- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 18 June 2024 17:56
- Hits: 10175
รวบแก๊งลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ยึดของกลางจำนวนกว่า 5.7 ตัน มูลค่า 4.5 แสนบาท
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญานาคราช” การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงชายแดน ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษป้องกัน ปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดแนวชายแดนของประเทศให้ต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคายางพาราของเกษตรกรที่มีการผลิตภายในประเทศไทยนั้น ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่ามีการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่จังหวัดระนอง กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง ด่านตรวจพืชท่าเรือระนอง จึงได้ร่วมวางแผนกับ ทหาร ชป.ฉก.ร.25 กับ ชุดเฉพาะกิจพญานาคราช การยางแห่งประเทศไทย เข้าซุ่มดักบริเวณ บ.น้ำแดง ต.น้ำจีดน้อย อ.กระบุรี จ.ระนอง ตรวจพบรถยนต์กระบะตอนเดียวมีคอกกั้น ขนยางพาราข้ามมาจากประเทศเมียนมาจำนวน 5,731 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 4.5 แสนบาท จึงได้ยึดของกลางพร้อมผู้กระทำผิดเพื่อสืบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย
การควบคุมนำผ่านยาง (TRANSIT) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกด่านตรวจสอบการนำผ่านอย่างเข้มงวดจนกว่าจะได้มีการเจรจาข้อตกลงการค้ากับประเทศเมียนมา เกี่ยวกับประเด็นการนำผ่านให้ชัดเจน และการนำเข้า นำผ่านยาง ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข และกฎหมายที่กำหนด ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติกักพืช 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยห้ามนำเข้าสินค้ายางพาราทุกชนิด ที่จัดเป็นสิ่งต้องห้าม จากทุกแหล่ง ยกเว้น ไม้ยางพาราแปรรูปจากเมียนมา และอินโดนีเซีย และเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราแปรรูปพร้อมใช้งาน จากทุกแหล่งสามารถนำเข้าได้
“สำหรับการดำเนินคดีในการลักลอบการนำเข้ายางพาราตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อ ดำเนินคดีทั้งหมด 7 คดี ครอบคลุมจุดที่ได้ร่วมจับกุมการกระทำผิดจากพื้นที่ชายแดน ได้แก่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี อ.แม่สอด จ.ตาก อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งเป็นความร่วมมือในการปฏิบัติงานกับหน่วยงานพื้นที่ หน่วยงานความมั่นคง ด่านศุลกากร โดยการยางแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ตรวจสอบและจำแนกประเภทยางพารา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกระดับความร่วมมือในการป้องกันการลักลอบการนำเข้า นำผ่านยาง เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา ปกป้องพื้นที่ปลูกยางเกษตรกร และอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
6526