- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 20 September 2024 09:33
- Hits: 7920
กยท.จัดสัมมนา หนุนความรู้-แนวปฏิบัติให้พนักงาน ดันโฉนดต้นยางพาราเป็นสินทรัพย์ชาวสวนยาง
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาโครงการโฉนดต้นยางพาราเพื่อเป็นหลักประกันสินเชื่อ พร้อมด้วย นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย โดยมีพนักงาน กยท. จากทั่วประเทศเข้าร่วมสัมมนา เพิ่มพูนความรู้และรับทราบแนวทางปฏิบัติเพื่อจัดทำโฉนดต้นยางให้กับชาวสวนยาง นำไปใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ ยกระดับความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยางต่อไป
ดร.เพิก กล่าวว่า ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้ กยท.ดำเนินงานเพื่อยกระดับที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร กยท. จึงได้ดำเนินโครงการโฉนดต้นยางพาราเพื่อเป็นหลักประกันสินเชื่อให้แกเกษตรกรชาวสวนยาง โดยในวันนี้ กยท. ได้จัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับพนักงาน กยท. เกี่ยวกับเรื่องแนวทางปฏิบัติงานในการจัดทำโฉนดต้นยางพาราให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขอรับโฉนดต้นยางใช้เป็นเอกสารรับรองการมีต้นยาง สำหรับนำไปใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่มีการให้บริการรองรับ นอกจากนี้ กยท. ยังให้ความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพสวนยาง รวมถึงเล็งเห็นโอกาสในการแปลงทรัพย์สินอย่างต้นยางพาราให้สามารถเป็นทุน เพื่อนำทุนที่ได้ไปประกอบอาชีพการทำสวนยางและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราในที่สุด
“โฉนดต้นยางเป็นสิ่งที่เกษตรกรควรได้รับเป็นเอกสารสิทธิ์แสดงสิทธิ์ในการครอบครองและใช้ประโยชน์จากต้นยางที่พวกเขาเป็นผู้ปลูกและดูแล โฉนดต้นยางจะเป็นตัวบอกว่าต้นยางต้นไหน มีใครเป็นผู้ครอบครอง แต่ละต้นมีพิกัดที่ตั้งชัดเจน โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้วิเคราะห์ คำนวณผลผลิตยางซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการผลผลิตยางของไทยได้ ต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ให้ชาวสวนยางจากคาร์บอนเครดิตในสวนยาง และอาจนำไปสู่การนำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำประกันภัยต้นยางในอนาคต” ดร.เพิก กล่าวทิ้งท้าย
นายสุขทัศน์ กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงาน กยท. ในเรื่องแนวทางปฏิบัติงานในการจัดทำโฉนดต้นยางพาราแล้ว ยังเป็นเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในเรื่องนวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพด้านการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสวนยาง ต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ Carbon Credit ในสวนยางพาราส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก สร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับ หัวข้อบรรยายการประชุมสัมมนาฯ ในวันนี้ ประกอบด้วย การประเมินปริมาตรไม้ยางพาราเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ และคำแนะนำพันธุ์ยาง 2567, การดำเนินการโฉนดต้นยางพารา, การใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันสินเชื่อของ ธ.ก.ส. และการสำรวจและคำนวณมูลค่าสวนยางพาราด้วยเทคโนโลยี LiDAR โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอกมาให้ความรู้แก่พนักงาน กยท. ในครั้งนี้