WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การลงทุนภาคการเกษตรของไทยในอาเซียน

   ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงการลงทุนภาคการเกษตรของไทยในอาเซียน ซึ่งจากกระแสโลกาภิวัตน์ รวมทั้งกระแสการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนจากการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียน (AC) ที่กำลังจะถึงในปี 2558 จึงนับเป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่จะออกไปแสวงหาลู่ทางการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMVซึ่งได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนอยู่ติดหรือใกล้เคียงกับไทย เป็นทั้งแหล่งทรัพยากรการผลิตที่สำคัญและตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกันทั้งอาเซียน ประมาณ 600 ล้านคน

   นับตั้งแต่อดีตจากข้อมูลปี 2551 ถึง 2556 ไทยไปลงทุนในต่างประเทศ (Thai Direct Investment: TDI) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV เฉลี่ยถึงร้อยละ 44.70 สาขาการผลิตที่บริษัทไทยไปลงทุนมากที่สุดคือ เหมืองแร่และย่อยหินประมาณร้อยละ 46 (สัดส่วนเฉลี่ยปี 2551-2556) รองลงมาคือ ภาคการเงินและประกันภัยร้อยละ 24 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 16 การค้าส่งและปลีกร้อยละ 13 ตามลำดับ

   ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีต่อการลงทุนภาคการเกษตรของไทยในอาเซียนตามทฤษฎีสังเคราะห์ของดันนิง (Dunning’ Eclectic Theory, 1993) ประกอบด้วย

                1.  ปัจจัยทางด้านทรัพยากร

                2.  ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

                3.  ปัจจัยด้านการเงิน

                4.  ปัจจัยด้านการค้าระหว่างประเทศ

                5.  ปัจจัยด้านภาษาและการสื่อสารทางการค้า

                6.  ดัชนีชี้วัดทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

                7.  ปัจจัยด้านกฎระเบียบและข้อตกลงทางการลงทุนระหว่างประเทศและปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ

      การศึกษาศักยภาพการลงทุนภาคการเกษตรของไทยในอาเซียนของศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร โดยอาศัยการสร้างแบบจำลองแรงดึงดูด (Gravity Model) เพื่อวิเคราะห์การลงทุนในรูปมูลค่าการลงทุนของไทยไปยังประเทศกลุ่มอาเซียนอีก 9ประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (per capita income)ของประเทศกลุ่มอาเซียนอีก 9 ประเทศ  มูลค่าการส่งออก ระยะทางระหว่างประเทศ ข้อผูกพัน สัญญาทางการค้า และตัวแปรอื่น ๆ จากการศึกษาพบว่า การลงทุนของไทยไปยังในประเทศกลุ่มอาเซียน จะแปรผันในทางเดียวกันกับขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (per capita income)ของประเทศกลุ่มอาเซียนอีก 9 ประเทศ มูลค่าการส่งออก ข้อผูกพัน สัญญาทางการค้าต่าง ๆ ในขณะที่แปรผกผันกับระยะห่างระหว่างประเทศ กล่าวคือ

    หากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลทำให้มีความต้องการการลงทุนจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04

   ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวของประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลทำให้มีความต้องการการลงทุนจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.33

    ในส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้การลงทุนของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83

    ระยะทางระหว่างประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะทำให้การลงทุนประเทศไทยลดลงร้อยละ 1.29 (ระยะทางยิ่งไกล โอกาสที่จะไปลงทุนยิ่งมีน้อย) และหากมีข้อตกลงทางการค้าอยู่ก่อนก็จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้ไทยไปลงทุนในกลุ่มอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 เช่นเดียวกัน

มาตรการและแนวทางการส่งเสริมการลงทุน

    ภาครัฐ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยอย่างมีประสิทธิผลต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แนวทางที่สำคัญนั้นหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทหลัก คือ การดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี ควรขจัดเกณฑ์การเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเพื่อลดภาระและต้นทุนการบริหารจัดการของภาคเอกชน ด้วย สนับสนุนเงินทุนแก่ธนาคารของรัฐโดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank ) เพื่อให้ธนาคารฯ มีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนไปลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารของรัฐต่างๆ ควรจะต้องเน้นการให้ความสะดวกด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินที่ครบวงจรแก่นักลงทุนมากขึ้น และควรมีการตั้งหน่วยงานกลางแบบ One-Stop Service ที่ทำหน้าที่เชิงรุกในการให้ความรู้ ชี้แนะโอกาสทางธุรกิจ กลยุทธ์การทำธุรกิจในต่างประเทศ รวมทั้งช่วยจัดหาที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้คำแนะนำแก่ภาคเอกชนไทยในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และ/หรือ จับคู่นักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ที่ทราบถึงกฎ ระเบียบ หรือตลาดในประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างดี ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้เลยคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับรัฐต่อรัฐ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีกฎระเบียบที่ซับซ้อนและเข้มงวด เพื่อช่วยสนับสนุนภาคเอกชนในการเจรจาด้านการลงทุนระหว่างประเทศ

