- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 06 July 2024 21:51
- Hits: 7775
พาณิชย์ ลุยช่วยปั้นแบรนด์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มช่องทางขาย 'กาแฟวังน้ำเขียว'
'ภัณฑิล' ควง 'กฤษฎา' ลงพื้นที่พบปะหารือผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟวังนำเขียว หนึ่งในสินค้า GI ของ จ.นครราชสีมา ยันจะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้า สร้างแบรนด์ เตรียมดึงนักออกแบบระดับประเทศมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และยังจะน็็ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ช่วยเพิ่มรายได้
นายภัณฑิล จงจิตรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้นำคณะลงพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพื่อพบปะหารือกับผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟวังน้ำเขียว
ซึ่งเป็นกาแฟที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ณ โรงคั่วกาแฟ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า และช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกาแฟวังน้ำเขียว
“ได้แจ้งผู้ประกอบการและเกษตรกรกาแฟวังน้ำเขียวว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเข้ามาช่วยวางกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้กาแฟวังน้ำเขียว ช่วยสร้างแบรนด์ ขยายช่องทางการจัดจำหน่าย และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยจะดึงนักออกแบบระดับประเทศมาช่วย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการในชุมชนวังน้ำเขียวให้เติบโตต่อไป”นายภัณฑิลกล่าว
สำหรับ กาแฟวังน้ำเขียว เป็นกาแฟที่มีอัตลักษณ์ ปลูกเฉพาะในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ที่มีความสูง 400-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสม จึงทำให้มีรสชาติกลมกล่อม หอมละมุน มีรสชาติไม่เข้มมาก และเป็นกาแฟที่มีกลิ่นหอมของดอกไม้ ผลไม้ และช็อกโกแลต โดยปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกในพื้นที่ประมาณ 510 ไร่ กาแฟวังน้ำเขียว จึงเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่นกว่า 4.3 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนกาแฟ GI ไทยแล้ว จำนวน 8 รายการ เช่น กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง กาแฟเทพเสด็จ กาแฟเมืองกระบี่ เป็นต้น โดยสร้างมูลค่าการตลาดรวม 700 ล้านบาท และประกาศขึ้นทะเบียน GI สินค้าทั่วประเทศแล้วรวม 205 รายการ โดยมีมูลค่าการตลาดรวมกันกว่า 71,000 ล้านบาทต่อปี