- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 13 August 2024 09:07
- Hits: 8097
‘ความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2566’ พัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระบือไทย
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำหนังสือ ‘ความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2566’ พัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระบือไทย พร้อมสร้างรายได้ให้เกษตรกร นำไปสู่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดย โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย (Buffalo Modern Farm) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย หน่วยวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์สัตวเขตร้อนชื้น (Tropical Animal Genetic Special Research Unit; TAGU) ยังคงทุ่มเทในการอนุรักษ์และพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมของกระบือไทย เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิต พร้อมทั้งพัฒนาฐานข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของเกษตรกรไทย ให้สามารถผลิตกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพดีเพียงพอเพื่อสร้างโอกาส รายได้ และผลตอบแทนทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
ล่าสุด ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันจัดทำ "หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2566 หรือ Buffalo Sire and Dam Summary 2023 (ISBN: 978-616-94343-0-6)” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสามารถทางพันธุกรรม (Estimated Breeding Value; EBV) ของพ่อแม่พันธุ์กระบือที่เกิด เติบโต และถูกใช้ในฟาร์มของเกษตรกรไทย หนังสือเล่มนี้สื่อให้เห็นถึง การรวบรวมพันธุ์ประวัติและการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมของกระบือไทยอย่างเป็นระบบครั้งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงในระดับเกษตรกร และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูล ความรู้ และทักษะในการผลิตกระบืออย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเพิ่มโอกาสและผลตอบแทนทางธุรกิจที่ยั่งยืน
ดร.สวัสดิ์ ธรรมบุตร รองประธานโครงการฟาร์มกระบือทันสมัย มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ได้ริเริ่มโครงการ “มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมไถ่ชีวิตโค-กระบือถวายเป็นพระราชกุศล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยได้ไถ่ชีวิตแม่โคและแม่กระบือพันธุ์พื้นเมืองกว่า 2,695 ตัว และมอบให้กับเกษตรกรใน 11 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครพนม บึงกาฬ หนองคาย เลย และสงขลา รวมทั้งหมด 2,298 ครอบครัว เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านแรงงาน สร้างอาชีพ และรายได้ รวมถึงการอนุรักษ์พันธุกรรม
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้ส่งเสริมทั้งด้านวิชาการและการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรทำให้จำนวนโคและกระบือเพิ่มขึ้นเป็น 7,800 ตัว ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ต่อยอดโครงการมาเป็น ‘โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย (Buffalo Modern Farm)’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เพื่อผลักดันการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือในเชิงธุรกิจ โดยการพัฒนาพันธุ์กระบือไทยเป็นหัวใจสำคัญ เกษตรกรสามารถสร้างอาชีพและรายได้เฉลี่ยปีละ 300,000 บาทต่อครัวเรือน
มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเก็บข้อมูลและติดตามผลของกระบือทุกตัวที่มอบให้กับเกษตรกร เพื่อนำข้อมูลไปวิจัยในการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาพันธุกรรมต่อไป โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์กระบือ เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ถึง 2571 นับเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนและภาคการศึกษาร่วมกันศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านการผลิตกระบือไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ อาจารย์ประจำหน่วยวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์สัตว์เขตร้อนชื้น (TAGU) ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ‘หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2566’ รวบรวมข้อมูลพันธุ์ประวัติ ข้อมูลลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และข้อมูลความสามารถทางพันธุกรรม (Estimated Breeding Value; EBV) ของพ่อแม่พันธุ์กระบือที่เกิด เติบโต และถูกใช้ประโยชน์ในฟาร์มของเกษตรกรไทยอย่างละเอียดและเป็นระบบ
สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือไทย ทั้งนี้จะมีการต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาหนังสือเล่มถัดไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำข้อมูลรายละเอียดทางพันธุกรรมในระดับจีโนม (Genome) เข้ามาร่วมในการประเมินความสามารถทางพันธุกรรมของพ่อแม่พันธุ์กระบือเพื่อเพิ่มความแม่นยำสำหรับการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์กระบือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือทั่วประเทศไทยและนำไปสู่การอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตกระบือในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน
"หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2566 ถือเป็นหนังสือเล่มแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และข้อมูลที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้สามารถเป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงกระบือในกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกของฟาร์มกระบือทันสมัยด้วยเช่นกัน พวกเราต้องการขยายความร่วมมือและผลักดันกิจกรรมต้นแบบเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกระบือในวงกว้าง เพราะเรามั่นใจว่า ถ้าอุตสาหกรรมเลี้ยงกระบือเติบโต มีการค้าขายหรือการซื้อขายกันมากขึ้นก็จะส่งผลดีไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ
ซึ่งรวมทั้งสมาชิกของฟาร์มกระบือทันสมัยด้วย ที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างความเป็นประโยชน์ต่อการผลิตกระบือไทยในภาพรวม และหวังว่าจะสามารถขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมมือกับพวกเราได้มากยิ่งขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.ศกร กล่าว
เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วม'โครงการฟาร์มกระบือทันสมัย (Buffalo Modern Farm)' หรือสนใจ'หนังสือความสามารถทางพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์กระบือ 2566' สามารถติดต่อได้ที่ คุณสุพชัย ปัญญาเอก โทร. 089-717-0772 หรือ E-Mail supachai.cp@gmail.com (ฟาร์มกระบือทันสมัย มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์)