- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 31 January 2023 12:57
- Hits: 1606
มนัญญา ปลื้ม! กรมวิชาการเกษตรรายงานยอดส่งออกปี 65 พุ่งกว่า 23 ล้านตัน ทะลุ 5 แสนล้านบาท
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่า หลังจากสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกดีขี้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชของไทยไปต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของทั่วโลก ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมามียอดการส่งออกกว่า 23.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.36 แสนล้านบาท โดยสินค้าเกษตร 5 อันดับแรกที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้ประเทศไทยมีดังนี้
อันดับ 1 ผลไม้สด มีปริมาณการส่งออกกว่า 2.94 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 1.72 แสนล้านบาท โดยผลไม้สดที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ทุเรียน มะพร้าวอ่อน และ ลำไย
อันดับ 2 ข้าว มีปริมาณการส่งออกกว่า 5.22 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 1.02 แสนล้านบาท โดยข้าวที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ข้าวขาว ข้าวหอม และ ข้าวนึ่ง
อันดับ 3 ยางพาราและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณการส่งออกกว่า 1.65 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 9.03 หมื่นล้านบาท โดยยางพาราและผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมูลค่าการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ น้ำยาง และยางแท่ง
อันดับ 4 ไม้และผลิตภัณฑ์ มีปริมาณการส่งออกกว่า 4.42 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 5.21 หมื่นล้านบาท โดยไม้และผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ไม้ยูคาลิปตัสสับ ไม้ยางพารา และแผ่นไม้อัด
อันดับ 5 มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณการส่งออกกว่า 7.82 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 5.15 หมื่นล้านบาท โดยมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 3 อันดับแรกคือ มันสำปะหลัง (มันเส้น, แผ่น) แป้งมันสำปะหลัง และแป้งมันสำปะหลัง
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมวิชาการเกษตร จับมือกับพันธมิตรทั่วโลก เปิดการใช้งานใบรับรอง e Phyto ขยายคลุมสินค้าไปทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นั้น ถือเป็นการอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับทำธุรกรรมการขอใบอนุญาต ใบรับรอง เพื่อการนำเข้า ส่งออก นำผ่าน และโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสามารถขอใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto) ด้วยความสะดวกและรวดเร็ว สร้างรายได้อย่างมหาศาลเข้าประเทศในปี 2565 กว่า 5.36 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 2565 มีปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและทำการผลิตได้มากขี้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการเพิ่มการผลิตและมีการบำรุงรักษามากขึ้น และจากการตรวจรับรอง GAP อย่างเข้มข้นของกรมวิชาการเกษตร ทำให้ได้สินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของต่างประเทศ อีกทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรของไทย ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวได้มากขึ้น สำหรับเกษตรกรที่ต้องการสมัครเข้าสู่ระบบ GAP สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรได้ทั้ง 8 เขต