WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

PUYสงตด

'ปุ๋ยสั่งตัด': แก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยแบบเบ็ดเสร็จโดยเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังก้าวไปสู่การปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในการปฎิรูปนั้นก็คือภาคการเกษตร 'ปุ๋ยเคมี'เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญทางการเกษตร พบว่า ร้อยละ 20 ของต้นทุนการผลิตข้าวเป็นค่าปุ๋ยเคมี ประเทศไทยมีการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตข้าวกว่า 2.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท การใช้ปุ๋ยของเกษตรกรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถูกจำกัดจากสูตรปุ๋ยที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งเป็นคำแนะนำปุ๋ยอย่างกว้าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินขณะนั้น ดังนั้น เกษตรกรไทยจะต้องมีการปรับตัว และนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น 'การลดต้นทุนการผลิต ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น' จึงเป็นทางออกที่ดีของสินค้าเกษตรของไทย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแนวทางการลดต้นทุนให้เป็นรูปธรรม 

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนจึงได้เปิดเวทีทางวิชาการ ในรูปแบบของการประชุมเสวนา เรื่องปฏิรูปการใช้ปุ๋ยของชาวนาไทย”ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยปุ๋ยสั่งตัด และผลสัมฤทธิ์ในการลดต้นทุนการผลิตของชาวนาในภูมิภาคต่างๆ  ซึ่งในช่วงปี 2540-2550 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้สนับสนุนการวิจัยโครงการ ‘ปุ๋ยสั่งตัด’เพื่อทำวิจัยและพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยที่มีความแม่นยำในพืชเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะข้าว อีกทั้งได้พัฒนาชุดตรวจสอบ NPK ในดินแบบรวดเร็ว ที่มีความถูกต้องและแม่นยำ 90-95 % นอกจากนี้ เพื่อให้ได้ข้อเสนอรูปแบบและกระบวนการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติของภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกร (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี) ภาครัฐ/ผู้กำกับนโยบาย (กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว) ภาคเอกชน (ธกส. สโมสรโรตารี่) ภาคประชาชน และนักวิชาการ  

คลินิกดิน 'ปุ๋ยสั่งตัด': แก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยแบบเบ็ดเสร็จโดยเกษตรกร

ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์

   ประเทศไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปี 62 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย433 กก./ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง  16 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 669 กก./ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2556) จะเห็นว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ยังต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ2

    ชาวนาไทยส่วนใหญ่มีปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เนื่องปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยเคมี ขาดความรู้เรื่องดินและปุ๋ย อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยด้อยมาตรฐาน และปุ๋ยแพงอีกด้วย ส่งผลให้ยิ่งพัฒนา ยิ่งมีหนี้สิน ที่ดินหลุดมือ ต้องเช่าที่ดินทำกิน จึงไม่ใส่ใจปรับปรุงบำรุงดิน เมื่อดินเสื่อม ผลผลิตพืชย่อมลดลง

    ดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีมากกว่า 200 ชุดดิน มีศักยภาพและข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ความลึก ความเป็นกรด-ด่าง เนื้อดิน ฯลฯ จึงต้องรู้ว่า ที่ดินผืนนั้นเหมาะกับพืชชนิดใด?

    พืชต้องการธาตุอาหาร 18 ธาตุ จึงต้องรู้ว่า ดินขณะนั้นมีธาตุอาหารอะไร? ปริมาณเท่าไรก่อนใส่ปุ๋ย? ซึ่งทำได้โดยการวิเคราะห์ดินทางเคมีเท่านั้น

     เกษตรกรยังต้อง “รู้จักปุ๋ย” ปุ๋ย คือ วัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืช หรือสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดธาตุอาหารพืช ปุ๋ยจึงไม่ใช่สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยที่จำหน่ายในประเทศไทยมีเพียง 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งปุ๋ยแต่ละประเภทมีจุดประสงค์การใช้ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยเคมีเน้นเฉพาะธาตุอาหารหลัก (N-P-K) เท่านั้น

