- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 03 February 2024 11:15
- Hits: 9233
สทป. จับมือ สวก. และ สวพส. ลงนาม MOU ยกระดับการขนส่งสินค้าเกษตรไทย หนุนผลงานวิจัยแก้ปัญหาต้นทุนการขนส่งพื้นที่ห่างไกลด้วยการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) โดย นาวาอากาศเอกคมสันต์ ประพันธ์กาญจน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
โดยนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน ณ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
โดยการลงนามครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และ ประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามและแสดงความยินดีที่ทั้ง 3 หน่วยงานจะได้ร่วมกันพัฒนาในเทคโนโลยีและผลงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์ของประเทศ
พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยี กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่มีความร่วมมือของทุกฝ่ายในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ตลอดจนเป็นประโยชน์ในด้านการสร้างเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์
นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และ ประธานสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรของประเทศ คือ ปัญหาด้านการตลาดและโลจิสติกส์ เนื่องจากการขนส่งสินค้าการเกษตรในบางพื้นที่ มีข้อจำกัดและยากต่อการเดินทาง ทำให้ต้นทุนในด้านการขนส่งสูง
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณการองค์ความรู้ รวมถึงบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อร่วมกันศึกษา วิจัย และคิดค้นนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เพื่อแก้ปัญหาด้านการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สูง ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป
นาวาอากาศเอกคมสันต์ ประพันธ์กาญจน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากทั้ง 3 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีระบบ อากาศยานไร้คนขับสำหรับกิจกรรมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ภายใต้แนวคิดเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use Technology) สำหรับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านการเกษตรและพลเรือน
โดยมุ่งเน้นการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเศษวัสดุทางการเกษตรหลังจากบดอัดแล้วเพื่อขนส่งไปที่โรงงานซึ่งเน้นพื้นที่ทุรกันดารหรือเข้าถึงยาก ตลอดจนการให้การศึกษา วิจัยและพัฒนา การฝึกอบรมการใช้งาน การปรนนิบัติบำรุงและการซ่อมบำรุงอากาศยานไร้คนขับ กิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility) ของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพัฒนางานด้านอากาศยานไร้คนขับ สำหรับการให้บริการด้านการขนส่ง ปัจจัยการผลิต อุปกรณ์ เครื่องมือและผลผลิตที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร และร่วมกันสนับสนุนผลักดันให้เกิดการนำผลงานไปสู่การต่อยอดการใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาให้แก่ภาคการเกษตรของประเทศ
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกองทุนส่งเสริม ววน. การสนับสนุนทุนวิจัยโดรนด้านการเกษตรนี้ จะเป็นการผลิกโฉมการพัฒนาโดรนให้เป็นโดรนอเนกประสงค์
นอกเหนือจากการพ่นยา ปุ๋ยเคมี การสำรวจ ยังถูกคิดค้นและพัฒนาให้สามารถส่งผลผลิตเกษตรจากพื้นที่การขนส่งที่เข้าถึงได้ยาก ได้คราวละมากๆ รวมถึงเป็นการบินสำรวจพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่จะช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังพัฒนาขีดความสามารถในการสำรวจพื้นที่แปลงเกษตรประกอบการทำข้อมูลระดับพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับ
วางแนวทางพัฒนาแปลงเกษตร ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าผลงานวิจัยดังกล่าวนี้จะได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อร่วมต่อยอดและยกระดับการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนบนพื้นที่สูงและ สอดคล้องกับแนวคิดทำน้อยได้มาก ทำให้สามารถเคลื่อยย้ายสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงจากพื้นที่สูงมาสู่ผู้บริโภคโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
การลงนามในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทย ในการร่วมยกระดับอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรฯ และอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และส่งเสริมการเติบโตและต่อยอดในภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและพัฒนาบุคลากรของทั้ง 3 องค์กรไปพร้อมๆ กัน ซึ่งล้วนแต่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป