WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก.เกษตรฯ เดินหน้าสัญญาซื้อขายสับปะรดโรงงาน เร่งทำความเข้าใจเกษตรกร

    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2558-2562 กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาราคา พร้อมเร่งหารือการจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงานกับทุกฝ่าย ระบุขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดและโรงงานแปรรูป

   นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สับปะรด เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศปีละประมาณ 23,000-25,000 ล้านบาท โดย ผลผลิตสับปะรดร้อยละ 80-85 ของผลผลิตทั้งหมดนั้นป้อนโรงงานแปรรูปสับปะรด และร้อยละ 15-20 ของผลผลิตทั้งหมด ใช้บริโภคในรูปผลสด และส่งออก อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้มีความผันผวนมาโดยตลอด กล่าวคือ หากช่วงที่มีปริมาณสับปะรดออกสู่ตลาดเกินความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรด จะส่งผลให้ราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ลดลง ในทางตรงกันข้ามหากช่วงที่มีปริมาณสับปะรดออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรด จะส่งผลให้ราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น การผันผวนของราคาสับปะรด นอกจากจะกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรแล้ว ยังส่งผลให้โรงงานแปรรูปสับปะรดไม่สามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิต และกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์สับปะรดเพื่อการส่งออกไปตลาดโลกที่มีการแข่งขันมากขึ้นได้ เนื่องจากในการผลิตสับปะรดกระป๋องใช้วัตถุดิบที่เป็นสับปะรดในสัดส่วนร้อยละ 40-50 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

     ด้านนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษก สศก.กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าว สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาสับปะรดปี 2558 -2562 จึงได้ยกร่างยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2558 -2562 ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะทำงานฯ เรียบร้อยแล้ว โดยได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาราคาสับปะรด ปรับความสมดุลระหว่างความต้องการของตลาด (Demand) และผลผลิต (Supply) ให้สอดคล้องกันรวมทั้งการสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรดจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงาน (Contract Farming)

    โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการผลักดันให้มีการจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงาน (Contract Farming) ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด กับผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสับปะรด ให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้การบริหารจัดการด้านผลผลิต และราคาสับปะรดมีเสถียรภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดและอุตสาหกรรมสับปะรดให้มีความยั่งยืน ในการนี้ ได้จัดประชุมหารือการจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยนายกสมาคมชาวไร่สับปะรดไทย ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่าสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงาน (Contract Farming) ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันและเกิดประโยชน์ร่วมกัน เป็นมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาราคาสับปะรดให้มีเสถียรภาพและสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ที่จะทำรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศไทยด้วย

    ทั้งนี้ ภาครัฐจะมุ่งดูแลเกษตรกรที่จัดทำสัญญาฯ ในเรื่องสนับสนุนการเรียนการสอนและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่เกษตรกร การให้ความช่วยเหลือกรณีการเกิดภัยธรรมชาติเป็นลำดับแรก เป็นต้นและภาครัฐจะดูแลภาคอุตสาหกรรมในเรื่องการอำนวยความสะดวก เช่น การจัดหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมสับปะรด การเสริมสภาพคล่องด้านการเงินแก่โรงงานแปรรูปสับปะรด และการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่โรงงานแปรรูปในการจัดหาเครื่องจักรกล เป็นต้น

     จึงอยากขอให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดให้เห็นความสำคัญกับการทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงานกับโรงงานแปรรูป เพื่อร่วมกันวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน โดยขณะนี้ ได้มีร่างสัญญาข้อตกลงซื้อขายสับปะรดโรงงานเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดและโรงงานแปรรูป พร้อมทั้งพิจารณามาตรการต่างๆ  เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานต่อไป

 ที่มา ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!