WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สศก.ร่วมผลักดันมาตรฐานสินค้า เจาะความคืบหน้ามาตรฐานพืช-ปศุสัตว์-ประมง

    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เกาะติดโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานฯ (Good Agricultural Practice : GAP) ลุยพื้นที่ติดตามมาตรฐานพืช ปศุสัตว์ และประมง แนะเดินหน้าขันนอตประชาสัมพันธ์สินค้าสัญลักษณ์ Q อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค พร้อมเตรียมรายงานผลโครงการฯ ไตรมาส 3 ในเดือนกรกฎาคมนี้

  นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความห่วงใยต่อสุขภาพมากขึ้น และสนใจถึงแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงอันตรายต่อสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัยหรือปนเปื้อนเชื้อโรคและสารพิษ ในขณะเดียวกันการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ได้มีการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเป็นข้อกีดกันทางการค้าอย่างเข้มงวด ดังนั้น ความปลอดภัยทางด้านอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐจำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในปี 2557กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน เพื่อผลิตสินค้าเกษตรทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP)

    ในการนี้ สศก.ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ และได้รวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2557 ถึงมาตรฐานด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง พบว่า มาตรฐานด้านพืช ได้ดำเนินการรับรองฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ของเกษตรกร ได้แก่ ข้าว ผัก/ผลไม้ มีเป้าหมาย 161,300 ฟาร์ม ดำเนินการได้ 54,917 ฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 34 โดยส่วนใหญ่เกษตรกรทราบข่าวจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมและเพื่อนบ้าน ซึ่งสาเหตุที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากมีตลาดรองรับ/ใช้ใบรับรองในการขายผลผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้า สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การส่งเสริมของเจ้าหน้าที่ และมีตลาดรองรับผลผลิตคุณภาพที่แน่นอน ทั้งโรงสีข้าวคุณภาพ โรงคัด/บรรจุ โรงแปรรูป และโมเดิร์นเทรด ซึ่งทำให้ระบบการผลิตสินค้ามีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีหน่วยงานที่ดำเนินการด้านพืช ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว และกรมสงเสริมสหกรณ์ ที่รับผิดชอบตั้งแต่การส่งเสริม การอบรมถ่ายทอดความรู้ การตรวจรับรองมาตรฐานฟาร์ม และการตรวจโรงคัดบรรจุ แปรรูป เป็นต้น

    มาตรฐานด้านปศุสัตว์ ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์ สินค้าที่เน้น ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ซึ่งการผลิต ปศุสัตว์ ส่วนใหญ่มีระบบการเลี้ยงและการผลิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอยู่แล้ว โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีการเลี้ยงแบบพันธะสัญญาที่ต้องได้รับมาตรฐานการเลี้ยงเพื่อส่งผลผลิตให้แก่คู่สัญญาที่มีโรงคัดบรรจุ (ไข่ไก่) และโรงงาน แปรรูปที่มีมาตรฐานต่อไป

    มาตรฐานด้านประมง ดำเนินการโดยกรมประมง มีเป้าหมาย 32,008 ฟาร์ม ดำเนินการได้ 15,576 ฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 49 โดยการเลี้ยงกุ้งทะเลมีระบบการควบคุมที่เข้มงวดและเป็นระบบ ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการส่งกุ้งให้ผู้รวบรวมผลผลิตที่ได้มาตรฐานจะต้องได้รับรองมาตรฐานฟาร์มก่อน และการปล่อยกุ้งต้องมีใบรับรองลูกกุ้งจากโรงเพาะฟัก อีกทั้งเมื่อจับจะต้องมีใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ และตรวจสารตกค้างในผลผลิตก่อนจับ ในขณะที่ผู้รวบรวมผลผลิตและแปรรูปเบื้องต้นจะต้องได้รับมาตรฐาน (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อรวบรวมกุ้งส่งโรงงานแปรรูปส่งออก เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีเกิดปัญหาขึ้น

   ทั้งนี้ การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ควรมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ผลิตที่ต้องมีขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการประชาสัมพันธ์สินค้าคุณภาพ (สัญลักษณ์ Q) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สศก.จะติดตามและรายงานผลโครงการของไตรมาส 3 อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้

                สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!