    ภาคเอกชน นักลงทุนไทยควรปรับตัวและเตรียมตัว ได้แก่ การรวมตัวของภาคเอกชนไทยเป็นคณะกลุ่มหรืออาจสร้างเป็นคลัสเตอร์เพื่อไปหารือโดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐในประเทศเป้าหมาย จะได้รับความสนใจกว่าการออกไปเป็นรายบริษัท การเรียนรู้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งศึกษาข้อมูลหรือสภาพแวดล้อมของประเทศที่จะไปลงทุนให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสังคม ภาษา วัฒนธรรมและกฎระเบียบด้านการลงทุนของแต่ละประเทศด้วย

แนวทางการลงทุนด้านการเกษตรในประเทศสมาชิกอาเซียน

     กัมพูชา ธุรกิจที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนในกัมพูชา อาทิ การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การผลิตสินค้าเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย การแปรรูปสินค้าเกษตร โรงสีข้าว การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสัตว์น้ำ การทำฟาร์ม ปศุสัตว์สมัยใหม่ การทำธุรกิจการเกษตรแบบครบวงจร รวมทั้งธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

     อินโดนีเซีย เน้นและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เช่น อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ยางพารา และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เป็นต้น หากเป็นอาหารสำหรับการบริโภค ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานฮาลาลอย่างเคร่งครัด

    สปป.ลาว ธุรกิจการเกษตรที่ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุน คือการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลิตผลจากป่า เช่น ลูกตาวประป๋อง เครื่องใช้จากไม้ไผ่ สมุนไพร การผลิตปศุสัตว์ การทำประมงน้ำจืดในแม่น้ำโขง และการผลิตและแปรรูปอาหาร เป็นต้น รวมทั้งบริการทางการเกษตรโดยใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย ลาวมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การรับรองมาตรฐานสินค้า และการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร จึงจำเป็นต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนาจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก การดำเนินธุรกิจการเกษตรในลาว จะประสบปัญหาเรื่องแรงงาน ทั้งด้านจำนวนแรงงาน ทักษะฝีมือ ความกระตือรือร้นในการทำงาน และความไว้วางใจ และการปฏิบัติต่อนักลงทุนต่างชาติของทางการ สปป.ลาว จะมีความแตกต่างกัน นักลงทุนควรตระหนัก เรื่องการคิดและตัดสินใจแทนคนลาวว่าควรจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และเพื่ออะไร ต้องให้เป็นความต้องการของคนลาวเอง เช่น การทำการเกษตรตามความต้องการของคนลาวเองไม่ใช่ความต้องการของนักลงทุน เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับคนลาว

     มาเลเซีย การผลิตและแปรรูปอาหารที่เป็นโครงการใหม่ และ/หรือเป็นการขยายการลงทุนเพิ่มเติม เช่น โครงการผลิตอาหารฮาลาล การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกที่ทันสมัย การแปรรูปไม้ยางพารา การส่งออกอาหาร ผลไม้และดอกไม้ เป็นต้น อุตสาหกรรมเกษตรจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บางส่วน โดยนำเงินได้เพียงร้อยละ 30 ของเงินได้ทั้งหมดมาคำนวณภาษีเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่มีผลผลิตออกจำหน่ายส่วนการลงทุนในเขตที่รัฐบาลส่งเสริมพิเศษได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดเป็น เวลา 5 ปี

   เมียนมาร์ มีนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตร โดยส่งเสริมการลงทุนทางการเกษตรทุกรูปแบบ ทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ตั้งแต่การผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ และการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปต่างประเทศ กฏหมายการลงทุนฉบับใหม่ โดยมีข้อกำหนดด้านการลงทุนของชาวต่างชาติ โดยสาขาที่ต้องดำเนินกิจการร่วมกับชาวเมียนมาร์ในรูปแบบร่วมลงทุน (Joint venture) รวมสาขาเกษตรด้านการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชผสม อนุญาตให้ต่างชาติดำเนินกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดและได้รับอนุญาตเห็นชอบจากหน่วยราชการหรือต้องร่วมทุนกับรัฐบาลหรือกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลบางสาขา เช่น มาตรฐานด้านปศุสัตว์ และรูปแบบลงทุนต่างชาติลงทุน 100%, แบบจัดตั้ง Joint Venture กับเอกชนสหภาพเมียนมาร์, ร่วมลงทุนในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) และรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น

      ฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประกอบกับยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมิได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ อาทิ สัตว์น้ำ?สาหร่ายคาราจีนัน และพืชผลการเกษตรต่างๆ?อุตสาหกรรมที่ควรลงทุน ได้แก่ การแปรรูปสินค้าประมง เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง/กระป๋อง การแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น ผักผลไม้ บะหมี่ ขนมปังกรอบ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เป็นต้น

                        สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!