- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 03 April 2023 22:29
- Hits: 1862
กรมวิชาการเกษตรแนะปลูกดอกหน้าวัวเป็นพืชแซมปาล์มน้ำมัน สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร 46,000 บาท/ไร่/ปี
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ ศึกษาพืชแซมร่วมกับการจัดการน้ำและธาตุอาหารของปาล์มน้ำมันพบดอกหน้าวัวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสามารถเพิ่มธาตุอาหารและน้ำจากการปลูกพืชแซมเกษตรกรเก็บผลผลิตได้เดือนละ 1 – 2 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 140 ดอก สร้างรายได้เสริมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 46,000 บาท/ไร่/ปี
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและความผันผวนของราคาปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันต้องรับมือกับปัญหาด้านต้นทุนของปัจจัยการผลิต รวมถึงผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนจากการพึ่งรายได้ทางเดียว ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบในส่วนของงานปาล์มน้ำมันและยางพาราได้ให้คำแนะนำเกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยหมักเสริมในแปลง ในการลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมัน และปลูกพืชแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นแนวทางในการจัดสรรพื้นที่ในสวนปาล์มน้ำมันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพเสริม เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนในอนาคต
การปลูกพืชแซมร่วมกับการปลูกปาล์มน้ำมัน คือการปลูกพืช 2 ชนิดหรือมากกว่าพร้อมกัน เป็นแถวสลับกันในเนื้อที่เดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปาล์มน้ำมันได้ โดยการปลูกพืชแซมร่วมกับปาล์มน้ำมันแยกตามอายุได้ดังนี้ ในระยะเริ่มปลูก – อายุ 3 ปี ทางใบปาล์มน้ำมันยังไม่เจริญเติบโตจนแผ่ปกคลุมเต็มพื้นที่ดังนั้นในช่วงนี้จึงอาจมีการเลือกปลูกพืชแซมที่ต้องการแสงมาก ปาล์มน้ำมันระยะอายุ 4 – 9 ปี ในระยะนี้ทางใบปาล์มน้ำมันจะมีการแผ่กระจายเต็มพื้นที่ปลูก แสงที่ผ่านมาบริเวณภายใต้ทรงพุ่มจะน้อย รวมถึงในระยะนี้ต้นปาล์มน้ำมันมีการเจริญเติบโตทางด้านความสูงไม่มากนัก ภายใต้ทรงพุ่มจึงมีลักษณะค่อนข้างแน่นทึบ ดังนั้นการปลูกพืชแซมในระยะนี้ควรเป็นพืชที่เติบโตและให้ผลผลิตได้ดีภายใต้สภาพร่มเงา และในระยะอายุ 10 ปี ขึ้นไป ในระยะนี้ปริมาณแสงภายใต้ทรงพุ่มปาล์มน้ำมันจะเพิ่มขึ้น ทรงพุ่มอยู่สูง มีพื้นที่ว่างใต้ต้นปาล์มพืชแซมที่นำมาปลูกอาจมีความสูงของทรงพุ่มได้มากกว่าในช่วงก่อนหน้านี้
การปลูกพืชแซมร่วมกับปาล์มน้ำมันสามารถเป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง คือ
1. ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชและควบคุมศัตรูพืชการปลูกพืชแซมสามารถลดปริมาณศัตรูพืชและวัชพืชได้เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เนื่องจากเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในระบบการปลูกพืชในแปลงปาล์มน้ำมันได้อีกทางด้วย
2. เพิ่มรายได้ การปลูกพืชแซมร่วมกับปาล์มน้ำมันสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะสามารถขายผลผลิตของพืชแซมได้ร่วมกับปาล์มน้ำมัน
3. ลดค่าใช้จ่ายในการดูแล การปลูกพืชแซมร่วมกับปาล์มน้ำมันสามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิตและการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากพืชแซมสามารถช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืชและช่วยรักษาความชื้นในดินได้และเนื่องจากการปลูกพืชแซมบางชนิดช่วยลดปริมาณศัตรูพืชและวัชพืช และยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
4. เพิ่มคุณภาพของดิน สามารถเพิ่มปริมาณธาตุอาหารและอินทรียวัตถุได้จากการการปลูกพืชแซม อีกทั้งยังช่วยชะลอการชะล้างพังทะลายของหน้าดินได้อีกด้วย
จากการศึกษาพืชแซมร่วมกับการจัดการน้ำและธาตุอาหารของปาล์มน้ำมันในพื้นที่แปลงศูนย์เรียนรู้ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ได้ทำการศึกษาในปาล์มน้ำมันอายุ 15 ปี โดยการแบ่งพื้นที่จำนวน 2 ไร่ 2 งาน ศึกษาการปลูกดอกหน้าวัวซึ่งเป็นพืชแซมที่ต้องการแสงแดดรำไร มีอากาศถ่ายเทสะดวก และอุณหภูมิที่ไม่สูงจนเกินไป ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ได้ปลูกดอกหน้าวัวระหว่างแถวปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ขนาด 1x3 เมตร มีระยะปลูก 30x30 เซนติเมตร ซึ่งดอกหน้าวัวที่ปลูกแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุได้ 5 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละ 1 – 2 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 140 ดอก คิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 46,000 บาท/ไร่/ปี (ราคาเฉลี่ยดอกละ 10 บาท)
“ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ แนะนำว่าการปลูกดอกหน้าวัวเป็นพืชแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันนั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร พึ่งพาตนเองได้ และกระจายรายได้ตลอดปีแล้ว ยังสามารถทำให้ปาล์มน้ำมันได้รับน้ำและธาตุอาหารจากการปลูกพืชแซม ลดความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ และสามารถควบคุมวัชพืชภายในแปลงปาล์มน้ำมันได้อีกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
“ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ ได้ให้คำแนะนำเกษตรกรปลูกดอกหน้าวัวเป็นพืชแซมระหว่างแถวปาล์มน้ำมันเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งนอกจากสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรพึ่งพาตนเองได้และกระจายรายได้ตลอดปีแล้ว ยังสามารถทำให้ปาล์มน้ำมันได้รับน้ำและธาตุอาหารจากการปลูกพืชแซม ลดความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ และสามารถควบคุมวัชพืชภายในแปลงปาล์มน้ำมันได้อีกด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
A4069