WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก.เกษตรฯ บริหารจัดการด้รานอาหารรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ

  นายนิรันดร เอื้องตระกูลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการจัดการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในกรอบการบริหารจัดการการสำรองสินค้าที่เป็นอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร แบ่งเป็น 4 ประเด็น ดังนี้ 1.ระดับความรุนแรงที่ควรให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 สาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วไปหรือมีขนาดเล็ก (สถานการณ์ภัยพิบัติที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในอำเภอ) ระดับที่ 2 สาธารณภัยขนาดกลาง (สถานการณ์ภัยพิบัติที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในจังหวัด) ระดับที่ 3 สาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบรุนแรงกว้างขวาง (สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกินขีดความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของจังหวัด) และระดับที่ 4 สาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบร้ายแรงอย่างยิ่ง (สถานการณ์ภัยพิบัติระดับประเทศ)

    2.ประเภทภัยพิบัติที่ควรให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร โดยภัยพิบัติที่ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก คือ อุทกภัย แผ่นดินไหว และสึนามิ หากภัยพิบัติมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 3 ขึ้นไป จะจัดส่งข้อมูลและแผนลำเลียงอาหารที่แสดงถึงปริมาณการสำรองอาหาร แหล่งรวบรวมสินค้า เส้นทางการขนส่งที่รวดเร็ว รวมทั้งปริมาณอาหารที่ควรเตรียมเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไปยังกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ(บก.ปภ.ช.) และศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับจังหวัด

    3. ชนิดสินค้าที่ควรมีการสำรองเพิ่มเติม โดยกำหนดกลุ่มสินค้าเป็น 2 ประเภท คือ 3.1 กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) โดยสินค้าที่ต้องจัดทำข้อมูลสำรอง ได้แก่ น้ำดื่มและนมพร้อมดื่ม UHT  3.2 กลุ่มอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) ยังเป็นกลุ่มสินค้าเดิม ได้แก่ ข้าวสาร ไข่ไก่ และอาหารแช่แข็ง (เนื้อไก่/เนื้อหมู) ส่วนการจัดทำข้อมูลสินค้าพืชผักและผลไม้ยังมีข้อจำกัดในการจัดทำข้อมูล เนื่องจากเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย และชนิดผักมักเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเพาะปลูก จึงยังไม่ต้องจัดทำข้อมูล  3.3 การจัดทำฐานข้อมูลเพิ่มเติมที่จำเป็นสำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ อาทิ ยานพาหนะ (รถบรรทุก เรือเร็ว) เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์สื่อสาร จุดพักสินค้า รวมถึงสถานที่พักพิงชั่วคราว ให้สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ จัดทำข้อมูลให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมรับทราบในคราวต่อไป

    4.ความจำเป็นในการสำรองสินค้าที่เป็นอาหารล่วงหน้าของกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ควรสำรองสินค้าที่เป็นอาหารล่วงหน้า แต่ควรใช้ช่องทางการดำเนินงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และ APTERR

    นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการขนส่งและกระจายสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว กระทรวงเกษตรฯ โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาการเตรียมความพร้อมในการขนส่งและกระจายสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ปีงบประมาณ 2556 ซึ่งได้มีการทำสัญญากับบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ระยะโครงการ 29 มีนาคม 2557- 23 มีนาคม 2558 โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารสำคัญในการดำรงชีพ แหล่งกระจายสินค้าเกษตร ข้อมูลความต้องการอาหารของประชาชน การจัดทำระบบการรายงานภัยพิบัติสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดขึ้น จัดทำระบบการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่เกี่ยวกับความเหมาะสมในการผลิตด้านการเกษตรของทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และจัดทำข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ให้สามารถมองเห็นปัญหาแบบองค์รวม เพื่อใช้ในการกำหนดมาตรการ และนโยบายต่างๆ ในการบริหารจัดการเชิงนโยบาย

  อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!