- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 24 March 2024 20:43
- Hits: 10897
การบริโภคไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง ร่วมผลักดันเพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ ยกระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน
คะตะลิสต์ จับมือ 'สภาผู้บริโภค' จัดเสวนา ‘ต้นทุนของชีวิตในอุตสาหกรรมไข่ไก่’ (Whisper of freedom from egg farm) หวังสร้างความตระหนักถึงแหล่งที่มาของอาหาร และจริยธรรมต่อสัตว์ ผ่านการส่งเสริมให้บริโภคไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง พร้อมผลักดันนโยบายอาหารปลอดภัย พัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเกษตรกรไทย
คะตะลิสต์ ร่วมกับ สภาผู้บริโภค จัดงานเสวนา ‘ต้นทุนของชีวิตในอุตสาหกรรมไข่ไก่’ (Whisper of freedom from egg farm) เพื่อสร้างความตระหนักถึงเรื่องการบริโภคไข่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง (cage free eggs) และให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงระบบการเลี้ยงไก่แบบขังกรงตับในปัจจุบัน รวมถึงการเลือกบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ถูกเลี้ยงอย่างไม่ทรมาน เพื่อผลักดันให้ประชาชนคนไทยได้บริโภคอาหารที่ดีและยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคร่วมเปิดงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้อำนวยการ บริษัท คะตะลิสต์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับระบบอาหารที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรมต่อสัตว์ ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องมีการเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อให้ทันกระแสที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งนี้การเลี้ยงไก่ไข่โดยไม่ขังกรง
นอกจากจะเป็นความรับผิดชอบทางด้านจริยธรรมต่อสัตว์แล้ว ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และทำให้เกิดความยั่งยืนในการบริโภค ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยอีกด้วย
“คะตะลิสต์ สภาผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย ได้สนับสนุนและผลักดันให้มีการยกระดับศักยภาพของผู้ผลิต รวมถึงแวดวงวิชาการ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่การเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนและประเทศไทย”นายแพทย์วัชระกล่าว
คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเป็นผู้แทนของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2565 มีหน้าที่ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน โดยพันธกิจหนึ่งของสภาผู้บริโภคคือการสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดการบริโภคไข่ไก่จากการเลี้ยงไก่แบบไม่ขังกรงถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศไทย
และหลักสิทธิผู้บริโภคสากล ที่ระบุว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกซื้อหาสินค้าและบริการ (The right to choose) ที่มีคุณภาพในราคายุติธรรม และสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นและถูกต้อง เพื่อประกอบการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ (The right to be informed) ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรมต่อสัตว์ด้วย
รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคจะเดินหน้าผลักดันให้เกิดฉลากไข่ไก่จากการเลี้ยงไก่แบบไม่ขังกรง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งผลักดันให้มีผู้แทนของผู้บริโภคในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด (Egg Board) เพื่อให้เกิดนโยบายควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และราคาไข่ไก่ของประเทศ ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
ขณะที่ รศ.ดร.จำเริญ เที่ยงธรรม ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ความเข้าใจที่ว่า ‘สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตและความรู้สึก (sentient being) ที่ต้องรับการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม’ นั้น เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกยอมรับทั้งในแง่ของข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และในมุมจริยธรรมต่อสัตว์
ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการร่วมหลากหลายสถาบัน องค์กรพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Consortium) และผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานของสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ในการศึกษา การค้นคว้าวิจัย เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม
อีกทั้ง ความร่วมมือระหว่าง คะตะลิสต์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันการศึกษาในแต่ละภูมิภาคเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจ พัฒนาศักยภาพ ของบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้เลี้ยงต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงหลักของสวัสดิภาพสัตว์ และสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย อียู อเมริกา เป็นต้น
ทั้งนี้ เวทีเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ HAPPY EGG: Whisper of freedom (เสียงกระซิบแห่งเสรีภาพ) ซึ่งจัดแสดง ณ หอศิลป์กรุงเทพ โถงชั้นที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 19 - 24 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น.
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการอย่าง บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนธุรกิจเบอเกอรี่ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สนับสนุนสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นสนับสนุนจากเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงโดยมีสวัสดิภาพสัตว์ ด้วยการมีนโยบายที่จะใช้ไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง 100% ภายในปี 2572 เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพที่นอกจากรสชาติมีความหอมอร่อยมีประโยชน์กับผู้บริโภค แล้วยังมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของเหล่าแม่ไก่อีกด้วย
______
เกี่ยวกับคะตะลิสต์
วิสาหกิจเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์และระบบอาหารที่ยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านการทำงานสร้างความร่วมมือ (positive engagement) กับหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐ และเอกชน เพื่อยกระดับและส่งเสริมเกษตรกรรมของไทย และอาเซียน
เฟซบุ๊ก: Catalystintercorp อีเมล: info@catalystintercorp.com เว็บไซต์: https://catalystintercorp.com/
เกี่ยวกับสภาองค์กรของผู้บริโภค
สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน
เฟซบุ๊ก: tccthailand อีเมล: contact@tcc.or.th เว็บไซต์: https://www.tcc.or.th
_____
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย