- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 08 February 2023 09:17
- Hits: 1530
กรมการค้าต่างประเทศ โชว์ผลงาน บริหารการนำเข้า-ส่งออก ดันการค้าไทยพุ่งต่อเนื่อง
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการค้าต่างประเทศ กรมฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิในการลดภาษีเพื่อส่งออกภายใต้ความตกลงต่าง ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งเดินหน้าผลักดันการค้าชายแดน-ผ่านแดนและการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อให้มูลค่าการค้าของไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงติดตามความคืบหน้าการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่าง ๆ โดยในเดือนมกราคม 2566 มีความเคลื่อนไหวด้านการใช้สิทธิในการลดภาษีเพื่อส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีและมาตรการทางการค้า ดังนี้
- การใช้สิทธิลดภาษีเพื่อส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 12 ฉบับ จากความตกลงฯ ที่ไทยมีอยู่ 14 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง ที่ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ในทุกรายการสินค้า และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่ใช้ระบบการรับรองตนเองของผู้ส่งออก (self – declaration)) โดยในปี 2565 (มกราคม – ธันวาคม) มีมูลค่ารวม 84,633.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.90% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 82.11% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในกรอบความตกลงฯ ต่างๆ ได้แก่ ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ทุเรียนสด และเนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย เป็นต้น
กรอบความตกลงที่มีการใช้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ (1) อาเซียน ยังคงครองแชมป์ โดยมีมูลค่า 30,793.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.17% (2) อาเซียน – จีน (ACFTA) มูลค่า 26,290.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.80% (3) ไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 6,723.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.47% (4) ไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 6,040.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงเล็กน้อยที่ 1.90% และ (5) อาเซียน – อินเดีย (AIFTA) มูลค่า มูลค่า 5,723.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 30.76%
นอกจากนี้ ยังมีการใช้สิทธิตามกรอบความตกลงอื่น ๆ ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลีใต้(AKFTA) มูลค่า 3,624.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.77% ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 2,710.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.01% และความตกลงเขตการค้าเสรีไทย – ชิลี (TCFTA) มูลค่า 593.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.02% สำหรับความตกลง RCEP ปี 2565 (มกราคม – ธันวาคม) มีการส่งออกไปยัง 8 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย และเวียดนาม มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 994.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP น้ำมันหล่อลื่น (เกาหลีใต้) ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาสคิปแจ็ค และปลาโบนิโต ชนิดซาร์ดา (ญี่ปุ่น) มันสำปะหลังเส้น (จีน) เป็นต้น
- ในส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ซึ่งเป็นระบบที่ไทยได้รับสิทธิประโยชน์จาก สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศในเครือรัฐเอกราช โดยในปี 2565 (มกราคม – พฤศจิกายน) มีมูลค่ารวม 3,472.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 54.85% โดยตลาดสหรัฐอเมริกาครองแชมป์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ ถึง 3,200.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.18% สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 253.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.05% และนอร์เวย์ มูลค่า 15.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12.87% ส่วนกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) มีมูลค่า 3.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศอื่น ๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง กรดมะนาว หรือกรดซิทริก เลนส์แว่นตาทำจากวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แก้ว หีบเดินทางขนาดใหญ่ กระเป๋าใส่เสื้อผ้า หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ ไร้รอยต่อ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ระบบส่งกำลังอื่นๆ ภายใต้พิกัด 8701 และ 8702-8705 และพลาสติกอื่น ๆ ตามลำดับ
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ ได้สิ้นสุดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนการต่ออายุโครงการฯ ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าโครงการฯ จะได้รับการต่ออายุ แต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิฯ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใช้สิทธิ GSP ในการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการฯ ได้รับการต่ออายุแล้ว”
- ในส่วนการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 2566 กรมฯ ร่วมกับภาคเอกชนตั้งเป้าไว้ที่ 1,060,732 ล้านบาท หรือโตเพิ่ม 3% จากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1,029,837 ล้านบาท โดยแผนผลักดันที่จะทำให้เป็นไปตามเป้า ได้แก่ (1) แก้ปัญหาการค้าชายแดนและผ่านแดนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผ่านการลงพื้นที่และติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด (2) จัดมหกรรมการค้าชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (3) บูรณาการร่วมกับจังหวัดชายแดนเพื่อผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าให้ครบทุกจุด โดยสถานะการเปิด-ปิดจุดผ่านแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน (25 มกราคม 2566) ฝั่งไทยเปิด 80 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเปิด 72 แห่ง
- นอกจากนี้ กรมฯ ยังเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยในปี 2566 โดยในส่วนของสินค้าข้าว กรมฯ ได้คาดการณ์การส่งออกร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดยตั้งเป้าทั้งปีไว้ที่ 7.5 ล้านตัน หลังจากในปี 2565 มีปริมาณการส่งออกรวมอยู่ที่ 7.69 ล้านตัน โดยมีแผนการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันการส่งออกข้าวให้เป็นไปตามเป้า อาทิ การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ (Thailand Rice Convention 2023)
การจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนเยือนประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ และจัดประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ เป็นต้น ในส่วนสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กรมฯ ได้คาดการณ์การส่งออกร่วมกับ 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือง โดยตั้งเป้าทั้งปีไว้ที่ 9 ล้านตัน โดยในปี 2565 มีปริมาณการส่งออกรวม 11.18 ล้านตัน ซึ่งในปี 2566 มีแผนเจาะตลาดเป้าหมาย ได้แก่ จีน EU ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดิอาระเบีย และมีกำหนดจัดงานมันสำปะหลังโลก (World Tapioca Conference 2023) ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2566
- ด้านความคืบหน้ากรณีสหรัฐฯ เปิดไต่สวนมาตรการ AC (Anti – circumvention หรือมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน) กับ 3 สินค้าไทย ได้แก่ (1) สินค้าเซลล์แสงอาทิตย์ (Crystalline Silicon Photovoltaic Cells: CSPV) ที่ส่งออกจากมาเลเซีย ไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยกล่าวหาว่าสินค้า CSPV ที่ส่งออกจากไทย เป็นการนำชิ้นส่วนที่ผลิตจากจีนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกไปยังสหรัฐฯ
โดยกรมฯ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DOC) เพื่อคัดค้านผลการไต่สวนชั้นต้น และได้จัดประชุมร่วมกับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับผลการไต่สวน ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ จะเดินทางมาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ณ สถานประกอบการที่ประเทศไทย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และจะประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุด ภายในวันที่ 26 เมษายน 2566 (2) สินค้า Aluminum Foil ที่ส่งออกจากไทยและเกาหลีใต้ (3) สินค้าลวดเย็บ ที่ส่งออกจากไทยและเวียดนาม
โดยกล่าวหาว่าสินค้า Aluminum Foil และสินค้าลวดเย็บที่ส่งออกจากไทย เป็นการนำชิ้นส่วนที่ผลิตจากจีนมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปและส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยกรมฯ ได้จัดประชุมร่วมกับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยเพื่อหารือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนของทั้ง 2 สินค้า และกรมฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตสินค้าลวดเย็บ ณ สถานประกอบการ
ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการไต่สวนฯ ทั้ง 2 สินค้า โดยคาดว่าจะประกาศผลชั้นต้น สินค้า Aluminum Foil ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และสินค้าลวดเย็บภายในเดือนพฤษภาคม 2566 และจะประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุด สินค้า Aluminum Foil ภายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 และสินค้าลวดเย็บภายในเดือนตุลาคม 2566