    เทคโนโลยี'ปุ๋ยสั่งตัด'ช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำด้วยตนเอง ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน (1) ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน ดูจากแผนที่ชุดดิน หรือตรวจสอบที่เว็บไซด์ www.soil.doae.go.th (2) วิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดิน โดยชุดตรวจสอบ เอ็น- พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว และ (3) ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ ศึกษาจากคู่มือคำแนะนำ'ปุ๋ยสั่งตัด'หรือโปรแกรมคำแนะนำ'ปุ๋ยสั่งตัด'ดาวน์โหลดฟรีที่เว็บไซต์ www.ssnm.info

    ปี 2556 กองทุนคิวม่า (Kyuma Fund) มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดทำโครงการนำร่องหนุนเสริม

    เกษตรกรสุพรรณบุรี สระบุรีและขอนแก่น ให้จัดตั้งคลินิกดิน'ปุ๋ยสั่งตัด'โดยสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปีแห่งละ 2 แสนบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อแม่ปุ๋ยมาจำหน่าย

   คลินิกดินฯ ให้บริการ (1) ตรวจดินฟรี (2) ให้คำแนะนำปุ๋ย และ (3) ขายแม่ปุ๋ย เป็นการแก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยให้แก่เกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียวโดยเกษตรกร (One Stop Service for Fertilizer Problem Solving by Farmers)3

    ปัจจุบัน คลินิกดินฯ ทั้ง 3 แห่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จึงมีเกษตรกรพิษณุโลก กาญจนบุรี และพิจิตร ใช้เงินกองทุน SML ของหมู่บ้าน ระดมทุนกันเอง ฯลฯ จัดตั้งคลินิกดินฯ เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง และยังมีเกษตรกรอีกหลายจังหวัดกำลังดำเนินการ เช่น สตูล สงขลา สิงห์บุรี กาฬสินธุ์ ฯลฯ

    น่าสนใจที่ปีนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ขับเคลื่อนโครงการ'ปุ๋ยสั่งตัด'สำหรับข้าว 1 อำเภอ 1 ตำบล มีชาวนาผู้นำในแต่ละตำบลเข้าร่วม 25 คน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)หนุนเสริมงบประมาณ และเกษตรจังหวัดประสานงาน พบว่า ในเวทีสร้างทีมตำบลเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2557 นี้ มี 3 ตำบลต้องการจัดตั้งคลินิกดินฯ

    ฉะนั้น ในช่วงสุญญากาศนี้ ถ้า อปท. หนุนเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” สิ่งดีๆ ย่อมเกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติโดยรวมอย่างแน่นอน

     ที่มา : วารสารปฐพึ & เคมีการเกษตรสัมพันธ์

http://www.ssnm.info/

คลินิกดินปุ๋ยสั่งตัด แหล่งเรียนรู้ดินและปุ๋ย โดยเกษตรกร เพื่อเกษตรกร

     เมื่อได้ยินคำว่า'ปฏิรูป'ทำให้นึกถึงตกยุค ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ขณะนี้พรรคการเมืองใหญ่และการศึกษาไทยก็กำลังถูกปฏิรูป แสดงว่า ทั้งนักการเมืองและคนกระทรวงศึกษาฯ นั้นตกยุค ฉะนั้น ถ้าต้องการให้การเกษตรไทยมีอนาคตที่สดใส คนกระทรวงเกษตรฯ และเกษตรกรต้องเร่งปฏิรูปตนเองให้เป็น'มืออาชีพ'เนื่องจากความสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่คน

   เกษตรกรมืออาชีพต้อง'รู้จักคิด'เริ่มจากหันกลับมาคิดพึ่งตนเอง เพื่อฟื้นฟูความภาคภูมิใจ และความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องเห็นคุณค่าของผู้อื่นด้วย เพราะคนในชุมชนและสังคมต่างพึ่งพาอาศัยกัน

4

  คิดแบบองค์รวม การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืชขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย อาทิ พันธุ์พืช วัชพืช โรค แมลง น้ำ ดินและปุ๋ย แต่ที่สำคัญมาก คือการจัดการของเกษตรกร หรือคุณภาพของเกษตรกรนั่นเอง

