- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 December 2022 14:27
- Hits: 1755
สินิตย์ ดึงร้านอาหาร โรงแรม ห้าง ผู้ประกอบการ ซื้อ 3 สินค้า GI ชื่อดัง จ.สุราษฎร์ธานี
สินิตย์ เป็นสักขีพยานการลงนามซื้อขายสินค้า GI ชื่อดังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดึงร้านอาหาร โรงแรม ซื้อ “ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี” ใช้ทำเป็นเมนูประจำร้านและโรงแรม ดึงท็อปส์ซื้อ ‘เงาะโรงเรียนนาสาร’ กว่า 100 ตัน ขายในสาขาของห้างทั่วประเทศ และจับคู่ซื้อขาย’ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี’ เผยเตรียมดัน ‘ทุเรียนทะเลหอย’จ.กระบี่ ขึ้นทะเบียน GI ภายในปี 66
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกระบี่ ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 22-23 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ร่วมกับภาคเอกชนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำการส่งเสริมการตลาดให้สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยได้มีการลงนามข้อตกลงกับชมรมร้านอาหาร สมาคมโรงแรมและท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ “ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี” เป็นเมนูประจำร้านอาหารและโรงแรมในจังหวัด และมีการทำสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้า “เงาะโรงเรียนนาสาร” จำนวนกว่า 100 ตัน กับท็อปส์ เพื่อนำไปจาหน่ายที่ท็อปส์ , ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ , ท็อปส์ ไฟน์ ฟู้ด และตลาดจริงใจ Farmers’ Market ทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดจับคู่ธุรกิจให้สินค้า GI ‘ขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี’กับบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้าตาล และร้านสมุนไพรว.วังพรม
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ใช้โอกาสนี้ มอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI ให้กับขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี และปลาเม็งสุราษฎร์ธานี ที่เพิ่งขึ้นทะเบียน GI ล่าสุด โดยขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี และปลาเม็งสุราษฎร์ธานี เป็นสินค้า GI ที่สร้างมูลค่าทางการตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดกว่า 660 ล้านบาท
ส่วนการลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ ได้ตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้า 'ทุเรียนทะเลหอย' ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ ที่คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียน GI ภายในช่วงต้นปี 2566 เพื่อตรวจสอบคุณภาพและมอบนโยบายในการส่งเสริมสินค้าดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ จังหวัดกระบี่ มีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 1 สินค้า คือ กาแฟเมืองกระบี่ สร้างมูลค่าทางการตลาดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในจังหวัดกว่า 20 ล้านบาท
“กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเร่งดำเนินการผลักดันนโยบายด้านการส่งเสริมสินค้า GI อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งการเร่งรัดการขึ้นทะเบียน ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการคุ้มครอง GI ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น จัดทำระบบควบคุมคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐานของสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และการส่งเสริมการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนสู่สินค้าระดับพรีเมียมต่อไป”นายสินิตย์กล่าว