- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 11 February 2024 13:45
- Hits: 11181
กรมพัฒน์ฯ เปลี่ยนให้บริการจดทะเบียนบริษัทมหาชน ผ่านออนไลน์ e-PCL ช่องทางเดียว
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าปรับการให้บริการจดทะเบียนบริษัทมหาชน เป็นผ่านระบบออนไลน์ e-PCL เพียงช่องทางเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ สามารถนำข้อมูลไปใช้งานได้แบบเรียลไทม์ ลดเวลารอเอกสาร และช่วยให้การบริหารจัดการธุรกิจคล่องตัว เล็งเชื่อมระบบกับ คปภ. กลต. และ TSD ต่อไป ขอความร่วมมือกรรมการผู้มีอำนาจ เร่งลงทะเบียนขอรับ Username & Password พร้อมลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เรียบร้อย ก่อนใช้งานระบบ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเตรียมเปลี่ยนแปลงการให้บริการจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration For Public Company Limited : e-PCL) เป็นผ่านระบบออนไลน์ e-PCL เพียงช่องทางเดียว เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลที่มีการจดทะเบียนไปใช้งานได้แบบเรียลไทม์ ลดข้อจำกัดด้านการรอคอยเอกสาร และเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน ส่งผลให้การบริหารจัดการธุรกิจมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยก่อนหน้านี้ กรมได้เปิดให้บริการระบบ e-PCL มาตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 และได้พัฒนาระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานรองรับผู้ใช้บริการที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยระบบ e-PCL จะให้บริการด้านการจดทะเบียนของบริษัทมหาชนจำกัดทุกรายการ การชำระค่าธรรมเนียม การขอรับหนังสือรับรอง ใบสำคัญการจดทะเบียน การพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งสร้างแบบคำขอจดทะเบียนอัตโนมัติในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการให้บริการจดทะเบียนแบบครบวงจร ภาคธุรกิจ (บริษัทมหาชนจำกัด) ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่กรมเพื่อทำธุรกรรมด้านการจดทะเบียนอีกต่อไป
“หลังจากที่กรมได้เปิดใช้ระบบ e-PCL มาครบ 6 เดือน ได้ดำเนินการประมวลผลปัญหา อุปสรรค ข้อดี ข้อด้อย และรับฟังข้อคิดเห็นด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้งานระบบจากผู้ใช้บริการ และได้ทำการปรับปรุงพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพตามข้อเสนอแนะของผู้ใช้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีความพร้อมในการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว”
นางอรมน กล่าวว่า ในอนาคต กรมจะมีการพัฒนาเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียนกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสอดรับโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตลอดจนให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการลดอุปสรรคทางการค้าด้านต่าง ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ กรมขอเชิญชวนกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทมหาชนจำกัด เร่งลงทะเบียนขอรับ Username & Password พร้อมยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย เพื่อทำธุรกรรมการจดทะเบียนได้ทันที โดยผู้ใช้งานที่มี Username & Password แล้ว สามารถเข้าระบบเพื่อจัดทำคำขอจดทะเบียน โดยกรอกข้อมูลเฉพาะส่วนที่จำเป็นต่อการจดทะเบียนและสอดคล้องกับเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด โดยระบบจะมีฟังก์ชัน (Function) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ด้วยการสร้างแบบคำขอจดทะเบียนและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนโดยอัตโนมัติ เช่น รายงานการประชุมฉบับคัดย่อสำหรับใช้เพื่อประกอบการจดทะเบียน หนังสือชี้แจงสำเร็จรูปสำหรับการจดทะเบียน เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถเลือกใช้วัตถุประสงค์และข้อบังคับสำเร็จรูปที่สอดคล้องกับกฎหมายได้ เพียงคลิกเลือกจากเทมเพลต (Template) ภายในระบบ ภายหลังจากการจัดทำคำขอเสร็จสิ้นแล้ว กรรมการผู้ขอจดทะเบียนสามารถเลือกรูปแบบการยื่นคำขอได้ 2 รูปแบบ คือ การลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Mobile App DBD e-PCL ได้ทันที หรือเลือกลงลายมือชื่อแบบ e-Form ก็ได้ (พิมพ์แบบคำขอจดทะเบียนที่ระบบสร้างอัตโนมัติเฉพาะแผ่นที่ต้องลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่กรมฯ) ซึ่งระบบจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการจัดทำคำขอจดทะเบียนที่มีความยุ่งยากซับซ้อนให้ง่ายมากขึ้น
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.พ.2567) มีบริษัทมหาชนจำกัดในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 1,443 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.3 ล้านล้านบาท ในอดีตหากกรรมการต้องการจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทมหาชนจำกัด ต้องเดินทางมา ณ หน่วยบริการจดทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถดำเนินการจดทะเบียนผ่านระบบ e-PCL ได้ทันที ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจได้เป็นอย่างมาก