้ว นั่นแสดงถึงความเป็นเจ้าหนี้ของชาวนามีหลักฐานปรากฏชัดเจน ขณะที่ ธ.ก.ส.เองก็บอกว่าพร้อมมีสภาพคล่องเพียงพอในการปล่อยกู้ ก็ขอให้เป็นการปล่อยกู้ไปตามปกติ แต่ธ.ก.ส.จะต้องออกมาประกาศรับจำนำใบประทวน แทนที่จะให้โรงสีทำเพราะโรงสีนั้นมีกำลังไม่เพียงพอและความช่วยเหลือก็อาจจะไม่ทั่วถึง

    ปัญหา คือเมื่อ ธ.ก.ส.รับจำนำใบประทวน ก็ต้องมีเรื่องดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ขอให้ กขช.มีมติรับรู้ในเรื่องดังกล่าวด้วย และพร้อมยืนยันในการชำระดอกเบี้ยนั้นแทน เพราะใบประทวนนั้นมีมูลค่าเพิ่มในตัวของมันเองอยู่แล้ว จากการที่รัฐบาลผิดนัดชำระให้แก่ชาวนา รัฐบาลก็จะต้องจ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยให้ชาวนาอยู่แล้วตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในอัตรา 7.5% ต่อปี แต่การให้จำนำใบประทวนอาจจะไม่ได้เต็ม 100% ของมูลค่าใบประทวน ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธ.ก.ส.ในการดูเครดิตของลูกหนี้แต่ละราย และอย่างน้อย ธ.ก.ส.ก็จะรู้ได้ว่าลูกค้ารายใดมีความเดือดร้อนมากที่สุด

     "ผมคุยเรื่องนี้กับแกนนำสหภาพ ธ.ก.ส.บางรายแล้ว รวมทั้งแกนนำชาวนาด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้กันทุกฝ่าย แต่ ธ.ก.ส.ต้องไปนำเสนอต่อคณะกรรมการของ ธ.ก.ส. ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะดำเนินการหรือไม่เท่านั้น โดยธ.ก.ส.ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องนี้เลยเมื่อ กขช.ลงบันทึกรับรองเอาไว้ และจะได้ดอกเบี้ยเต็ม โดยมองว่าหลักการนี้ไปกันได้โดยไม่เอาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่ใช้โครงสร้างองค์กรต่างๆ ที่มี เพื่อประคองสถานการณ์เพื่อเป็นการเยียวยา และลดความร้อนแรงลง ลดความเครียดให้ชาวนา เพราะไม่ต้องการให้ชาวนาเครียดและฆ่าตัวตายอีก" นายปราโมทย์ กล่าวและว่า การออกมติเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษของ กขช. นั้นสามารถทำได้ และเคยทำมาแล้วในช่วงเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา

เสนอตั้งกก.ระบายข้าวชุดใหม่

   ส่วนแนวทางการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลนั้น นายปราโมทย์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสังคมเคยเชื่อรัฐบาลมาตลอด เมื่อเกิดความไม่เชื่อหลังจาก ป.ป.ช. มีคำสั่งชี้มูลความผิดกรณีการขายข้าวแบบจีทูจีนั้นไม่มีจริง ทำให้ช่วง 2 ปีที่รัฐบาลโฆษณา หรือปกปิดมานั้น ทุกคนไม่เชื่อถืออีกต่อไป ทำให้การยุบสภาที่เกิดขึ้นเกิดสุญญากาศ และรัฐบาลไม่มีอำนาจเลย

   "ความจริงแล้ว โครงการอย่างนี้ฝีจะแตกหลังจากปีที่ 3 ไป เพราะรัฐบาลจะเริ่มขาดสภาพคล่อง เพราะเป็นโครงการที่คล้ายๆ กับแชร์ลูกโซ่ที่จะกินทุนตัวเองแล้วไปหมดในปีที่ 4 หรือ 5 แต่ปัญหามาเร็วกว่าปกติ หรือเพียงแค่ 2 ปีครึ่ง นั่นเพราะเกิดการทุจริตกันขึ้น สิ่งที่จะพิสูจน์ความจริงใจจากนี้ และเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด คือขอให้มีการตั้ง "คณะกรรมการระบายข้าวชุดใหม่"ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านการตลาดอย่างแท้จริงและมีภาคประชาชนหรือสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วม"

   เขาขยายความว่า ที่ผ่านมาการระบายข้าวจะรับรู้กันเฉพาะนักการเมือง และข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น แต่ในเมื่อประชาชนไม่ไว้วางใจนักการเมืองอีกต่อไป ภาคการเมืองก็ควรแสดงความจริงใจ โดยตั้งคณะกรรมการระบายข้าวที่จะประกอบไปด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือกรมบัญชีกลาง ตัวแทนจากสมาคมผู้ส่งออก สมาคมโรงสี และสมาคมชาวนา รวมถึงภาคประชาชนหรือสื่อมวลชน