    คิดเป็นระบบ วางแผนการผลิตที่มีเป้าหมายชัดเจน ท้าทาย รู้ว่า ต้องการอะไร เท่าไร เมื่อไร เช่น มีเป้าหมายลดต้นทุนการปลูกข้าว 500 บาทต่อไร่ในฤดูหน้า

    คิดสร้างสรรค์ ค้นคว้า หาวิธีการใหม่ๆ มาทดลองใช้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ไร่นาเป็นห้องเรียน ใช้พืชที่ปลูกเป็นครู และคิดแบ่งปัน ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และใช้ไร่นาที่ประสบความสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

   เกษตรกรมืออาชีพต้อง'รู้จักพืช'ผลผลิตมันสำปะหลังเฉลี่ยของประเทศในปัจจุบันไม่ถึง 4 ตันต่อไร่ หรือต่ำกว่า 3 กก.ต่อต้น แต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ชาวไร่ในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ชนะเลิศการประกวดได้ผลผลิต 120 กก.ต่อต้น หรือมากกว่า 40 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ แสดงว่า พันธุ์มันสำปะหลังที่ใช้อยู่มีศักยภาพให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก อีกตัวอย่างหนึ่ง ปัญหาต้นข้าวล้มก่อนการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะเขตชลประทานภาคกลาง เนื่องจากชาวนาไม่รู้ปริมาณความต้องการธาตุอาหารของข้าว จึงใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป 2-3 เท่าตัว

    เกษตรกรมืออาชีพต้อง 'รู้จักดิน'ในบรรดาปัจจัยการผลิต เกษตรกรขาดความรู้เรื่องดินและปุ๋ยมากที่สุด ส่งผลให้ยิ่งพัฒนา ยิ่งมีหนี้สิน ที่ดินยิ่งหลุดมือ เกษตรกรเปลี่ยนเป็นกรรมกรมากขึ้นๆ ในที่นี้เรียกผู้เช่าที่ดินเพาะปลูกพืชว่า'กรรมกร'ซึ่งจะไม่ใส่ใจปรับปรุงบำรุงดิน เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน เมื่อดินเสื่อมโทรม ผลผลิตจะลดลง ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น

   ดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีมากกว่า 200 ชุดดิน มีศักยภาพและข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ความลึกของดิน ความเป็นกรด-ด่าง เนื้อดิน ความโปร่งร่วนซุย จึงต้องรู้ว่า ที่ดินเหมาะสำหรับปลูกพืชชนิดใด มีเกษตรกรจำนวนมาก ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตดีเฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรกเท่านั้น

5

   พืชต้องการธาตุอาหาร 17 ธาตุ สำหรับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต 3 ธาตุได้จากน้ำและอากาศ ส่วนอีก 14 ธาตุได้จากดิน จึงต้องรู้ว่า ดินมีธาตุอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไร “ดินปวดหัว หรือปวดท้อง” จึงจะให้ยา หรือใส่ปุ๋ยได้ถูกต้อง

    เกษตรกรมืออาชีพต้อง'รู้จักปุ๋ย'ปุ๋ย คือ วัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืช หรือสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดธาตุอาหารพืช ปุ๋ยจึงไม่ใช่สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยที่จำหน่ายในประเทศไทยมีเพียง 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยแต่ละประเภทมีวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกัน เช่น การใส่ปุ๋ยเคมีมุ่งให้เฉพาะธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) เท่านั้น

    ปุ๋ยเคมีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก'แม่ปุ๋ย'ได้แก่ แม่ปุ๋ยเอ็น เช่น 46-0-0 แม่ปุ๋ยพี เช่น 18-46-0 และแม่ปุ๋ยเค เช่น 0-0-60 ส่วนกลุ่มที่ 2'ปุ๋ยผสม'ได้จากการนำแม่ปุ๋ยตั้งแต่ 2 ชนิดมาผสมกันให้ได้ปริมาณและสัดส่วนของ เอ็น–พี–เค ตามที่ต้องการ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปปุ๋ยผสมปั้นเม็ด และปุ๋ยผสมคลุกเคล้า ในปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ประมาณ 800 สูตร

