WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กรมทรัพย์สินฯเดินหน้าดัน 'Dynamic DIP' สร้างภูมิคุ้มกัน

    บ้านเมือง : การปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ที่เพิ่งมีอายุครบรอบ 22 ปี ไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่กลับเป็นหน่วยงานที่นับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะในโลกยุคใหม่ ประเทศไหนมีภูมิปัญญามาก ใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาได้ ประเทศนั้น จะมีความได้เปรียบและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้เป็นเงาตามตัว

    ปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่มีอธิบดีที่จะเข้ามาบริหารงานโดยตรง จะมีก็แต่ผู้บริหารระดับรองอธิบดีที่ทำหน้าที่รักษาการอธิบดี ก็คือ นางกุลณี อิศดิศัย ที่ทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภาเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา

    ล่าสุดในการฉลองครบรอบ 22 ปี กรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา นางกุลณีได้หารือร่วมกับผู้บริหารของกรมฯ โดยเห็นตรงกันว่า จะต้องกำหนดแผนการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2557 โดยพุ่งเป้าไปสู่การเป็น Dynamic DIP ซึ่งหมายความว่า จะผลักดันให้เป็นกรมฯ ที่มีพลวัตในการขับเคลื่อนงานทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการปกป้อง คุ้มครอง การส่งเสริม และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

    นางกุลณี กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาก้าวสู่การเป็น Dynamic DIP ด้วยการทำงานที่รอบด้าน มีพลวัต มีการเคลื่อนไปข้างหน้า และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ นอกเหนือจากภายในกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นก้าวที่สำคัญในการพลิกโฉมการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการยกระดับการให้บริการ การปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เน้นการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน

    ในการยกระดับการให้บริการ กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันให้การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทำได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เหมือนในปัจจุบัน ที่กว่าจะจดได้ต้องใช้เวลานานมาก เป็นหลายๆ เดือน บางครั้งเป็นปี จะไม่มีอีกต่อไป เราต้องปรับให้มีระยะเวลาสั้นขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้คนประดิษฐ์ คิดค้น อยากคิด อยากทำ แล้วอยากจด แต่ในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เพียงแต่ทำให้เร็ว จะต้องมีมาตรฐานสากล โปร่งใส และตรวจสอบได้

    "แผนของกรมฯ จะเปลี่ยนจากการเป็นผู้กำกับดูแล มาเป็นผู้ให้บริการ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น เพราะโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว เขาให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญามาก และใช้ทรัพย์สินทางปัญญาสร้างงาน สร้างรายได้ ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาไปแบบนั้น เพราะเราก็เก่ง"

    นางกุลณี ยกตัวอย่างว่า การให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา ดูได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตลอดระยะเวลาทรงให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา ทรงประดิษฐ์คิดค้นผลงานทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นประโยชน์กับประเทศมากมาย เมื่อทรงประดิษฐ์คิดค้นแล้ว ก็ทรงยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา มีผลงานต่างๆ มากมาย ทั้งสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และงานด้านลิขสิทธิ์ ซึ่งกรมฯ ก็จะผลักดันให้คนไทยให้ความสำคัญกับการประดิษฐ์คิดค้น และจดทะเบียนคุ้มครองงานทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น

    ส่วนในด้านการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามแผนงาน Dynamic DIP กรมฯ จะเน้นการทำงานร่วมกับ 25 หน่วยงาน ที่เข้ามาเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ หรือศูนย์ NICE ซึ่งเดินหน้าปราบปรามการละเมิดอย่างเต็มที่

     โดยแผนการทำงานจะเน้นการปราบปรามสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด รองเท้า นาฬิกา และกระเป๋า และสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น เพลง ภาพยนตร์ และซอฟต์แวร์ เป็นต้น รวมทั้งจะเน้นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน เช่น ยารักษาโรคปลอม อะไหล่ปลอม สุรา ไวน์ ปลอม เครื่องสำอางปลอม และซอสปรุงรสปลอม เป็นต้น

   ขณะเดียวกัน จะเร่งรณรงค์ปลูกจิตสำนึกความเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง เพราะกรมฯ ตระหนักดีว่า การแก้ไขปัญหาการละเมิดอย่างยั่งยืน จะต้องเริ่มต้นจากการที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และรู้สึกว่าทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งในปี 2557 มีแผนในการดำเนินการ โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดประกวดเรียงความในหัวข้อ "ทรัพย์สินทางปัญญาในจินตนาการของฉัน" การจัดงานกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัย การจัดโครงการรณรงค์ "โหลดเล่นเล่น ก็เป็นเรื่อง" โดยร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภาคเอกชนเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้มีการดำเนินการไปแล้ว

