- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 01 November 2023 20:11
- Hits: 3622
วว. /วช. มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นำร่องราชบุรีเป็นโมเดลต้นแบบยกระดับมาตรฐานผลผลิตและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบนโยบายขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ โดยสนับสนุนให้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรมจ.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตร พร้อมให้ความรู้ด้านมาตรฐานท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้สถานที่ท่องเที่ยวของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ช่วยสร้างโอกาสและความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ นำร่องจังหวัดราชบุรีเป็นโมเดลต้นแบบ สู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. และ มรมจ. ร่วมกันนำ วทน. ไปยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับ “พรหมรัศมี ฟาร์มสเตย์” หรือ “ไร่พรหมรัศมี” ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีพื้นที่ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงเกษตรประมาณ 150 ไร่ และมีจุดเด่นคือ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีการปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ เงาะ ทุเรียน จำปาดะ ฝรั่ง กาแฟ รวมถึงพืชผักปลอดสารพิษ เป็นต้น และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่สนใจด้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้แก่ การปลูกผัก ผลไม้ตามฤดูกาล การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การเลี้ยงปลา และการทำฝายชะลอน้ำ จากการดำเนินงานของ วว. และ มรมจ. ประสบผลสำเร็จในการร่วมผลักดันให้ไร่พรหมรัศมี ได้รับการรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตรของไทย
โดยองค์ประกอบของการได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั้น นอกจากจุดเด่นทางด้านธรรมชาติและทัศนียภาพที่สวยงาม รวมทั้งการทำการเกษตรเฉพาะถิ่น ร่วมกับวิถีชีวิตชุมชนแล้ว ยังต้องมีองค์ประกอบของจุดเด่นทางด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรหรือนวัตกรรมใหม่ ในการนำไปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่ง มรมจ. ได้ดำเนินการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์น้ำปลาหวาน ที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของฝากให้กับนักท่องเที่ยว โดย วว. ได้นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล
ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า การสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีด้านการเกษตรซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญตามเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตร วว. จึงได้ส่งเสริมชุมชนในการนำเทคโนโลยี “ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์” แบบ 4 ชั้น ผลงานวิจัยของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. เข้าไปใช้ในกระบวนการผลิต โดยเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับใช้งานเชิงพาณิชย์ สำหรับผู้ประกอบการ OTOP หรือ SME ตัวเครื่องมีพื้นที่อบแห้งสูงสุด 4 ตารางเมตร ประกอบด้วยถาดวางวัตถุดิบ ขนาด 1×1 ตารางเมตร จำนวน 4 ชั้น สามารถรองรับน้ำหนักวัตถุดิบได้สูงสุด 20 กิโลกรัม/ครั้ง มีระบบดูดความชื้นด้วยพัดลมดูดอากาศ 2 ชุด ใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาด 10 วัตต์ ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง มีอัตราการอบแห้งสม่ำเสมอและทั่วถึง ต้นทุนต่ำ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยกลุ่มจะนำไปอบดอกกาแฟและผักผลไม้ในฟาร์ม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงงาน และทำให้ผลิตภัณฑ์อบแห้งมีความสะอาด ปลอดภัย ถูกหลักอนามัย
ทั้งนี้ สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ได้ไปทำการตรวจประเมินมาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับไร่พรหมรัศมี ซึ่งได้ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตรในระดับดี และจากการดำเนินงานของ วว. ร่วมกับพันธมิตร ได้ส่งผลให้ นางรัศมี ทับทิมทอง ผู้ประกอบการไร่พรหมรัศมี ได้รับการรับมอบเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2566 จากกรมการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ซึ่งการได้รับเครื่องหมายมาตรฐานท่องเที่ยวดังกล่าว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ในด้านการบริหารจัดการที่ดี การให้บริการที่มีคุณภาพ รวมถึงด้านความสะอาด ด้านความเป็นธรรม ด้านความปลอดภัย ด้านความยั่งยืน และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การยกระดับการสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับในระดับสากลสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของไทยที่ยั่งยืน
นางรัศมี ทับทิมทอง ผู้ประกอบการไร่พรหมรัศมี กล่าวว่า ในการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานและการทำฟาร์มสเตย์มีการรวมกลุ่มของสมาชิกกลุ่มทุเรียนและเงาะแปลงใหญ่จำนวนกว่า 100 คน ในพื้นที่ 1,000 กว่าไร่ ที่เดิมมีปัญหาในการตากแห้งผลผลิตตามธรรมชาติด้วยแสงแดด ซึ่งมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ต้องมีการขนย้ายผลผลิตตลอดเวลา และไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้เครื่องอบที่มีการจำหน่ายยังมีขนาดเล็กและราคาแพง ดังนั้นเมื่อมีเทคโนโลยีของ วว. คือ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยให้กลุ่มสามารถอบแห้งผลผลิตได้ปริมาณมาก ไม่ต้องเก็บเข้า-ออกทุกวัน ได้มาตรฐาน สะอาด ถูกสุขอนามัย
“...การที่ วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุน จนกระทั่งทำให้สามารถได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั้น มีความภาคภูมิใจ...ดีใจ และขอขอบคุณที่ภาครัฐได้เข้ามาช่วยให้การประกอบการมั่นคงมากขึ้น มีการบริหารจัดการที่ดี ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวในความเชื่อมั่น และเข้ามาใช้บริการ จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อยากให้โครงการนี้ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ เพื่อเพื่อนๆ จะได้มีรายได้ที่มั่นคง ครอบครัวมีความสุข...” นางรัศมี ทับทิมทอง กล่าว
11054