WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

1Aดันส่งออก

สนค.แนะดึงลงทุน ดันส่งออก เพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับ IMD ขยับอันดับไทย

   สนค.เผย IMD ประกาศผลการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจ ปี 66 ไทยขึ้นมาอยู่อันดับที่ 30 ขยับเพิ่มขึ้น 3 อันดับ พบปัจจัยด้านเศรษฐกิจขยับขึ้นทุกด้าน ทั้งสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน แนะเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ ทั้งต่อยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดึงดูดการลงทุน ผลักดันการส่งออก เพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของไทยให้ดียิ่งขึ้น

   นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า IMD World Competitiveness Center ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ประจำปี 2566 จำนวน 64 เขตเศรษฐกิจ พบว่า เขตเศรษฐกิจที่ถูกจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันใน 3 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ทันท่วงที ส่วนเขตเศรษฐกิจสำคัญในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย อันดับลดลงมาอยู่ที่ 21 28 35 และ 40 ตามลำดับ ขณะที่ไทย อยู่ในอันดับที่ 30 ขยับเพิ่มขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน และเมื่อเทียบกับอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไทยอยู่ในอันดับที่ 3

 ทั้งนี้ อันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 4 ด้าน ได้แก่ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอันดับของไทยดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่เลื่อนขึ้นถึง 18 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 16 ขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ เลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 24 ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ เลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 23 และโครงสร้างพื้นฐาน เลื่อนขึ้น 1 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 43

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยย่อยของแต่ละด้าน มีรายละเอียด ดังนี้ 1.ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ดีขึ้นในทุกปัจจัยย่อย โดยการลงทุนระหว่างประเทศ เลื่อนขึ้น 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 22 และการค้าระหว่างประเทศ เลื่อนขึ้น 8 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 29 เศรษฐกิจภายในประเทศ เลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 44 ระดับราคาและค่าครองชีพ เลื่อนขึ้น 4 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 27 และการจ้างงาน เลื่อนขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 3 2.ประสิทธิภาพของภาครัฐ ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านกรอบการบริหารภาครัฐ

และกฎหมายธุรกิจ โดยทั้งสองปัจจัยย่อยเลื่อนขึ้น 7 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 34 และ 31 ตามลำดับ 3.ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ เลื่อนขึ้น 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 38 และ 4.โครงสร้างพื้นฐาน ดีขึ้นจากปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างเทคโนโลยี เลื่อนขึ้น 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 25

อย่างไรก็ตาม IMD ระบุเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 ไทยจะเผชิญกับความท้าทาย เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพและการเติบโตที่ไม่สมดุล ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไป ความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ได้ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ การร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมการส่งออก โดยในปี 2565 การส่งออกไทยขยายตัวที่ 5.5% แม้ในช่วง 5 เดือนของปี 2566 จะหดตัวที่ 5.1% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศคู่ค้า

แต่ไทยยังทำได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่การส่งออกหดตัวรุนแรงมากกว่า รวมถึงการเร่งลดภาระด้านค่าครองชีพให้กับผู้บริโภคชาวไทยผ่านมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2.96% ในช่วง 5 เดือนของปี 2566 จากที่เพิ่มสูงในปี 2565 จนแตะระดับ 6.08% เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นจากวิกฤตความขัดแย้งในยูเครน

จากความไม่แน่นอนของปัจจัยกดดันภายนอกประเทศที่ IMD ระบุไว้ รวมถึงปัญหาภาคการธนาคารของชาติตะวันตกที่เพิ่มแรงกดดันต่อความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยในหลายประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ไทยจึงควรเร่งเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การพัฒนามาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับความต้องการของนักลงทุนในสาขาที่เป็นเป้าหมายของไทย การส่งเสริมการส่งออกเชิงรุก รวมถึงการกระจายตลาดมากขึ้น และการอัปสกิล รีสกิล เพื่อเพิ่มทักษะและคุณภาพของแรงงาน

เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศให้สามารถรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และช่วงชิงประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเฉพาะการที่โลกเข้าสู่ภาวะการกระจายตัวทางภูมิเศรษฐกิจ จากการที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีนมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานโลกทั้งมิติด้านการผลิต การค้า และการลงทุน โดยจะเป็นโอกาสในประเทศกำลังพัฒนา

โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทย ที่จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการย้ายการลงทุนเข้ามาต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความแข็งแกร่ง และขยายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต”นายพูนพงษ์กล่าว

สำหรับ ผลการจัดอันดับของ IMD ในปีนี้ ได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันที่เรียกว่า 'Polycrisis' ประกอบด้วย 1.ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 2.อัตราเงินเฟ้อ 3.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และ 4.ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศในระดับที่แตกต่างกันไป

โดยทำให้บางประเทศเลื่อนอันดับดีขึ้น ขณะที่อันดับของบางประเทศเลื่อนลง และยังระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขตเศรษฐกิจที่มีการเปิดประเทศเร็วหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันมีเศรษฐกิจเติบโตชะลอลง ขณะที่เขตเศรษฐกิจที่เพิ่งเปิดประเทศภายหลัง จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

 

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C JTU720x100sme 720x100

BANPU 720x100

วิริยะ 720x100

ais_720x100.gifhino2021

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!