    ไม่เพียงแค่นั้น กรมฯ ยังมีแผนที่จะทำลายของกลางที่จับกุมได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่า มีการจับจริง ทำลายจริง ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมา ได้มีการทำลายของกลางไปแล้ว 2 ครั้ง ที่ภูเก็ต จำนวน 94,120 ชิ้น มูลค่ากว่า 297 ล้านบาท และที่กรุงเทพฯ ของกลาง 1,634,286 ชิ้น มูลค่า 1,484 ล้านบาท และในเร็วๆ นี้จะมีการทำลายของกลางที่จับกุมได้อีก

   สำหรับด้านการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา นางกุลณี กล่าวว่า กรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ให้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยใช้ฐานข้อมูลสิทธิบัตร และประยุกต์ใช้ทุนทางวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสินค้า และส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการคุ้มครอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยมุ่งเน้นให้ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ นำรายได้เข้าประเทศ รวมถึงสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นและชุมชน

    ยกตัวอย่างเช่น ในเร็วๆ นี้ กรมฯ มีแผนที่จะต่อยอดให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการคัดเลือกเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปแล้ว โดยในปีนี้จะทำการคัดเลือกสินค้าภูมิปัญญาเด่นๆ จาก 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง และน่าน มาพัฒนาเพื่อให้สินค้าภูมิปัญญาเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเชียงใหม่ จะเน้นสินค้าเครื่องจักสานและงานไม้ ลำปาง เน้นเซรามิก และน่าน เน้นเครื่องเงินและผ้าทอ ซึ่งจะเข้าไปช่วยผลักดันให้มีการใช้ภูมิปัญญามีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

    "คิดง่ายๆ ถ้าเรามีสินค้าของที่ระลึกจากจังหวัดต่างๆ เอามาขาย เริ่มจากเอาทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่พัฒนาไปจนเป็นสินค้าออกไปขาย เหมือนกับที่ญี่ปุ่นได้มีการพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาของตัวเองจนเป็นที่นิยม เราก็จะมีสินค้าภูมิปัญญาที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก"

    นางกุลณี กล่าวอีกว่า ในด้านต่างประเทศ กรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาในกรอบอาเซียนเพื่อรองรับการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเข้าเป็นภาคีพิธีสารความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ เช่น พิธีสารมาดริดด้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ความตกลงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบระหว่างประเทศ รวมไปถึงการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้กรอบเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป

   นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะเป็นแม่งานใหญ่ในการจัดประกวด ASEAN Animation Contest 2014 ตามข้อตกลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาแห่งอาเซียน ซึ่งจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสรรค์ Animation และนำเสนอผลงานด้าน Animation เพื่อผลิตผลงาน Animation สำหรับใช้ในโครงการรณรงค์ด้านลิขสิทธิ์ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป

  ขณะเดียวกัน กรมฯ จะเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐ เพื่อนำระบบที่ดีมาปรับใช้กับกรมฯ รวมถึงร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เพื่อร่วมมือกันวางรากฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้ดีขึ้น อันจะเป็นช่องทางในการช่วยให้ผู้ประกอบการของเราสามารถส่งออกและเข้าไปลงทุนได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นางกุลณี กล่าวว่า สิ่งที่กรมฯ จะพลาดไม่ได้ ก็คือ การส่งเสริมและพัฒนาคนที่ทำงานกับกรมฯ เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Dynamic DIP เพราะแม้แผนงานจะดีอย่างไร จะเลิศหรูอย่างไร แต่ถ้าคนทำงานไม่มีความสุข ไม่มีความสนุกในการทำงาน เพราะเขามองไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพการงาน การทำงานก็จะไม่มีประสิทธิภาพ และเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะเป็นไปได้ยาก

     "เรื่องคน กรมฯ นี้ให้ความสำคัญมาก จะต้องมีการฝึกอบรม พัฒนา ส่งเสริมให้มีความรู้ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ได้รับการอบรมความรู้ใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญคนที่ทำงานดีจะได้รับการโปรโมทอย่างเหมาะสม จะยึดหลักความสามารถและความยุติธรรมในการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง"

     นางกุลณี กล่าวย้ำว่า แผนการทำงานทั้งหมดนี้ เป็นไปตามสิ่งที่เราเรียกว่า Dynamic DIP เพราะเราอยากที่จะพัฒนากรมฯ นี้ให้ก้าวไปข้างหน้า อยากให้เป็นมืออาชีพด้านทรัพย์สินทางปัญญาในทุกๆ ด้าน ทั้งการยกระดับการให้บริการ การปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน ซึ่งในที่สุดแล้ว เราอยากเห็นประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่มีนวัตกรรม และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสากล ซึ่งเป็นเป้าหมายของเรา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!