WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

โอกาสส่งออกใหม่

สนค.ชี้ภูมิภาคเอเชียกลาง โอกาสส่งออกใหม่ พบสินค้าไทยมีศักยภาพเจาะตลาดเพียบ

สนค. วิเคราะห์สินค้าไทยที่มีโอกาสในการเจาะตลาดเอเชียกลาง พบกลุ่มรถยนต์และยางยานพาหนะ เป็นสินค้าดาวเด่น มีโอกาสส่งออกและขยายตลาด คอมพิวเตอร์และเครื่องปรับอากาศเป็นสินค้าศักยภาพ แต่ส่วนแบ่งไทยยังน้อย สามารถเพิ่มได้อีก ส่วนไก่และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง ไทยควรเข้าไปเจาะตลาดเพิ่ม

         นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดเอเชียกลาง 5 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ด้วย Data Analytics Dashboard บนเว็บไซต์ คิดค้า.com เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก หากมีการส่งเสริมและผลักดัน จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่ได้เพิ่มขึ้น

         ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ พบว่า ภาพรวมตลาดเอเชียกลางมีขนาดเศรษฐกิจและจำนวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทย โดยคาซัคสถาน เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง มีรายได้ต่อหัว 11,244 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไทย 1.6 เท่า อุซเบกิสถาน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาค คิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากรทั้งหมด (เอเชียกลางมีประชากรรวม 78.5 ล้านคน) สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของภูมิภาคเอเชียกลาง 3 ลำดับแรก คือ รัสเซีย จีน และตุรกี โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 26 คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

         โดยในปัจจุบัน ไทยส่งออกไปยังเอเชียกลางได้จำกัด แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดเอเชียกลางได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคเอเชียกลางใน 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค-ก.ค.) มีมูลค่ารวม 141.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 176 คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย

            แต่ถ้าหักสินค้าอากาศยานใช้แล้ว ซึ่ง สนค. มองเป็นปัจจัยชั่วคราว การส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคเอเชียกลางยังคงขยายตัวถึงร้อยละ 55 โดยประเทศส่งออกหลักของไทย ได้แก่ คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน โดยมีสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางยานพาหนะ และอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น      

            นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในระยะข้างหน้า สนค. มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในภูมิภาคเอเชียกลางได้เพิ่มเติม โดยวิเคราะห์สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคเอเชียกลางที่มีแนวโน้มเติบโตดี

            สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการสูง โดย 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 38.5 ของสินค้าส่งออกไทยไปเอเชียกลางทั้งหมด ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 70.8 และส่งออกยางยานพาหนะสัดส่วนร้อยละ 6.5 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 48.6

            โดยในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบในตลาดเอเชียกลางอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ส่วนยางยานพาหนะ ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.3 ซึ่งยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

         สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดเอเชียกลางต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดเอเชียกลางอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ร้อยละ 4.3 ขณะที่การส่งออกในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค-ก.ค.)ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4,986.5

            และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดเอเชียกลางอยู่ที่ร้อยละ 1.3 เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ร้อยละ 12.8 ขณะที่การส่งออกในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค-ก.ค.) ขยายตัวร้อยละ 31.9

         สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ภูมิภาคเอเชียกลางยังนำเข้าจากไทยค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ ไก่ และน้ำตาลทราย

         ทั้งนี้ ตลาดที่มีศักยภาพและควรให้ความสำคัญในอันดับแรก ได้แก่ คาซัคสถานและอุซเบกิสถาน เนื่องจากคาซัคสถานเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และอุซเบกิสถานมีประชากรจำนวนมาก แต่การส่งออกสินค้าเกษตรหรืออาหารในภูมิภาคเอเชียกลางควรศึกษามาตรฐานฮาลาลเพิ่มเติมก่อนเข้าสู่ตลาด เนื่องด้วยภูมิภาคนี้มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก การผลิตสินค้าจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาอิสลาม ให้คงไว้ซึ่งคุณค่าอาหาร ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยจากสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลาม (ฮารอม) และไม่มีสิ่งปนเปื้อน เช่น สุกร และสุนัข

            นอกจากนี้ โลจิสติกส์ ฮาลาล (Halal Logistics) อาจเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยหลักปฏิบัติสำคัญๆ เช่น การขนส่งในตู้สินค้าเดียวกัน หากมีทั้งผลิตภัณฑ์ฮาลาลและไม่ฮาลาล จะต้องแยกหรือใช้ภาชนะบรรจุอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการสัมผัสระหว่างสินค้า ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนกับสิ่งต้องห้ามตามหลักศาสนบัญญัติ และต้องมีฉลากบ่งชี้ไปกับตัวสินค้าและเอกสารกำกับการขนส่งสินค้าฮาลาลทุกครั้ง

         ขณะเดียวกัน เนื่องจากภูมิภาคเอเชียกลางมีข้อจำกัดที่ไม่มีทางออกทะเลเปิด ทำให้การส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ ต้องใช้การขนส่งในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะทางเรือ ทางถนน และทางอากาศ ซึ่งการขนส่งทางรางระยะไกลมีข้อจำกัดด้านพิธีการศุลกากรและต้องเปลี่ยนถ่ายขบวนหลายครั้ง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษารูปแบบการขนส่งให้เหมาะสมกับชนิด ขนาด และปริมาณสินค้า

         “ตลาดเอเชียกลางเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามอง เพราะเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย นั่นแปลว่าไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก และไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเข้าไปเจาะตลาดเอเชียกลางเพิ่มเติม ดังนั้น การวิเคราะห์โอกาสทางการค้านี้จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมองเห็นศักยภาพและโอกาสของตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียกลางได้ชัดเจนขึ้น”นายพูนพงษ์กล่าว

 

Click Donate Support Web  

gpf 720x100 66

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!