- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 08 February 2025 11:38
- Hits: 1968
กยท. ทุ่มงบ 12 ล้าน รับซื้อปลาหมอคางดำ เฟส 2 เริ่มแล้ว!! ผ่านจุดรวบรวมฯ กรมประมง เตรียมส่งผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพฯ
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทุ่มงบ 12 ล้าน ซื้อปลาหมอคางดำ เฟส 2 เป็นวันแรก (7 ก.พ.68) ผ่านแพปลา - จุดรวบรวมที่ลงทะเบียนกับกรมประมง ตั้งเป้ารับซื้อปลาได้กว่า 600,000 กก. ส่งผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพฯ ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำยางและพืชผลการเกษตรอื่นๆ
นายสุขทัศน์ ต่างวิรยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทยมีความพร้อมดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำ ภายใต้โครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ต่อเนื่องเป็นเฟสที่ 2 โดยใช้งบประมาณเงินทุนหมุนเวียน มาตรา 13 รับซื้อปลาหมอคางดำจากแพปลาหรือจุดรับซื้อที่ประกาศโดยกรมประมง ซึ่ง กยท. จะจ่ายเงินให้กับจุดรับซื้อในราคา 20 บาท/กก. (แบ่งเป็นค่าปลาที่จ่ายให้กับชาวประมงหรือผู้จับปลามาขาย 15 บาท/กก. และจ่ายให้กับแพปลาที่กรมประมงประกาศเป็นจุดรับซื้อ เป็นค่าบริหารจัดการรวบรวมขนส่งไปยังจุดผลิต น้ำหมักชีวภาพฯ 5 บาท/กก.)
ซึ่งกรมประมงมีการเปิดรับสมัครแพปลาที่สนใจเป็นผู้รวบรวมปลาหมอคางดำ ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. - วันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา และจะประกาศจุดรับซื้อปลาภายในวันนี้ ( 7 ก.พ. 68) โดยพร้อมเปิดจุดรับซื้อทันที สำหรับ กยท. เอง ได้รวบรวมใบสมัครของจุดผลิตน้ำหมักชีวภาพ จาก กยท. ทั้ง 7เขต ทั้งที่เป็นกลุ่มสถาบันเกษตรกรและหมอดินอาสา เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการรับวัตถุดิบจากแพปลาและจุดรวบรวมปลาในโครงการฯ เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำต่อไป
“กยท. หวังว่า การเข้าไปรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เพื่อรักษาระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ให้ความสำคัญในการมุ่งแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง”
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับซื้อปลาหมอคางดำมาแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ ยังเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง โดยหลังจากที่ กยท. นำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำที่แปรูปในล็อตแรกไปจัดสรรให้กลุ่มชาวสวนยางกลุ่มแปลงใหญ่ทั่วประเทศ เห็นผลได้ชัดว่า สามารถช่วยให้ต้นยางเจริญเติบโตได้ดี กรีดยางง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิตยาง รวมไปถึงมีคุณสมบัติช่วยบำรุงพืชเกษตรชนิดอื่นๆ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้มากขึ้นด้วย