   เกษตรกรมืออาชีพต้อง'รู้จักการใช้ปุ๋ย'พืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกัน ถ้าใส่ปุ๋ยมากเกินไป นอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้พืชอ่อนแอ โรคและแมลงระบาดรุนแรงขึ้น แต่ถ้าใส่ปุ๋ยน้อยเกินไป จะได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร เพราะธาตุอาหารตัวที่ขาดแคลนมากที่สุด จะเป็นตัวจำกัดการตอบสนองของพืชต่อการเพิ่มธาตุอาหารตัวอื่นๆ

  คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบัน ยังคงเป็นแบบกว้างๆ มิได้คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารพืชในดินขณะนั้น จึงเรียกว่า'ปุ๋ยเสื้อโหล'(เสื้อมีขนาดเดียว) ทำให้การใช้ปุ๋ยไม่ตรงกับความต้องการของพืช มีเกษตรกรจำนวนน้อยมากใช้'ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน'(เสื้อมีขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่) โดยนำค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มากำหนดคำแนะนำปุ๋ย แต่มิได้นำความแตกต่างของชนิดดินมาร่วมพิจารณาด้วย การใช้ปุ๋ยจึงยังคงไม่เหมาะกับดินแต่ละชนิด

   'ปุ๋ยสั่งตัด'(เสื้อมีขนาดพอดีตัว) เป็นคำแนะนำปุ๋ยเคมีที่นำข้อมูลชุดดิน และค่าวิเคราะห์ เอ็น-พี-เค ในดินปัจจุบัน รวมทั้งปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช ได้แก่ พันธุ์พืช แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน มาร่วมกำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ยด้วย จึงมีความแม่นยำ ทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

   ดังนั้น เกษตรกรควรวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย เพื่อให้รู้ว่า ธาตุอาหารในดินมีอยู่เท่าไร ต้องใส่ปุ๋ยชนิดใด (ใส่ปุ๋ยให้ 'ถูกชนิด') และในปริมาณเท่าไร (ใส่ปุ๋ยให้'ถูกปริมาณ') โดยใช้คำแนะนำ'ปุ๋ยสั่งตัด'หรือคำแนะนำ'ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน'ดาวน์โหลดฟรีได้ที่เว็บไซต์ www.ssnm.info และ www.banrainarao.com ตามลำดับ อีกทั้งยังต้องใส่ปุ๋ยให้'ถูกเวลา'ในขณะที่พืชต้องการ ดินมีความชื้น และใส่ปุ๋ยให้'ถูกวิธี'ใส่ปุ๋ยในบริเวณที่พืชดูดกินได้มากที่สุด แล้วกลบปุ๋ยด้วย

  เกษตรกรมืออาชีพต้อง 'รู้จักการผสมปุ๋ยใช้เอง'ในปี 2553 กรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจปุ๋ย 555 ตัวอย่าง จากสหกรณ์ 222 แห่ง พบว่า ปุ๋ยเคมีร้อยละ 57 และปุ๋ยอินทรีย์ร้อยละ 92 ไม่ผ่านมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้

   การซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมใช้เอง นอกจากช่วยแก้ปัญหาปลอม หรือปุ๋ยด้อยมาตรฐานแล้ว ยังได้ปุ๋ยสูตรที่ตรงกับความต้องการของพืช และได้ปุ๋ยราคาถูกกว่ากระสอบละประมาณ 120 บาท เมื่อเทียบกับปุ๋ยสูตรที่จำหน่ายในท้องตลาด ตัวอย่างเช่น ถ้าผสมปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 16-20-0 จะได้ปุ๋ยราคาถูกกว่ากระสอบละ 150 และ 100 บาท ตามลำดับ

