- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 December 2022 12:53
- Hits: 1771
กรมเจรจาฯ กางแผนถก FTA ปี 66 เร่งเคลียร์ฉบับคงค้าง เปิดเจรจาคู่ค้าใหม่
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกางแผนการเจรจา FTA ปี 66 เร่งเดินหน้าเคลียร์ FTA ค้างเจรจากับแคนาดา ตุรกี ศรีลังกา ปากีสถาน และเอฟตา ให้จบภายในปีหน้า และเปิดเจรจากับคู่ค้าใหม่ ทั้งอียู ยูเค กลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก และกลุ่มประเทศแอฟริกา หวังใช้ FTA เป็นใบเบิกทางสร้างแต้มต่อให้สินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการค้าไทยกับคู่ FTA เป็น 80% ภายในปี 2570
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยในปี 2566 ว่า กรมฯ จะเร่งเดินหน้าเจรจาปิดรอบ FTA ที่ค้างอยู่โดยเร็ว ทั้ง FTA ระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ที่เริ่มเจรจากันรอบแรกเมื่อปี 2564 โดยจะผลักดันประเด็นสำคัญให้มีความคืบหน้ามากที่สุดภายในปี 2566 เพื่อสรุปผลการเจรจาให้ได้ในปี 2567 รวมถึง FTA กับตุรกี ศรีลังกา ปากีสถาน และเอฟตา ที่อยู่ระหว่างเตรียมจัดหารือรอบต่อไปช่วงต้นปีหน้า ซึ่งตั้งเป้าให้การเจรจาคืบหน้าและสามารถหาข้อสรุปได้ภายในปี 2566
สำหรับ การเปิดเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าใหม่ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไทยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สหราชอาณาจักร (ยูเค) กลุ่มประเทศแอฟริกา และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance)
โดยขณะนี้การหารือกับอียูเพื่อทำความเข้าใจประเด็นที่จะเจรจากันใน FTA มีความคืบหน้าไปมาก และยังมุ่งมั่นที่จะเปิดการเจรจากับอียูโดยเร็ว ตามข้อเสนอของภาคเอกชนในการประชุม กรอ.พาณิชย์ สำหรับประเทศอื่น ๆ กรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาผลดี-ผลเสีย จัดรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่างๆ เรื่องการเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก และกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยมีเป้าหมายที่จะให้ FTA ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการค้าไทยกับประเทศคู่ FTA จากร้อยละ 63.5 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 80 ภายในปี 2570
ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งใช้บังคับเมื่อต้นปี 2565 ถือเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย และ RCEP พร้อมเปิดรับสมาชิกใหม่ ตั้งแต่กลางปี 2566 ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการขยายพันธมิตรทางการค้าให้ไปยังประเทศใหม่ๆ ให้กว้างขึ้น
ส่วนในช่วง 10 เดือน ของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ FTA มีมูลค่า 305.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.6% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 146 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์