- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 29 March 2023 15:56
- Hits: 2041
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ และ เครือข่าย ASEAN-CRN พร้อมจับมือองค์กรระหว่างประเทศนำร่องขับเคลื่อนระบบเกษตร Net Zero พัฒนาเส้นฐานคาร์บอนเครดิตระดับประเทศ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะ ประธานเครือข่ายเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน (ASEAN Climate Resilience Network: ASEAN-CRN) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ และการประชุมเครือข่าย ASEAN-CRN ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2566 ณ โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพ ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อพัฒนาความร่วมมือของสมาชิกในการส่งเสริมการรับมือต่อสภาพอากาศที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนในภาคการเกษตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นแกนหลักในโครงการริเริ่มคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรของประเทศ โดยจับมือกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): อบก. จัดทำ MOU ร่วมกัน เพื่อพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต T-VER และ Carbon Credit Baseline นำร่องในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน และมะม่วง การดำเนินงานและความพยายามนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยและกรมวิชาการเกษตรในการพัฒนาทางด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้เพื่อให้มั่นใจถึงความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตรของประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรส่งเจ้าหน้าที่เข้าอบรมหลักสูตรผู้ประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจของ อบก. เพื่อพัฒนาบุคลากรในการรับรองคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร อีกด้วย
กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ FAO พัฒนาโครงการจัดทำ Carbon credit baseline ในพืชเศรษฐกิจนำร่อง 6 ชนิด ผ่านการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund, GCF) ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในความพยายามที่จะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการพัฒนาเส้นฐานคาร์บอนเครดิตระดับประเทศ (National Carbon Credit Baseline) ประเทศไทยต้องการข้อคิดเห็นจาก ASEAN-CRN เพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและสร้างขีดความสามารถด้านคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้น และความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคการเกษตร โดยนอกจาก FAO แล้ว องค์กรความร่วมมือของประเทศเยอรมนี (GIZ) ยังนำเสนอโครงการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าในอาเซียน (ASEAN Agritrade Project) ซึ่งเป็นงบที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสนับสนุนกรมวิชาการเกษตรในการจัดทำ Carbon credit baseline ในพืช 6 ชนิดด้วย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกเหนือจากการอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรแล้ว ยังอยากให้สมาชิก ASEAN-CRN ให้ความสนใจกับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเตรียมดิน สำหรับเพาะปลูก และการเผาซาก ตอซังพืช มีส่วนสำคัญในการปล่อย PM 2.5 ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการเกิด PM 2.5 ในภาคการเกษตร โดยประเทศไทยยินดีแบ่งปันประสบการณ์และร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ผ่าน ASEAN-CRN เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่ง ASEAN-CRN สามารถมีบทบาทสำคัญในการอานวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ
“งานประชุม สัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยการสนับสนุนของ FAO, Regional Office for Asia and the Pacific (RAP), GIZ และ Mekong Institute (MI) จะเป็นเวทีอันมีค่าสำหรับสมาชิก ASEAN-CRN ในการแบ่งปันประสบการณ์ ข้อปฏิบัติและความรู้ ด้วยความพยายามร่วมกันของสมาชิก เราสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเกษตรในอาเซียนไปสู่การปล่อยมลพิษต่ำและความยั่งยืน และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกทั้งหมด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
A31162