  คลีนิกดิน'ปุ๋ยสั่งตัด'ให้บริการตรวจดินฟรี โดยใช้ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ให้คำแนะนำปุ๋ย และจำหน่ายปุ๋ยดี ราคาถูก หากมีส่วนต่างของราคาปุ๋ยกระสอบละ 120 บาท แนะนำให้ลดราคาให้เกษตรกร 30 บาท ใช้เป็นค่าบริหารจัดการและค่าวิเคราะห์ดิน 20 บาท นำเข้ากองทุนคลีนิกดิน'ปุ๋ยสั่งตัด'35 บาท และใช้จัดสวัสดิการชุมชน 35 บาท

   คลีนิกดิน'ปุ๋ยสั่งตัด'เป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ดินและปุ๋ยของชุมชน ดำเนินการโดยเกษตรกรผู้นำ เพื่อเกษตรกรและชุมชน กำหนดเปิดให้บริการ 3 แห่งในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ที่จังหวัดขอนแก่น (บ้านหินลาด โทร. 08-6861-2701) สระบุรี (ห้วยขมิ้น โทร. 08-1948-0952) และสุพรรณบุรี (สำนักตะค่า โทร. 08-6169-6225) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนคิวม่า มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยให้เงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ย แห่งละ 200,000 บาท มีกำหนดเวลาชำระคืนภายใน 1 ปี

    ท่านองคมนตรี นพ.เกษม วัฒนชัย ยังได้กรุณาให้ข้อคิดว่า หากชุมชนที่เข้มแข็งร่วมมือร่วมใจกัน นำเงิน 'กองทุนเอสเอ็มแอล'มาจัดตั้งคลีนิกดิน'ปุ๋ยสั่งตัด'จะช่วยเสริมพลังให้แก่ชุมชนเกษตรกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมไทยได้เป็นอย่างดี

ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน

prateep.v@hotmail.com 08-1306-5373

http://www.ssnm.info/

6

ปุ๋ยสั่งตัด คืออะไร

ข้อความ

    ปุ๋ยสั่งตัด คืออะไรกันแน่ เห็นพูดกันจัง เคยถามคนที่พูดก็ยังไม่กระจ่าง เพราะฟังเขามาอีกทีหนึ่ง ประมาณว่าต้องไปซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมกันเอง (หายากมาก และแพงด้วย) จะยุ่งยากไปหรือเปล่าเนี่ย

 โดยคุณ : เกษตรกรที่เป็นช่างตัดเสื้อด้วย     [วันที่   26/5/2554  เวลา 14:19 น.   ]    

   'ปุ๋ยเคมีสั่งตัด'คือ การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือกลุ่มชุดดิน (ซึ่งมีค่าเฉลี่ยความอุดมสมบูรณ์ของกลุ่มชุดดิน ในจังหวัดนั้นๆ) โดย ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยนำข้อมูลดิน ข้อมูลพืช ข้อมูลปุ๋ย มาเชื่อมโยงกับค่าวิเคราะห์ดิน หรือแผนที่กลุ่มชุดดิน เพื่อให้คำแนะนำ การจัดการดิน การใช้ปุ๋ย รวมทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์มาคำนวณในคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมจำลองการปลูกพืชที่สลับซับซ้อน แต่ทำให้ง่ายสำหรับเกษตรกรนำไปใช้ ฟังดูแล้วเหมือนยาก เพราะว่าหลายคนดูถูกว่าเกษตรกรคงทำเรื่องยากๆ อย่างนี้ไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว หากใครใช้คอมพิวเตอร์เป็น ก็จะง่ายในการหาคำแนะนำ แต่หากใครใช้ไม่เป็น ทางนักวิจัยก็ได้ทำตารางสรุปให้เบ็ดเสร็จ เพียงแค่ทำตามคู่มือแล้วจำแนกดินให้ออกว่า ดินของตนเป็นดินชุดอะไร แล้ววิเคราะห์ดินเองโดยใช้เครื่องมืออย่างง่าย เมื่อได้ค่าเหล่านี้มาแล้ว ก็มาเทียบกับตารางสำเร็จรูปว่าควรใช้ปุ๋ยอะไรอย่างละเท่าใด ซึ่งตอนนี้เกษตรกรที่ได้รับการอบรมไปก็ใช้วิธีการอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ยากเย็นอะไรอย่างที่บรรดานักวิชาการหลายคนเข้าใจ

