- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 18 July 2023 11:58
- Hits: 1314
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จับมือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสด เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดต้นทุนการผลิต สู่เกษตรกร
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมงานแถลงข่าว กิจกรรมโครงการสร้างการรับรู้ “การดำเนินงานโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร” จากงบอุดหนุนโครงการวิจัยการเกษตร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน, สวก) ณ ห้องประชุม 7 ชั้น 5 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตรโดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้นำเสนอองค์ความรู้การผลิตและใช้แหนแดงและนวัตกรรมอื่นของกรมวิชาการเกษตร
แหนแดงเป็นแหล่งผลิตธาตุไนโตรเจนที่ดี เพราะมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (cyanobacteria) ที่อยู่ในโพรงใบช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาสร้างเป็นปุ๋ยทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 4–5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้งนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวได้เป็นอย่างดีประเทศจีนและเวียดนามมีการใช้แหนแดงในนาข้าวมาเป็นเวลานานนับร้อยปี สำหรับประเทศไทยกรมวิชาการเกษตรได้เริ่มศึกษาประสิทธิภาพของแหนแดง ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 พบว่าการปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยพืชสด (แหนแดง) ในช่วงก่อนปักดำสามารถให้ผลผลิตข้าวได้เทียบเท่ากับการใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 10.5 กิโลกรัมต่อไร่
กรมวิชาการเกษตรมีการนำสายพันธุ์แหนแดงจากต่างประเทศมาคัดเลือกพันธุ์และนำมาทดลองใช้ประโยชน์ พบว่าแหนแดงสายพันธุ์อะซอลล่าไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ที่มีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้อย่างดี เพราะแหนแดงที่เจริญเติบโตบนผิวน้ำในนาข้าว 1 ไร่ จะให้ผลผลิตถึง 3,000 กิโลกรัมต่อไร่สามารถเพิ่มน้ำหนักเป็น 2 เท่าได้ในระยะเวลาเพียง 2–3 วัน ให้ไนโตรเจนได้ประมาณ 6–7.5 กิโลกรัมต่อไร่
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “จากประโยชน์ของแหนแดงดังกล่าวกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรจัดทำข้อเสนอโครงการขยายผลการผลิต และใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถผลิตและใช้แหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแล ฟื้นฟูทรัพยากรดิน สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล”
แนวทางการดำเนินงานของโครงการฯ จะนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 9 จังหวัด คือ สระบุรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และ จังหวัดพะเยา จำนวน 323 ราย โดยกรมวิชาการเกษตร จะดำเนินการส่งมองเทคโนโลยีการผลิตและใช้แหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะสร้างการรับรู้โครงการฯ โดยประชุมขี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้เจ้าหน้าที่จังหวัด/อำเภอ จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและใช้ประโยชน์จากแหนแดงให้กับเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย เกษตรกรจัดทำแปลงแหนแดง จังหวัด ร่วมกับ อำเภอ และ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชม (ศดปช.) จัดงานรณรงค์การผลิตและใช้แหนแดง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร จะเก็บข้อมูลตัวอย่างดินของแปลงต้นแบบการใช้แหนแดงในพื้นที่ของ ศดปช. เพื่อวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ก่อนและหลังการใช้แหนแดง เพื่อจัดงานวันรณรงค์การผลิตและการใช้แหนแดงในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ หรือแปลงต้นแบบการผลิตและใช้แหนแดงของ ศดปช.
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การฟื้นฟูความอุตมสมบูรณ์ของดิน ไม่ใช่สิ่งที่คนแต่ละคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดินที่ดีไม่เพียงแต่จำเป็นสำหรับปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นกุญแจสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วย พวกเราทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ในการดูแลดิน และสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร วันดินโลก (วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี) มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสำคัญของการอนุรักษ์ดินและการจัดการดินเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ในส่วนของประเทศไทยนี้ ตลอดทั้งปีมีการจัดงานวันดินโลก และร่วมกับขับเคลื่อนกิจกรรมวันดินโลกพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งความมุ่งมั่นของประเทศไทยนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่ว่า “ทุกวัน ... คือ วันดินโลก, Every Day is World Soil Day”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวขอบคุณ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ที่ได้ร่วมกันขยายผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร “การดำเนินงานโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร” เทคโนโลยีนี้ สมาชิก ศดปช.และเกษตรกรทั่วไปจะได้รับการถ่ายทอดไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ศดปช. จำนวนไม่น้อยกว่า 9 ศูนย์ สามารถเป็นต้นแบบและขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงในชุมชน เกษตรกรในชุมชน ได้รับองค์ความรู้ในการผลิตและใช้แหนแดง ทรัพยากรดินในชุมชนได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้มีความอุตมสมบูรณ์ดีขึ้น
A7567