  "วันนี้ประชาชนไม่ไว้ใจแล้ว เพราะที่ผ่านมาการขายข้าวที่ไรก็มักจะมีใต้โต๊ะทุกครั้ง หรือมีข้อครหา โดยข้าวในโกดังของรัฐถือเป็นข้าวของประชาชน การจะระบายข้าวจากนี้ไปก็จะใช่เรื่องที่ทำกันมา แต่จะต้องเปิดเผยและโปร่งใส ไม่มีใต้โต๊ะ ไม่มีคอมมิชชั่น โดยสามารถใช้มติ กขช. เช่นเดียวกันในการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา จะมีอายุ 1-2 ปีก็ได้ เพื่อเดินหน้าระบายข้าวในสต็อกให้หมด โดยการขายข้าวจะได้มีพ่อค้าที่มีความเชี่ยวชาญที่แท้จริงเข้ามาช่วยในการวางรูปแบบตลาด รูปแบบการขาย การกระจายไปสู่ตลาดภายในและต่างประเทศอย่างมืออาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้มีเยอะพร้อมที่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง"

   นายปราโมทย์ กล่าวว่า ส่วนหลักการขายจะต้องเป็นไปแบบโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ไม่เป็นความลับอีกต่อไป ผลที่จะได้รับคือ การขายที่ไม่มีเงินใต้โต๊ะ ซึ่งในอดีตสูงถึง 100-150 ดอลลาร์ต่อตัน ในส่วนนี้ก็จะกลับมาเป็นกำไรให้แก่ประชาชน

   โดยทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งถึงเวลาแล้วหรือยังที่การเมืองจะต้องแสดงความจริงใจ แต่จะเห็นความจริงใจได้ก็ต่อเมื่อได้เห็นวิธีการระบายข้าวสต็อกรัฐด้วยวิธีการแบบนี้ที่ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือในกรณีการเจรจาระหว่างกลุ่มชาวนาที่ออกมาประท้วงรัฐบาล กับรัฐมนตรีบางคนนั้น จนชาวนาลั่นว่าจะไปยึดโกดังข้าว ซึ่งพวกเขาพูดไปด้วยความคับแค้นใจ โกรธ และผิดหวัง แต่รัฐมนตรีกลับท้าให้เอาข้าวคืนไป เพราะรู้ว่าชาวนาจะไม่สามารถขายข้าวเองได้ ตนก็ขอ "ท้า" ให้นำข้าวคืนมาเสีย เพราะจะมีทั้งโรงสีและผู้ส่งออกข้าวพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งสมาคมข้าวถุงด้วย เข้ามาช่วยขายให้

   "แต่การคืนให้ชาวนา ก็ขอให้คืนเต็มตามมูลค่าใบประทวนด้วย และจะต้องคืนตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์เป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง และจะหาเซอร์เวย์เยอร์มาตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว เมื่อสามารถขายข้าวให้ชาวนาออกไปได้แล้ว เงินยังขาดที่จะต้องจ่ายชาวนาเท่าไร รัฐบาลจะต้องจ่ายคืนให้ครบ"

แนะมุ่งพัฒนา-เลิกอุปถัมภ์

   นายปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า สังคมต้องเรียนรู้แล้วว่าโครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว และวันนี้จะต้องเปลี่ยนวิธีการคิดที่จะช่วยชาวนาใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาบ้างในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทุกรัฐบาลได้สร้างความอ่อนแอผ่านระบบอุปถัมภ์ ซึ่งต้องเลิกระบบนี้หากชาวนาคิดจะยกระดับตัวเอง

   "เวลานี้ คือโอกาสที่เราจะคิดว่าที่ผ่านมาเราเสียหายมามากพอแล้ว และหากต้องการจะช่วยชาวนาในการพัฒนาจริง ของบมาปีละ 3 หมื่นล้านบาทในการวางยุทธศาสตร์ 3 ปี โดยตั้งโจทย์เลยว่าจะต้องมุ่งในด้านพัฒนาอย่างเดียวเท่านั้น โดยนำไปพัฒนาในด้านการศึกษาคุณภาพคนให้สูงขึ้น ช่วยในการวิจัยพันธุ์ข้าว การเพาะปลูก และพัฒนาชาวนาให้มีศักยภาพเป็นมืออาชีพต่อไป"

(จำนำข้าวถึงทางตัน? กูรูชี้ช่องหนทางอยู่ในเงื้อมมือรัฐ : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!