   สรุปคือ คำแนะนำปุ๋ยแบบ 'สั่งตัด' จะแตกต่างกันในดินแต่ละชนิด เช่น คำแนะนำปุ๋ยข้าวในชุดดินอยุธยา และชุดดินมโนรมย์ ไม่เท่ากัน ถึงแม้ว่าปริมาณ 'เอ็น พี เค'ที่วิเคราะห์ได้ในดินเท่ากัน อีกกรณีหนึ่งคือ แม้เป็นดินชุดเดียวกัน แต่หากปริมาณเอ็น พี เค ที่วิเคราะห์ได้ไม่เท่ากัน การใช้ปุ๋ยก็จะแตกต่างกัน อย่างเช่น ข้าวโพด คำแนะนำปุ๋ย 'สั่งตัด' ของชุดดินปากช่อง จ.นครราชสีมา แตกต่างจากคำแนะนำปุ๋ยของชุดดินปากช่อง จ.ลพบุรี เป็นต้น

    ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน แต่ว่ามีความแตกต่างจากแนวคิดเรื่องปุ๋ยสั่งตัด คือ คำแนะนำดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงสมบัติทางเคมี และกายภาพของดินแต่ละชนิดซึ่งมีศักยภาพ (พลัง) ในการผลิตที่ไม่เท่ากัน เป็นคำแนะนำปุ๋ยที่เหมือนกันในดินทุกชนิด ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้จำแนกดินในประเทศไทยไว้แล้วว่ามีมากกว่า 200 ชนิด ดังนั้นคำแนะนำปุ๋ยสูตรเดียว ปริมาณเดียว จึงไม่เหมาะสมต่อชนิดดินที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะพูดตรงๆ ก็คือ วิธีการให้คำแนะนำแบบเดิมยังเป็นคำแนะนำปุ๋ยที่ไม่มีประสิทธิภาพ

  นอกจากจะพูดถึงเรื่องของการใช้ปุ๋ยเคมีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ เรื่องของการใช้อินทรียวัตถุช่วยในการปรับปรุงดิน เกษตรกรควรปรับปรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุต่างๆ เท่าที่หาได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทางแรกที่ทำได้เลยโดยไม่ต้องซื้อหา คือ การไม่เผาฟาง ซึ่งเป็นทางหนึ่งในการเพิ่มอินทรียวัตถุที่ดีมาก อย่าลืมว่า มนุษย์เราถ้ามีสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องกินวิตามิน หรืออาหารเสริม พืชก็เช่นเดียวกัน เมื่อปลูกให้มีสุขภาพดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมน หรือสารอื่นๆ

     โดยคุณ : คนอ่าน นสพ.คมชัดลึก     [วันที่   28/5/2554  เวลา 21:58 น.]    

"ปุ๋ยสั่งตัด”

            จากที่ นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า โครงการปุ๋ยสั่งตัดที่รัฐบาลจะออกมาช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้กำหนดสูตรปุ๋ยไว้ 6 สูตรด้วยกัน ซึ่งมี 2 แนวทางอุดหนุนให้กับเกษตรกร คือ การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงในการซื้อปุ๋ยแก่เกษตรกร 1.50 บาทต่อกิโลกรัม เช่น หากราคาปุ๋ยตันละ 15,000 บาท เกษตรกรจะจ่ายเพียงกิโลกรัมละ 13,500 บาท หรือให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรไปซื้อปุ๋ย โดยจะนำเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสมในวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งปุ๋ยราคาถูกนี้จะช่วยเกษตรกรในการนำมาใช้ปลูกข้าวนาปี 1.5 ล้านตัน บนพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 57 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 3,500 ล้านบาท

   รายงานแจ้งว่า ที่ประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ที่มีนายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน กับกรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปในการกำหนดสูตรปุ๋ยสั่งตัดจำนวน 6 สูตร พร้อมทั้งมีการกำหนดราคาเพดานเพื่อไม่ให้ขายเกินราคาที่กำหนด

