WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รณรงค์ พูลพิพัฒน์

พาณิชย์ บุกขยายตลาดข้าวฮ่องกง เผยจีนสนใจนำเข้ามันสำปะหลังเพิ่ม

กรมการค้าต่างประเทศจับมือผู้ส่งออก บุกขยายตลาดข้าวไทยในฮ่องกง มั่นใจไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในฮ่องกงได้ 60% ต่อไป ส่วนที่จีน ขอบคุณหน่วยงานจีนที่ช่วยจัดการปัญหาปลอมข้าวหอมมะลิไทย เล็งจับมือทูตพาณิชย์โปรโมตข้าว หลังพบมีโอกาสอีกมาก เผยผู้นำเข้าจีน สนใจนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเพิ่ม เตรียมเดินสายพบปะคู่ค้าข้าว ทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมฯ ได้จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชน เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ และขยายตลาดสินค้าข้าวและมันสำปะหลัง ที่ฮ่องกงและจีน โดยที่ฮ่องกง กรมฯ ได้ร่วมกับ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ และคณะผู้ส่งออกรวม 16 ราย พบปะหารือกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวฮ่องกง และบริษัทผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงรายสำคัญ เพื่อหารือถึงสถานการณ์การค้าข้าวไทยกับฮ่องกง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และมีความเชื่อมั่นที่จะทำการซื้อขายข้าวระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นคู่ค้ากันมานาน

ทั้งนี้ ปัจจุบันฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย แต่ละปีไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกงประมาณ 1.7-1.88 แสนตัน โดย 70-80% เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิ และฮ่องกงยังเป็นตลาดข้าวหอมมะลิไทยอยู่อันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด ที่สำคัญ ข้าวไทยครองส่วนแบ่งตลาดข้าวฮ่องกงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของตลาดข้าวฮ่องกง

โดยในช่วง 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกง 50,107 ตัน ลดลง 12% เพราะแนวโน้มการบริโภคข้าวในฮ่องกงลดลง คนรุ่นใหม่ลดการบริโภคแป้ง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และเพิ่งฟื้นจากโควิด-19 แต่ยังมั่นใจว่า ไทยจะครองส่วนแบ่งตลาดข้าวในฮ่องกงได้ต่อไป เพราะผู้นำเข้าเอง ก็ยืนยันที่จะนำเข้าข้าวไทยต่อเนื่อง

นายรณรงค์ กล่าวว่า ที่จีน กรมฯ และภาคเอกชน ได้พบปะกับองค์การบริหารจัดการกฎระเบียบตลาดแห่งรัฐของจีน (SAMR) โดยได้ขอบคุณที่สั่งปิดโรงงาน และดำเนินคดีอย่างรวดเร็วกับโรงงานที่นำข้าวที่ปลูกในจีนแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทยและวางจำหน่ายในจีน และกรมฯ ได้ใช้โอกาสนี้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพ มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และวิธีการสังเกตหรือเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งจากประเทศไทย รวมทั้งได้หารือกับผู้นำเข้าและผู้ประกอบการสินค้าข้าวในจีน

เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและข้าวหอมมะลิไทยควบคู่กับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยให้รับทราบถึงคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทย และหารือกับ COFCO Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีนและเป็นบริษัทชั้นนำด้านการผลิตและการนำเข้าธัญพืชของจีน เพื่อหารือถึงสถานการณ์การนำเข้าข้าวจากไทยด้วย ซึ่งแต่ละปี ไทยส่งออกข้าวไปจีนประมาณ 6-7 แสนตัน แต่ช่วง 4 เดือนของปี 2566 ไทยส่งออกข้าวไปจีน 1.3 แสนตัน ลดลง 46% ซึ่งเป็นผลจากที่จีน มีนโยบายหันมาพึ่งตนเอง แต่ก็ยังมั่นใจว่าการส่งออกข้าวไทยไปจีนทั้งปี จะยังคงมีโอกาสเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการที่กรมฯ ได้ไปสำรวจศูนย์รวบรวมสินค้าของจีน พบว่า มีข้าวที่จีนนำเข้าจากไทยโดยตรงเพียงยี่ห้อเดียว ทั้งๆ ที่ในตลาดมีข้าวเป็น 100 ยี่ห้อ ทำให้มองเห็นโอกาสว่าข้าวไทยสามารถที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดจีนได้อีก ซึ่งกรมฯ จะร่วมมือกับทูตพาณิชย์ในจีน ทำการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย วิธีการดูข้าวไทยที่แท้เป็นยังไง มาตรฐานเป็นอย่างไร และตราสีเขียวเป็นยังไง เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคข้าวไทยเพิ่มขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้พบกับผู้นำเข้ามันสำปะหลังในจีน ได้รับคำยืนยันว่ามีความต้องการซื้อมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันสินค้าไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยนำไปแปรรูปเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สารให้ความหวาน กระดาษ ทำแป้งชุบไก่ทอด เป็นต้น และแจ้งว่าพร้อมที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน จีนเป็นตลาดส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย คิดเป็น 65% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด โดยส่งออกไปจีนประมาณปีละ 8 ล้านตัน เป็นมันเส้น มันอัดเม็ด 69% แป้งมัน 30% และสาคู กากมัน 1%

นายรณรงค์ กล่าวว่า สำหรับแผนการขยายตลาดข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้ กรมฯ จะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของคู่ค้าที่สำคัญ เช่น เดือนก.ค.2566 จะไปฟิลิปปินส์ ที่อดีตเคยเป็นตลาดข้าวของไทย แต่ที่ผ่านมา ได้หันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนาม และล่าสุดเวียดนามมีเป้าที่จะลดการผลิตข้าว และหันไปเพาะปลูกข้าวคุณภาพสูง ซึ่งไทยจะไปกระชับความสัมพันธ์และหาโอกาสในการขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ และทวงตลาดกลับมา

ส่วนเดือน ส.ค.2566 มีกำหนดไปมาเลเซีย ไปเปิดตลาดข้าวขาว สิงคโปร์ เปิดตลาดข้าวหอมมะลิไทย ญี่ปุ่น เปิดตลาดข้าวขาวและข้าวหอมมะลิไทย และอินโดนีเซีย ที่ล่าสุดแจ้งความประสงค์มาว่าต้องการซื้อข้าวไทยในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เพราะอินโดนีเซียมีความกังวลในเรื่องการขาดแคลนข้าว แต่ไทยยังไม่ได้พิจารณา และแจ้งว่าหากซื้อขายกับเอกชน น่าจะเร็วกว่า

ทางด้านสถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกแล้วปริมาณ 3.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกปริมาณ 2.74 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 26.64% มูลค่า 64,322 ล้านบาท หรือ 1,896 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 47,785 ล้านบาท หรือ 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 34.61% และ 30.58% ตามลำดับ

 

 

Click Donate Support Web  

kasat 720x100CKPower 720x100MTL 720x100TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!