- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 21 March 2024 18:00
- Hits: 10400
กรมส่งเสริมการเกษตรรุกเข้ม ขับเคลื่อน ‘1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง’ ในระดับพื้นที่เร่งวิเคราะห์ Pain Point เพื่อหาแนวทางแก้ไข สู่เป้าหมายเกษตรกรมีรายได้ 3 เท่าในปี 2570
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ความคืบหน้าในการดำเนินงานในโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูงของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2567 มีเป้าหมายกลุ่มแปลงใหญ่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 46 กลุ่มแปลงใหญ่ 46 ตำบล 43 อำเภอ 26 จังหวัด และ 14 ชนิดพืช หนึ่งในนั้นคือ แปลงใหญ่กล้วยไม้ ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้วิเคราะห์ Pain Point ที่ส่งผลต่อรายได้ของกลุ่มเกษตรกรของแปลงใหญ่กล้วยไม้ ตำบลหนองนกไข่ พบว่า 1) ต้นทุนการผลิตสูง (ปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน มีราคาสูงขึ้น) 2) แมลงศัตรูพืชระบาดเข้าทำลายดอกกล้วยไม้ (เพลี้ยไฟ ไอ้ฮวบหรือบั่วกล้วยไม้ ไรแดง) 3) ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตร และ 4) ราคาผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกมีความผันผวนสูง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิต ใช้ระบบการให้น้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ การพัฒนาระบบการจัดการกล้วยไม้สกุลหวายแบบแม่นยำสูง และการพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในการผสมปุ๋ยใช้เองให้ไม่ยุ่งยาก แนวทางการแก้ปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด จะใช้สารเคมีสลับกลุ่มอย่างถูกวิธีในปริมาณที่กำหนด เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช และการพัฒนาสายพันธุ์ต้านทานโรคและแมลง แนวทางการแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่ ใช้การแจ้งเตือนและคำแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ การบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็ม และการจัดสรรรถบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมายังแปลงเกษตร และแนวทางการแก้ปัญหาด้านราคา ใช้เทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้คุณภาพ (ขนาดซุปเปอร์ หรือขนาดยาว) สร้างช่องทางตลาดใหม่ (ออนไลน์ ออฟไลน์) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาบรรจุภัณฑ์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่า และการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าผลผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรจะใช้การบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการศึกษา หน่วยงานแหล่งทุน และอื่นๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรนำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 3 เท่าในปี 2570
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ มีสินค้า 84 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นของกรมส่งเสริมการเกษตร 46 กลุ่ม กรมการข้าว 32 กลุ่ม กรมส่งเสริมสหกรณ์ 5 กลุ่ม และกรมหม่อนไหม 1 กลุ่ม ซึ่งการดำเนินงานในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มที่ 1 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก จำนวน 83 กลุ่ม มีกรอบแนวทางการขับเคลื่อน คือ การพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งออก การขยายตลาดและขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออก การสนับสนุนกลไกการรวบรวม การคัดบรรจุ การขนส่งเพื่อการส่งออก และการอำนวยความสะดวกการตรวจรับรองมาตรฐาน มาตรการทางภาษี การขนส่งสินค้าข้ามแดน นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีก 1 กลุ่มที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีกรอบแนวทางการขับเคลื่อน คือ การพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพื่อยกระดับห่วงโซ่มูลค่าให้สูงขึ้น การส่งเสริมการผลิตอาหาร Future Food และ Function Food การบูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อนำงานวิจัยสู่การถ่ายทอด และส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ โดยขณะนี้ได้เร่งดำเนินการในระดับพื้นที่สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทำงานภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรระดับจังหวัด (Single Command province : SCP) หา Pain Point ของเกษตรกรที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ พร้อมจัดเก็บข้อมูลในเชิงการวิเคราะห์ทางวิชา การวิเคราะห์ ดิน น้ำ เพื่อประเมินคุณภาพ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ตรงประเด็นโดยมีผลทางวิชาการเป็นหลักฐานรองรับ
3795