  ได้แก่ ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ราคาเพดานตันละ 14,210 บาท, สูตร 16-20-0 ราคาเพดานตันละ 13,836 บาท, สูตร 16-8-8 ราคาเพดานตันละ 11,685 บาท, สูตร 16-16-8 ราคาเพดานตันละ 14,335 บาท, สูตร 18-12-6 ราคาเพดานตันละ 13,171 บาท และสูตร 15-15-15 ราคาเพดานตันละ 16,342 บาท โดยมีเงื่อนไขข้อตกลงที่จะยืนราคาดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน

   รายงานข่าวแจ้งว่า ความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรทั่วประเทศมีประมาณ 1.5 ล้านตัน แต่ในช่วง 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.) คาดว่ามีความต้องการใช้ประมาณ 3 แสนตัน ขณะที่สต็อกที่ได้รับแจ้งจากภาคเอกชนมีประมาณ 4 แสนตัน จึงมีความเพียงพอต่อความต้องการใช้

    นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ก่อนยุบสภา รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาปุ๋ยแพงที่จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูปลูกข้าวนาปีที่จะถึงนี้ ซึ่งในฐานะที่เป็นประธานบอร์ด ธ.ก.ส.ได้เตรียมมาตรการไว้รองรับทั้งหมดแล้ว โดยจะเสนอให้นายอภิสิทธิ์พิจารณาอนุมัติในวันที่ 6 พ.ค.นี้

  นายวินัย เครือตรีประดิษฐ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า ในปี 2554 ธ.ก.ส.จะเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ให้แล้วเสร็จ โดยหนี้กลุ่มแรก มีมูลหนี้ประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 2.6 หมื่นราย ซึ่งมติ ครม.กำหนดให้ลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่มาขึ้นทะเบียนแก้ไขหนี้ และเป็นหนี้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค.2552 จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ 50% แรก เป็นเวลา 15 ปีก่อน หากชำระหนี้ได้ดีตามกำหนด ธนาคารจะยกหนี้อีก 50% หลังให้ ทั้งนี้ กลุ่มนี้ดำเนินการไปได้ประมาณ 50% แล้ว ตั้งเป้าดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครบทุกรายภายในเดือน มิ.ย.นี้

    ลูกหนี้กลุ่มที่ 2 เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้ค้าง (เอ็นพีแอล) แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กฟก. มีประมาณ 3.3 แสนราย มูลหนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ครบทุกรายภายในเดือน ก.ย.ปีนี้ โดยขณะนี้ดำเนินการไปได้ประมาณ 50% แล้วเช่นกัน

   นายวินัย กล่าวว่า สถานการณ์เอ็นพีแอลของ ธ.ก.ส. ณ สิ้นปีบัญชี 2553 หรือวันที่ 31 มี.ค.2554 อยู่ที่ 3.76 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6.6% ลดลงจากปีบัญชีก่อนที่อยู่ที่ 7.66%.

  โดยคุณ : จาก นสพ.ไทยโพสต์     [วันที่   28/5/2554  เวลา 22:27 น.]  

E-Mail : http://www.thaipost.net/news/060511/38192 

ใช้ปุ๋ยตรงจุดเกิดเหตุ ลดต้นทุนเพิ่มผลิตข้าวได้จริง

ดาวน์โหลดเอกสาร

 

https://drive.google.com/file/d/0B8AtgBF7YhaGQm0wSUVTcWJweUk

(เข้าตามลิงค์ แล้วคลิกที่เมนูไฟล์ เลือกดาวน์โหลด)

คลินิกดินปุ๋ยสั่งตัด ลดต้นทุนปลูกข้าวไร่ละ 1,500 บาท

ดาวน์โหลดเอกสาร

https://docs.google.com/file/d/0B8AtgBF7YhaGY1lYTVNrVlpCSTg

(เข้าตามลิงค์ แล้วคลิกที่เมนูไฟล์ เลือกดาวน์โหลด)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!