WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

เศรษฐกิจหมุนเวียน

สนค.ชี้เป้าใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาสทำธุรกิจ

สนค.เผยเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการขยายตัวต่อเนื่อง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น มีหลายประเทศนำแนวคิดมาปรับใช้ในการทำธุรกิจ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างรายได้รูปแบบใหม่ ส่วนพาณิชย์มีการเดินหน้าส่งเสริมเต็มที่ ทั้งจัดงานช่วยเปิดตัวสินค้า BCG ช่วยพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนะเอกชนมุ่งเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุน แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าได้เพิ่มขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนและมีกระบวนการนำทรัพยากร วัสดุ และผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากการผลิตหรือการบริโภคทั้งหมด กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อให้เกิดของเสียและใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และการบริโภค

ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทำให้ผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง เนื่องจากการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยชะลอการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ทำให้สามารถนำทรัพยากรที่ใช้แล้วถูกนำกลับมาผลิตหรือใช้งานใหม่ ได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการผลิต เสริมประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าและธุรกิจบริการ สร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่ช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย

โดยข้อมูลจากฐานข้อมูลด้านการตลาดและอุตสาหกรรม Statista ระบุว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 3.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2569 เป็นประมาณ 7.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มตลาดและการบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เปิดรับสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Ellen MacArthur Foundation (EMF) ที่กล่าวถึงโอกาสสําคัญต่อภาคธุรกิจที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1.โอกาสในการทํากําไร 2.โอกาสด้านความมั่นคงและความยืดหยุ่นของอุปทานที่มีเพิ่มขึ้น 3.โอกาสจากความต้องการที่มีต่อโมเดลธุรกิจบริการในรูปแบบใหม่ และ 4.โอกาสในการขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าใหม่

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้ดีในอนาคต เช่น ธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ธุรกิจที่มุ่งเน้นการเช่าซื้อแทนการขายขาด ธุรกิจบริการประเภทซ่อมบำรุง และธุรกิจบริการโลจิสติกส์แบบย้อนกลับ (Reverse Logistics) และจัดการวัสดุ

มีตัวอย่างธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศ คือ Repair Café ที่มีจุดเริ่มต้นจากเนเธอร์แลนด์ ได้กลายเป็นร้านต้นแบบให้อีกหลายประเทศนำไปทำตามอีกกว่า 2,000 แห่ง โดย Repair Café ถือเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์การพบปะกัน ระหว่างคนที่ชอบซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้และผู้ที่นำเอาของใช้ที่เสียแล้วมาซ่อม และมีอาหารเครื่องดื่มไว้ให้บริการ Library of Things หรือห้องสมุดสรรพสิ่ง เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจจากสหราชอาณาจักร ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันในชุมชน โดยห้องสมุดสรรพสิ่งคือแพลตฟอร์มให้ผู้คนสามารถเชื่อมโยงกัน และนำของที่มีอยู่ทุกชนิดมาแลกเปลี่ยนกันใช้สอย

เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้บริการสามารถยืม เช่า แลกเปลี่ยน สิ่งของเหล่านั้นได้ เป็นต้น และ Too Good To Go คือ สตาร์ตอัปที่เริ่มก่อตั้งในเดนมาร์ก และขยายเครือข่ายไปกว่า 17 ประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยพัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็น’ตัวกลาง’ให้ร้านค้าหรือร้านอาหารโพสต์ขาย’อาหารหรือวัตถุดิบส่วนเกิน’ ในแต่ละวัน ในราคาที่ถูกลง

สำหรับ กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้มีการจัดทำกิจกรรมผลักดันการค้าสินค้าที่สอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจหมุนเวียนควบคู่กับความต้องการของตลาดโลก เช่น  งาน Thailand Local BCG Plus Expo 2023 ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งงานเสวนาเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจ และการเจรจาธุรกิจกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้า Bio-Circular-Green-Economy (BCG) ของไทยให้กว้างขวางขึ้น

และโครงการพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล (DEsign from Waste of Agriculture and Industry: DEWA & DEWI) ที่มีการนำเสนอผลงานต้นแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสินค้าและออกแบบสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการวางแผนธุรกิจและการตลาด เพื่อต่อยอดสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม

“ภาครัฐและภาคเอกชนควรติดตามและใช้ประโยชน์จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่หากนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะได้ประโยชน์ทั้งในด้านการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การค้า และการให้บริการ ตลอดจนมีโอกาสในการสร้างรายได้จากการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เพราะการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นผลดีต่อประเทศ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันผลักดันอย่างจริงจัง ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยและกระตุ้นให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืน”นายพูนพงษ์กล่าว

 

Click Donate Support Web  

gpf 720x100 66

CKPower 720x100

MTL 720x100kbank 720x100 66

SME 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100

TVI 720x100

gen 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!